ทริก ‘ปรับพอร์ต’ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ท่ามกลางหุ้นตก โดยไม่ตระหนก

ช่วงที่ดัชนีหุ้นร่วงลงมาแรงคงทำให้หลายคนใจคอไม่ค่อยดี รวมถึงสมาชิกที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) โดยเลือกนโยบายการลงทุนในหุ้นที่มีสัดส่วนสูง อาจรู้สึกเป็นกังวลว่ามูลค่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนจะลดลงหรืออาจขาดทุนไปเท่าไร โดยเฉพาะคนที่ใกล้จะเกษียณอายุในช่วงนี้อาจจะนอนไม่ค่อยหลับกันเลยทีเดียว แต่อย่าได้กังวลใจเพราะมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดไว้


การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาวจนถึงเกษียณอายุ สมาชิกก็ย่อมต้องเจอราคาหลักทรัพย์ที่ขึ้นลงตามสภาวะตลาด โดยราคาหลักทรัพย์ที่ปรับลดลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น จะส่งผลต่อมูลค่าเงินกองทุนและอัตราผลตอบแทนซึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชี แต่หากวันรุ่งขึ้นราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุนปรับเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินกองทุนและอัตราผลตอบแทนที่เราเห็นก็จะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าเงินกองทุนจะเปลี่ยนแปลงทุกวัน ตราบใดที่สมาชิกยังไม่สิ้นสมาชิกภาพ และยังไม่รับเงินออกจากกองทุน การขาดทุนหรือกำไรจะเป็นแค่เพียงทางบัญชีเท่านั้น ไม่ใช่เงินที่ได้รับจริง


และหากบังเอิญว่าในช่วงที่หุ้นตกนั้นเป็นช่วงที่เปิดให้สมาชิกเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเปลี่ยนแผนการลงทุนไปลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำด้วยเหตุผลจากราคาหุ้นลดลง ควรติดตามข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง และคิดวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เสียก่อน เพราะการเปลี่ยนไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นนั้น บริษัทจัดการที่เป็นผู้ดูแลกองทุนจะต้องทำการขายหุ้นในส่วนที่สมาชิกมีอยู่ซึ่งต้องใช้ราคาปัจจุบัน จึงเท่ากับว่าขายของได้ราคาถูก ทำให้ได้รับจำนวนเงินที่น้อยลง และถ้าราคาหุ้นขึ้นก็เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีได้ หากอยากกลับมาลงทุนใหม่ก็จะต้องซื้อราคาแพงกว่าที่ขาย ดังนั้นจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการลงทุนใหม่

how-to-manage-busy-day-super-salaryman-01

ก่อนเริ่มลงทุนเราควรดูความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเราให้ได้เสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เสียประโยชน์ หรือหวั่นไหวต่อยอดเงินลงทุนที่อาจลดลงในแต่ละช่วงตามสภาวะตลาด เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว การตัดสินใจลงทุนก็ควรมองยาวๆ อย่าหวั่นไหวไปกับภาวะตลาดที่ผันผวนในบางช่วงเวลา เหมือนเรือจะไปถึงจุดหมายก็อาจต้องฝ่าคลื่นลมบ้าง ไม่ควรถอดใจสละเรือกลางทาง การลงทุนก็เช่นกัน ควรตระหนักและอย่าตระหนกเกินไป


สำหรับสภาวะเช่นนี้ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางคนที่อาจกำลังประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด ซึ่งส่งผลให้ต้องออกจากงาน และต้องลาออกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือนายจ้างยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อาจจะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปบางส่วนตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่กำหนดไว้ และสำหรับคนที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ และยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิม (กรณีไม่ได้เลิกกอง) เพื่อรอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่ หรือสามารถย้ายเงินจาก PVD ไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินโอนจาก PVD โดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า ‘RMF for PVD’ ส่วนสมาชิกที่กำลังจะเกษียณอายุก็สามารถแจ้งบริษัทจัดการขอทยอยรับเงินออกจากกองทุนเป็นงวดได้เช่นกัน


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกการลงทุนแบบไหนต้องอย่าลืมว่าทุกๆ การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ อย่าจัดพอร์ตหรือลงทุนตามอารมณ์ของตนเองหรือตามกระแสคนรอบข้าง ต้องมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้น นักลงทุนควรมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระดับความเสี่ยงที่ตนสามารถรับได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการลงทุน และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ เงินออมเพื่อการเกษียณ ก็ควรจะต้องให้เพียงพอยามเราเกษียณด้วย เพราะยามเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเงินก้อนนี้จะช่วยเราได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว


บทความโดย ณรงค์ชัย ปลอดมีภัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth