จากยุทธศาสตร์ยานแม่ สู่กระบวนการครั้งสำคัญ Share Swap แลกหุ้น SCB เป็น SCBX

บทสัมภาษณ์คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน และ Chief Finance & Strategy Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ในรายการ  Morning Wealth ของ The Standard Wealth  ถึงความเป็นมาและกระบวนการทำเทนเดอร์ แลกหุ้น  SCB เป็น  SCBX  รวมถึงการนำหุ้น SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้

“ในแง่ของกระบวนการทำ Share Swap ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดกระบวนการหนึ่งในการปรับโครงสร้างในครั้งนี้  เมื่อ SCB  ได้ประกาศกลยุทธ์ยานแม่ของ SCBX ไปเมื่อประมาณ 4–5 เดือนก่อน โดยอธิบายและทำความทำความเข้าใจว่าจะมีการปรับโครงสร้างจากธุรกิจปัจจุบันที่มีธนาคารเป็นธุรกิจหลัก ไปสู่โครงสร้างใหม่ที่มี SCBX เป็นธุรกิจหลัก และเป็นยานแม่ โดยหลังจากนี้ เมื่อกระบวนการแลกหุ้นแล้วเสร็จ หุ้นของ SCBX จะกลายมาเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของ SCB จึงเป็นที่มาที่ไปที่เราต้องมีการแปลงสภาพหุ้น”


โดยในส่วนของโครงสร้างทางธุรกิจใหม่นั้น คุณมาณพกล่าวต่อว่า  “เราเชื่อว่าจะเอื้อให้ธุรกิจของ SCBX สามารถเติบโต และสร้างธุรกิจใหม่ที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงเป็นแบบที่เราไม่เคยมีมาก่อน และสุดท้ายคือให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนจากธุรกิจในปัจจุบันเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง ผลตอบแทนสูง จะถูกสร้างขึ้นภายนอกโครงสร้างของธนาคาร และอยู่ภายใต้ SCBX แต่ว่าธนาคารก็ยังเป็นธุรกิจหลักของ SCBX ต่อไป แต่จะเติบโตไปตามสภาวะของเศรษฐกิจ”

swap2

3 สิ่งควรรู้สำหรับผู้ถือหุ้น SCB ก่อนทำ Share Swap

                1. การแปลงสภาพหุ้น ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แปลงสภาพเป็นหุ้น SCBX ในอัตราส่วน 1:1 เช่น หุ้น SCB 1 หุ้น แปลงเป็นหุ้น SCBX 1 หุ้น ไม่มีการชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดแต่อย่างใด ทั้งนี้ การแปลงสภาพหุ้นจะถูกยกเลิก หากผู้ถือหุ้นแสดงเจตจำนงรวมกันแล้วไม่ถึง 90% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด เราเชื่อว่า 90% เป็นตัวเลขที่เหมาะสม และเป็นการแสดงเจตจำนงของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่แท้จริง และหลังจากนี้แล้ว Ticker (ตัวย่อของหุ้น) ยังเป็น SCB เหมือนเดิม แต่บริษัทของหุ้นจะเป็น SCBX ไม่ใช่ธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป

                2. ระยะเวลา ตั้งแต่วันที่  2 มีนาคม 2565  หลังจากเปิดซื้อขายหุ้นได้ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนสามารถยื่นคำตอบรับเพื่อแปลงสภาพหุ้นได้ จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 (30 วันทำการ) หลังจากนั้นจะมีกระบวนการเพื่อแปลงสภาพหุ้นระยะหนึ่ง หุ้น SCBX จะเริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 เมษายน 2565 ดังนั้น ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนควรดำเนินการแต่เนิ่น ๆ  เพราะเชื่อว่าผู้ที่ถือหุ้นของ SCB อยู่ ได้มีการศึกษากลยุทธ์มาอย่างดี และเชื่อว่าภายใต้            กลยุทธ์ใหม่ และโครงสร้างที่มี SCBX เป็นยานแม่  จะสามารถปลดล็อกมูลค่าของกิจการได้มาก ถ้าประสบความสำเร็จ ในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า จะสร้างมูลค่าของหลักทรัพย์ (Market Cap) สูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแปลว่ามูลค่าจะสูงกว่าในปัจจุบันถึง 2 เท่า

                3. กระบวนการ ภายใน 1-2 วันนี้ นักลงทุนจะได้รับหนังสือเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ แบบตอบรับคำเสนอซื้อหุ้น SCB และใบจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCBX ทางไปรษณีย์

ผู้ถือหุ้นที่ไม่มีใบหุ้น (Scripless)

นักลงทุนสามารถกรอกแบบตอบรับ และยื่นได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านมีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Tender Agent) ที่ได้รับการแต่งตั้ง 4 ราย โดย คือ

1) บล. ไทยพาณิชย์ (SCBS)

2) บล. บัวหลวง (BLS)

3) บล. เกียรตินาคิน ภัทร (KKPS)

4) บล. เอเชีย พลัส (ASP)


ผู้ถือหุ้นที่มีใบหุ้น (Scrip)

สามารถนำแบบตอบรับ พร้อมใบหุ้นที่มีติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ และดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 เมษายน 2565


ผู้ซื้อหุ้น SCB ในช่วงระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2565 – 18 เมษายน 2565

ท่านจะต้องดำเนินการแปลงสภาพหุ้นเช่นกัน เพียงแต่จะไม่ได้รับหนังสือแปลงสภาพหุ้น แต่สามารถดาวน์โหลดเอกสารผ่านเว็บไซต์ของ SCB หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ทั้ง 4 แห่งที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงช่องทาง SCB Call Center โทร 02-777-7777

