โลกอนาคตผ่านวิสัยทัศน์กัปตันยานแม่ SCBX เบื้องหลังกลยุทธ์สู่พันธกิจผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การปรับทัพครั้งล่าสุดของ SCB ในรอบนี้ นับเป็นข่าวใหญ่ทั้งในและนอกวงการแบงก์กิ้ง เมื่อยานแม่ SCBX สร้างยานลูกทำธุรกิจในมิติใหม่ พร้อมนำเทคโนโลยีและ Digital Asset เป็นอาวุธ ออกเดินทางสู่น่านน้ำในระดับ Regional คุณอาทิตย์ นันทวิทยาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดวิสัยทัศน์ในฐานะกัปตันยานแม่ ผู้ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหมากธุรกิจ สร้าง Infrastructure ให้คนตัวเล็กได้มีพื้นที่ในยุคดิจิทัล พร้อมเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง วิ่งได้เร็ว ก้าวสู่ยุคใหม่กับการแข่งขันในตลาดโลก ในรายการ The Secret Sauce ดังนี้ 

การเดินทางก่อนจะมาเป็น SCBX

ภารกิจสร้างยานแม่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2019 เมื่อคุณอาทิตย์ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการในหลักการจึงได้ดำเนินเรื่องต่าง ๆ ทั้งพูดคุยกับ Regulator ทำดีล หาพาร์ทเนอร์และได้มีการเตรียมตัวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ Mission ปล่อยยานแม่ SCBX ซึ่งก่อนที่จะถึงวันนั้น อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจสร้างยานแม่และผลิตยานลูกนับสิบลำเพื่อปฎิบัติภารกิจใหม่ที่เป็นมากกว่ากว่าธุรกิจธนาคาร คุณอาทิตย์เล่าว่า  “ตอนแรกวันที่ผมมารับตำแหน่งปี 2018 ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีอะไรเลยเป็น User อย่างเดียว พอเข้ามาเป็น CEO ถามตัวเองว่าข้อต่อที่สำคัญคืออะไร เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ ต้องทำตัวเล็ก ๆ ออกเดินทางไปเจอกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพื่อไปฟังความเห็นของเค้า ยิ่งฟังก็ยิ่งกลัว เราจะรอดไหม”  คุณอาทิตย์พบว่า ถึงเวลาที่ต้องลงทุนพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีอีกมาก  

scbx-03

เริ่มจากความไม่รู้ สู่การตื่นรู้และการทดลองลงมือทำ

เมื่อต้องการเปลี่ยนให้แบงก์เป็นเทคโนโลยี จึงเริ่มเปลี่ยนด้วยการตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น ลองที่จะเปลี่ยน Mindset คน เปลี่ยนกระบวนการการจัดซื้อ เปลี่ยนซอฟต์แวร์ในองค์กร เปลี่ยนการลงทุน ช่วงแรก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงคุณอาทิตย์ยอมรับว่ามีทั้งล้มเหลว มีทั้ง Dot หลาย ๆ Dot ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทุกวันนี้ก็กลายเป็น Dot ที่สำคัญ อย่างเช่น SCB 10X ที่เกิดมาจากรากเดิมของบริษัท Digital Venture ที่คุณอาทิตย์เสนอให้คณะกรรมการเมื่อ 5 -6 ปีที่แล้วว่า “เราต้องเจียด เงินประมาณ 1 % ของผลกำไร เพื่อเป็น R&D แล้วใส่ไปในบริษัทนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Digital Ventures ที่กลายมาเป็น SCB10X ในปัจจุบัน”


สร้างความร่วมมือเพื่อไปสู่อนาคตด้วยกัน

คุณอาทิตย์กล่าวว่า “Vision ของเราเกิดจากจุดประสงค์ที่อยากจะสร้างให้องค์กรเป็นองค์กรที่ยั่งยืนไปใน Generation ข้างหน้า ไปในอนาคต สูตรสำเร็จหรือ Key Success ใช้แบบเดิมไม่ได้ พอหลักการทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร ทำให้พร้อมที่จะรับฟัง การพิจารณาของคณะกรรมการ Regulator ต่อข้อเสนอของเราก็ได้รับความสนใจ และสุดท้ายบอกว่าสิ่งที่เสนอมาดู Make Sense เราสร้าง Ownership ด้วยกันมานานเกือบ 2 ปี ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน และเป็นเจ้าของ Proposal นี้ด้วยกัน แล้วทุกคนก็ตื่นเต้น ที่อยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น”


อย่าทำให้ความยากอยู่ในสมการ

คุณอาทิตย์เล่าถึงเทคนิคในการสร้างสมการแห่งการเปลี่ยนแปลง “ผมอยากจะแชร์กับทุกคนว่าถ้านั่งคิดว่ามันจะยาก มันจะยาก ถ้าคิดแล้วลงไปทำ ต่อด้วยการฟัง สร้าง Ownership ให้เกิดขึ้นร่วมกัน พร้อมที่จะประนีประนอม  ถอยบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ทำให้สิ่งที่เราทำเดินไปข้างหน้า มีสเต็ปที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ความยากจะไม่อยู่ในสมการแล้ว จะคิดว่าสเต็ปต่อ ๆ ไปคืออะไร การที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าความคิดเห็นของเขาเป็นองค์ประกอบของเรื่องทั้งหมด เป็นเรื่องสำคัญมาก”


กลยุทธ์เพื่อการเติบโตบนกลุ่มธุรกิจ GROWTH แห่งโลกอนาคต

การที่  SCB จะก้าวไปในสู่อุตสาหกรรมที่ธนาคารไม่ถนัด แม้ว่าจะมี Blue ocean เป็น Growth แต่มีผู้เล่นอยู่แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ คนตัวเล็ก ๆ เก่ง ๆ เต็มไปหมด แพลตฟอร์มต่างประเทศก็มี คุณอาทิตย์มีกลยุทธ์อะไรที่จะกระโดดเข้าไปในตลาดนั้นให้ได้? คุณอาทิตย์บอกว่า “โลกนี้มีคนเก่งๆ ในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็เหมือนที่เห็นในอเมริกาในโซนที่มีความก้าวหน้าในเรื่องพวกนี้  ผมมองไปที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่แข่งกับ Startup ถ้าเกิดเขาได้แต่คนที่ไม่เก่ง จะแข่งกับ Startup ได้อย่างไร แค่ลำพัง Founder อย่างเดียวก็เก่งได้ถึงจุดหนึ่ง พอองค์กรใหญ่มาก ๆ เขาก็ต้องมีคนเก่ง  ผมเรียกคนเก่งเหล่านี้ว่า เถ้าแก่น้อย เราต้องสร้างเถ้าแก่น้อยยุคไฮเทค  เพราะว่าเรามีแค่แบงก์แล้วเราต้องไม่บอกว่าพูดแบบนี้นะคนแบงก์จะเสียใจคือเราต้องเข้าใจว่า ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้นนะ คือพูดแล้วผมก็ลงตัวผมเองด้วย ก็เรามันเป็นแบบนี้เราถูกฝึกให้เรียนเป็นแบบนี้  เราทำงานชำนาญเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น จะเสกให้เป็น Technologist ก็ไม่ได้  เราต้องรู้ว่าข้อจำกัดขององค์กรเป็นอย่างไร ไปดูสูตรสำเร็จของโลกใหม่ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง  คือทำยังไงให้องค์กรใหม่ของเราสามารถดึงดูดเถ้าแก่น้อยได้”

สร้างเถ้าแก่น้อยยุคใหม่ที่พกเทคโนโลยีเป็นอาวุธ

คุณอาทิตย์เล่าต่อไปว่า “เพราะฉะนั้นเถ้าแก่น้อยนัยยะก็คือว่า เขาจะมีส่วนร่วมต่อความสำเร็จ ถ้าเราบอกว่าเราจะหาลูกจ้างของเทคโนโลยี เราจะได้อีกแบบ เอาลูกจ้างเทคโนโลยีไปแข่งกับ Startup ไม่มีทาง เราต้องทำให้เราสามารถสร้างเถ้าแก่น้อยของเทคโนโลยีให้ได้ หลังจากนั้นจะต้องสร้างกระบวนการในการตัดสินใจ ในการ Take Ownership ให้เป็นเถ้าแก่จริงๆ  CEO ของบริษัทไม่ได้ขึ้นกับผม เขาต้องรายงานต่อคณะกรรมการ มีบอร์ดของเขา ทุกคนมีเป้าหมายจะพาบริษัทไป IPO สร้างอนาคตขององค์กร ยานแม่มีหน้าที่ให้ Resource ส่งตัวแทนไปเป็นกรรมการ ผมมีหน้าที่คอยสนับสนุน แต่ที่เหลืองานหลักของผมคือไปต่อ สร้าง Venture สร้างยานลูกใหม่ไปเรื่อย ๆ หา Partner ใหม่ ผมจึงไม่ใช่คำว่า Holdings คือ Book Keeper ผมไม่ได้ Holding อยู่เฉยๆ “

 

สร้าง Key Success Factor สู่ Winner ในบริบทที่ไม่คุ้นเคย

“ผมคิดว่าในแต่ละเวนเจอร์ในแต่ละบริษัทที่เกิดขึ้น เถ้าแก่น้อยจะเป็นแรงขับเคลื่อน แล้วสร้างองค์ประกอบหรือความสามารถทางเทคโนโลยีและ Data อยู่ที่บริษัท Tech X และ Data X ทั้ง 2 บริษัทจะทำงานร่วมกับเถ้าแก่น้อยทุกคน อันนี้คือสูตรสำเร็จที่ผมวางไว้  ที่เหลือเป็นบทบาทของยานแม่  ความท้าทายที่สุดของเรา คือ การไปใน Regional ไปใน International ที่ไม่ใช่ Commercial Bank แต่ไปในบริบทต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์ม คุณอาทิตย์ยังได้กล่าวถึงเรื่อง Network effect  พูดถึง Winner Takes All ว่า “เราจะสร้างแพลตฟอร์มที่เป็น Winner ในเมืองไทยอย่างเดียวไม่น่าจะพอ สเกลของ Customer ที่นำไปสู่เรื่องของ Big data เรื่อง Insight ที่จะสร้างสิ่งที่แตกต่างและมีศักยภาพการแข่งขัน ไม่เหลือทางเลือกให้เราเป็นผู้เล่น Local เพียงอย่างเดียว”  

 

คนตัวใหญ่ที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเติบโตของคนตัวเล็ก

เจตนารมณ์ในการจัดตั้ง SCBX อย่างแรงกล้านั่น คือ “การที่เราเป็น Infrastructure จะทำให้ Startup เล็ก ๆ มี Infrastructure ที่ต้องใช้ Know How ใช้การลงทุน ทำให้คนตัวเล็กเป็น Player ที่อยู่ในโลก ของ Digital Assets ได้ด้วยความมั่นคงและประสิทธิภาพ เป็นความตั้งใจที่เราอยากเป็นคนเตรียมพร้อมให้โลกหรือใน Region ของเรามีความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของ Digital asset ได้”  