*** ทั้งนี้  หากไม่ได้ดำเนินการแปลงสภาพหุ้น จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้ถือหุ้น SCBX

แปลงสภาพหุ้น SCB เป็น SCBX แล้วได้ประโยชน์อะไร  ถ้าไม่แปลงสภาพจะมีผลอย่างไร

กรณีที่มีผู้ถือหุ้น SCB ไม่แปลงสภาพหุ้นจะเป็นอย่างไร  คุณมาณพ กล่าวว่า กรณีที่ไม่ดำเนินการแปลงสภาพหุ้นภายในวันที่ 18 เมษายน 2565  ก็จะยังเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป แต่จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเติบโตในอนาคตของกลุ่ม SCBX ซึ่งมีกลยุทธ์ที่จะปลดล็อกมูลค่ากิจการให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าในระยะเวลายาว และประเด็นสำคัญคือ ใบหุ้นของท่านจะไม่มีสภาพคล่อง (สภาพคล่องเป็นศูนย์) และตลาดรองรับให้สามารถเปลี่ยนมือได้ ถึงแม้ธุรกิจธนาคารจะสามารถเติบโตได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ มีมูลค่าอยู่ แต่หุ้นใดๆ ก็ตามจะมีมูลค่ามาจากปัจจัยพื้นฐาน และสภาพคล่อง ถ้าสภาพคล่องหายไป มูลค่าของหลักทรัพย์ที่เราถืออยู่ก็จะหายไปด้วย นอกจากนี้ หุ้นที่ท่านมีอยู่จะไม่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หากมีการเปลี่ยนมือ และมีกำไร จะต้องมีการเสียภาษีจากกำไรในส่วนนั้น สุดท้ายแล้ว หากท่านยังต้องการถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็สามารถถือได้โดยการแปลงสภาพหุ้นเป็นของ SCBX ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นส่วนหนึ่ง และมีโอกาสเติบโตร่วมไปกับกลุ่มธุรกิจใหม่


อนาคตยานแม่ SCBX สร้างการเติบโตระยะยาว สู่ The Most Admired
Fintech group in ASEAN

ภายหลังจากการปรับโครงสร้าง เป้าหมายของ SCBX มีอะไรบ้าง คุณมาณพ กล่าวว่า “ในวันที่ประกาศกลยุทธ์ยานแม่ SCBX จะเห็นว่ามีธุรกิจหรือบริษัทลูกใหม่ๆ ที่บางส่วนจะเป็นธุรกิจสร้างขึ้นมาใหม่ บางส่วนเป็นธุรกิจที่เกิดการจากการโอนออกจากธุรกิจธนาคาร รวมแล้ว 14 ธุรกิจ  ทั้งนี้ การสร้างธุรกิจใหม่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจธนาคารมีมานานแล้ว แต่เชื่อว่าโครงสร้างใหม่จะทำให้เราเติบโตขึ้นไปได้อีกเท่าตัว เมื่อมองในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ส่วนที่ได้ประกาศ และเริ่มไปแล้วก็จะมีตั้งเป้าหมาย วางแผนทางธุรกิจให้ชัดเจนเพื่อการเติบโต นอกจากนี้ก็จะมีการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึงนอกเหนือจาก 14 ธุรกิจ อาจจะเป็นการตั้งธุรกิจใหม่เอง การร่วมลงทุน หรือการควบรวมกิจการ ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศในภูมิภาคนี้ ดังวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ To be the Most Admired Fintech group in ASEAN และ Market Cap ที่ตั้งไว้ให้สูงกว่า  1 ล้านล้านบาทในระยะยาว”

คลายข้อสงสัย ทำไมถึงไม่แปลงสภาพหุ้นแบบอัตโนมัติ

เกิดคำถามในหมู่ผู้ถือว่าหุ้น SCB ว่าทำไม่แปลงสภาพหุ้นโดยอัตโนมัติ ผู้ถือหุ้นจะได้ไม่เสียเวลาแปลงสภาพ  คุณมาณพกล่าวว่า “เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และถือว่าที่เป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นในการแสดงเจตจำนงของแต่ละท่าน โดยตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีผู้แสดงเจตจำนงเกิน 90% ถึงจะดำเนินการเรื่องนี้ได้  ถ้าหากเราทำการแปลงสภาพหุ้นโดยอัตโนมัติ จะเท่ากับเราไม่เคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น”


ช่วงแปลงสภาพหุ้นวันที่  2 มีนาคม 2565 – 18 เมษายน 2565 จะยังสามารถซื้อขายหุ้น SCB ได้ตามปกติหรือไม่

คุณมาณพตอบข้อสงสัยว่า “หากยื่นเอกสารแสดงความจำนงในการแปลงสภาพหุ้นมาแล้ว หุ้นดังกล่าวจะถูกดึงออกจากตลาด และในระหว่างนี้จนถึงวันที่หุ้นใหม่เข้าตลาด (28 เมษายน 2565) สภาพคล่องจะลดน้อยลง แต่หลังจากนั้นจะกลับมามีสภาพคล่องเหมือนเดิม หรือมีมากขึ้นเช่นกัน”


ทั้งนี้ กระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการเติบโตของธุรกิจภายใต้กลุ่มไทยพาณิชย์ในหลายด้าน รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจของกลุ่มฯ ให้สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตได้อย่างเต็มที่ มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์โดยรวม และจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX รวมถึงธุรกิจใหม่ในอนาคตในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต ศึกษาการแปลงสภาพหุ้นเพิ่มเติม ได้ที่ www.scb.co.th/th/scbx.html


ที่มา : บทสัมภาษณ์คุณมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน และ Chief Finance & Strategy Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ในรายการ  Morning Wealth  วันที่ 2 มีนาคม 2565