เมื่อถามคุณอาทิตย์ว่ามีบางคนอาจไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเมื่อเห็นข่าว 2 บริษัทยักษ์ใหญ่รวมตัวกันแล้วมีบริษัทอื่น ๆ มาช่วย ทำให้หลายคนกลัวการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะรายใหญ่ก็จะไปลงทุนแล้วทุก VC ลงทุนก็ต้องการผลตอบแทนทั้งในรูปของตัวเงินหรือ Resource ต่าง ๆ เพื่อไปช่วยบริษัทให้ดีมากขึ้น ในด้านเทคโนโลยี คนตัวเล็กหรือ Startup ก็เกิดความกังวลว่าพื้นที่ที่มีอยู่ที่ยากอยู่แล้ว เพราะว่าผู้เล่นจากต่างประเทศก็เข้ามายังเหลือพื้นที่ให้คนตัวเล็กอยู่ไหม? และจะได้อะไรจากการรวมตัวกันในครั้งนี้


คุณอาทิตย์ตอบว่า “ผมอยากแชร์อย่างนี้ ในโลกอย่างอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Microsoft, Google ร่วมงานกับ Startup เป็นระบบนิเวศผ่านการลงทุน ผมก็เชื่ออย่างนั้น เพราะรูปแบบที่ SCBX ทำ หนึ่งในแนวทางหลักคือ เน้นเรื่องการ JV (Joint Venture กิจการร่วมค้า) ซึ่งการ JV เปิดโอกาสให้เราไปทำกับคนไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่และมีความหลากหลาย ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นคนถือหุ้น 80% คุณถือหุ้นเท่านี้ เราถือหุ้นครึ่งๆ เลย เราคิดว่าเราต้องแบ่งปัน แนวทางที่ผมทำอย่าง Robinhood จะเห็นได้ว่าเราพาร์ทเนอร์กับร้านอาหาร ในอนาคตเราพาร์ทเนอร์กับโรงแรม เรื่อง OTA (Online Travel Agency) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นโรงแรมใหญ่ อย่าง Robinhood เริ่มต้นจากร้านเล็กด้วยซ้ำ นั่นคือ Philosophy ของเรา ผมคิดว่าเราไม่ได้เริ่มว่า เราจะกินเรียบ เราจะเอาให้หมด เราจะวาง Position ของเราให้เป็นคนที่สร้างประโยชน์ คนที่จะสร้างระบบนิเวศให้ทุกคนสามารถแข่งขัน ต้องมองว่าอย่าแข่งกันเอง คือ เราต้องทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะวิ่งเร็ว การมีคนตัวใหญ่ไม่ใช่เรื่องไม่ดี การที่ประเทศมีคนตัวเล็กอย่างเดียวและคิดจะไปแข่งกับคนในโลกนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนตัวใหญ่ที่เชื่อมแล้วก็สร้าง Infrastructure เพื่อให้คนตัวเล็กมีระบบนิเวศแล้วก็แข่งขันได้ เดินไปกับสังคมโลกได้ ผมคิดว่านั่นคือเจตนารมณ์ของ SCBX” 

 

เปลี่ยนจากตัวกลางมาเป็น Platform

เมื่อกระแสของโลกเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt ตัวกลางจนในที่สุดตัวกลางจะถูกกลืนกินหายไป ในเมื่อ SCB ตั้งธงเปลี่ยนมาเป็นแพลตฟอร์ม คำถามคือ เปลี่ยนเป็น Platform แบบไหน? คุณอาทิตย์กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือเรามี Foundation ใหม่ทำให้เราเคลื่อนไหวเร็ว มีประสิทธิภาพ มี Innovation มี Customer เป็นตัวตั้ง  มีเทคโนโลยีที่ Support ผมไม่รู้หรอกว่า จะต้องทำอะไรบ้าง แต่รู้ว่าเรามี Foundation เมื่อไหร่เรามีซอฟแวร์ มีแนวความคิดของคนที่เป็นเถ้าแก่น้อย มียานแม่ขับเคลื่อน มีพลังของ Capital จาก Cash Cow ซึ่งไม่เคยมี Startup ไหนที่เริ่มต้นแล้วมี Cash Cow เราต้องเอาจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง อย่าไปมองสิ่งที่คนอื่นเค้ามีแล้วคิดว่าเราไม่มี แต่ให้มองว่าเราก็มี ในสิ่งที่คนอื่นไม่มีเหมือนกัน แล้วเราก็จะทำสิ่งที่เราไม่มี ให้มีเหมือนคนอื่นเช่นกัน เมื่อรวมกันแล้วผมคิดว่านั่นคือวิธีการ”

คนเดินดินธรรมดา ธุรกิจ สังคม ได้อะไรจากแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้

คุณอาทิตย์มองว่า “เราจะทำให้ Cost ของการเข้าถึงเรื่องของการเงินถูกลง มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการ Adopt เทคโนโลยี นั่น คือ Mission ในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่าองค์กรเล็ก กลางหรือใหญ่ กำลังจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะ Real Sector ต้องปรับตัวต่อรูปแบบของการทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ และถึงขั้นที่ต้องเปลี่ยน Business Process เปลี่ยน Business Model เพื่อให้ตอบสนองต่อการแข่งขันได้ บทบาททั้งในมิติของธนาคาร ซึ่งเราจะไปช่วยธนาคารในทางอ้อมเพราะว่าเราปล่อยให้ธนาคารเป็น Cash Cow อยู่ แต่สิ่งที่เรากำลังทำอีกข้างนึง ไม่ใช่แค่บอกว่าเป็นเรื่องของ Personal Loan หรือ Title Loan เพราะหลายๆ บริษัทที่เกิดขึ้นมา เราลงทุนไปหลายปีแล้ว สร้างบล็อกเชนเพื่อทำธุรกิจให้กับภาคธุรกิจไม่ใช่รายย่อยอย่างเดียว” ซึ่งคุณอาทิตย์ได้ยกตัวอย่างการไปจับมือเป็น Partner กับโรงพยาบาลสมิตติเวชในการทำ Skin X ให้บริการพบหมอได้ทางออนไลน์  “เรามีการเรียนรู้หลายอย่าง มาถึงจุดที่พร้อมจะชวน Partner ขยายต่อไปอีกสิ่งเหล่านี้คือเจตนารมณ์ที่ผมเชื่อว่าจะทำให้ภาคธุรกิจและคนไทยได้รับประโยชน์ เราคงเทคแคร์ทั้งหมดไม่ได้ แต่ผมบอกได้ว่าผมคิดว่านั่นคือ Mission ของเรา ที่เราต้องการจะทำเพื่อสร้างผลประโยชน์และตอบแทนให้กับสังคม”


พนักงาน SCB BANK เมื่อปราศจากนามสกุล X

คุณอาทิตย์กล่าวว่า “เจตนารมณ์ของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของ SCB BANK แล้วมาเป็น SCBX นี่คือ เราจะทำทุกวิถีทางที่จะรักษาองค์กรที่มีประวัติอันยาวนานตลอด115 ปี ให้เป็นองค์กรที่ยั่งยืนเดินไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหรือปัจจัยเสี่ยงข้างหน้าที่มีแต่จะมากขึ้นได้อย่างแข็งแรง แล้วตอบสนองสังคม ลูกค้า ในมิติต่าง ๆ เชื่อว่านั่น คือเจตนารมณ์หลักของเรา เราไม่ได้มีเจตนารมณ์ว่าต้องได้ 1 ล้านล้าน  ซึ่งมันเป็น Practical ที่พาเราให้มีพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปถึงตรงนั้น แล้วความพึงพอใจของคณะกรรมการ ของผมเอง ของฝ่ายจัดการ ขององค์กร คือ เราอยากเห็นวันนั้น SCBX ทั้งกรุ๊ปเป็นองค์กรที่มี Foundation ใหม่ เป็นองค์กรที่ตอบสนองสิ่งที่สังคม บริษัท ลูกค้า ที่เรายังสามารถสร้างประโยชน์ แล้วก็สามารถเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนให้สังคมเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เป็นเรื่องที่เป็นเทคโนโลยีหรือ Digital Asset  เรื่องของการเงิน รวมถึงการที่จะมีส่วนผลักดันให้สังคมไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นั่นคือ เจตนารมร์ของเรา”

 

สำหรับพนักงาน SCB BANK คุณอาทิตย์บอกว่า “คนที่อยู่ในพวก X จะอยู่ใน Environment ที่เข้มข้น  คนที่อยู่ในแบงก์จะยังขับเคลื่อนเหมือนเดิม แต่องค์กรจะเล็กลง ไม่ใช่ให้คนออก แต่มี Early Retire และเพราะในทุกปีจะมีเด็กรุ่นใหม่ได้มาลองทำงานแล้วก็ออกไป เราจะไม่รับคนเพิ่มก็เท่ากับองค์กรของเราขนาดเล็กลงแล้ว แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีการ Training คน Relocate คน  Redeploy คน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องรับคนใหม่” คุณอาทิตย์เลือกใช้วิธีแบบนั้น  “อาจจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เรายังมีสิ่งที่เห็นอยู่ว่าทำได้มากกว่านี้ แต่ก็ไม่ทำเพราะว่าเราต้อง Balance แล้วผมก็เชื่อว่าเป็นผลดีที่สุดต่อองค์กรและเป็นผลดีที่สุดต่อสังคม”  


นิยามของผู้นำและความอ่อนน้อมถ่อมตน

หลักการคิดสู่ความสำเร็จที่คุณอาทิตย์ใช้คืออะไร? “สิ่งที่ผมสอนทุกทีมเสมอคือ mindset ที่ humble สำคัญมาก ถ้าคนเริ่มคิดว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ก็จะเริ่มมองทุกคนขวางทาง กลายเป็นภาระ จริง ๆ แล้วเขาฉลาดทั้งนั้น ในบางมิติเขาฉลาดกว่าคุณเยอะด้วยซ้ำ เขาอาจจะแหลมคมกว่าคุณ ถ้าคุณ humble พอ คุณฟังพอ คุณเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาแนะนำหรือชี้แนะ คุณก็จะดีขึ้น และเขาก็เป็นพาร์ทเนอร์คุณด้วย คุณมีแต่ win ไม่มีอะไรเสียเลย แต่ต้องทำจริง ๆ ต้องคิดอย่างนั้นจริง ๆ”


จากบทบาทจากผู้บริหารแบงก์สู่กัปตันของยานแม่ คุณอาทิตย์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร?  “ผมฟังมากขึ้น เรียนรู้ที่จะให้คนที่เขาจะไปเป็นเถ้าแก่น้อย ฝึกให้ตัวเองชัดเจนกับบทบาท เรียนรู้ที่จะผิดพลาด เรียนรู้ที่จะตัดสินใจเอง เป็น Paradigm ใหม่ ที่เมื่อก่อนจะชี้เป้ามาที่เรา การที่เราจะทำให้เขาเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาอยากได้ ถึงเวลาจริง ๆ แล้วเราต้องดูห่างๆ แต่ว่าคือไม่ดูไม่ได้ ต้องดู ๆ อยู่ แต่ว่าบอกตัวเองว่าบทบาทเราตรงไหน เราให้ความคิดเห็นของคนอื่นอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ทำให้คนในองค์กรแข็งแรง”


การเดินทางครั้งสำคัญของ SCBX ในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ปรับโครงสร้างขยายตลาดสู่ระดับ Reginal เท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมิติใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนไปในคลื่นเทคโนโลยี และเป็นเสาหลักในการพยุงภาคธุรกิจ สังคม ให้มีเกราะป้องกันการแข่งขันที่ไร้พรหมแดน เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจของไทย ให้คนไทย มีพื้นที่ทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง เป็นธรรมและยั่งยืนในเวทีโลก

 

ที่มา : บทสัมภาษณ์คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ใน รายการ The Secret Sauce เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564