6 แนวทางปลดล็อกความต่าง (วัย) ในองค์กร

“เด็กสมัยนี้” หรือ “ผู้ใหญ่รุ่นฉัน” คำขีดเส้นแบ่งวัยที่เกิดขึ้นในที่ทำงานปัจจุบัน อันเป็นแหล่งรวมคนทุกวัยให้มา ทำงานด้วยกันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้


เบบี้บูมเมอร์ (Babyboomer) ผ่านร้อนผ่านหนาวมากด้วยประสบการณ์ กำลังก้าวสู่วัยเกษียณ แต่ยังช่วยกำกับภาพใหญ่ องค์กร เสริมทัพหน้าด้วยเจนเอกซ์ (Gen X) อายุ 40 ปีขึ้นไปที่เริ่มก้าวสู่ระดับหัวหน้า ที่ต้องการการขับเคลื่อนหนุนจากพลังเจนวาย (Gen Y) ที่เป็นกำลังหลักขององค์กร และขาดไม่ได้กับน้องใหม่ไฟแรงอย่างเจนซี (Gen Z) ที่เข้ามาเติมงานให้สมบูรณ์ หากคุณเข้าใจพวกเขามากพอ ก็สามารถบริหารความต่าง พร้อมจะลดช่องว่างที่มากับช่วงวัยเหล่านี้

6-unlock-generations-01

1. เราต่างก็เคยเป็นเด็กสมัยนี้ หรือ First Jobber พนักงานจบใหม่ไฟแรงสูงกันมาทั้งนั้น แถมบางคนอาจเคย โดนรุ่นพี่เรียกแทนด้วยคำว่า “เด็กสมัยนี้” เหมือนกัน ดังนั้นก่อนจะใช้คำเรียกเหมารวมถึงรุ่นน้องรุ่น Gen Z ว่า “แหม! เด็กสมัยนี้” ก็ขอให้มองตัวเราในอดีตก่อน เราอาจเข้าใจเขามากขึ้นว่า ไม่มีใครมีความสุขนักหรอกที่ถูกเหมารวมเช่นนั้น


2. คนที่ทำงานมานาน ควรเลี่ยงความคิดที่ว่าวิธีการที่ฉันทำมาตลอดคือถูกต้องที่สุด เพราะ Gen Z นั้นมาพร้อมความเชื่อมั่นว่าตัวเองก็สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่ทีมและองค์กรได้เช่นกัน ดังนั้น อย่ารีบยื่นสูตรสำเร็จในอดีตให้เขาสวมใส่ แต่ควรหาวิธีช่วยให้เขาแสดงศักยภาพ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้วยวิธีการของเขาเองอย่างเต็มที่

3. ใช้ความยืดหยุ่นมากกว่าเคร่งครัด เพื่อมัดใจ Gen Z ผู้มีความมุมานะและอยากให้องค์กรสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ต่างจากคนรุ่นอื่น เพียงแต่เขารักอิสระแห่งการปล่อยพลังไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ อย่าตีกรอบหรือใช้เหตุผล บังคับว่าต้องทำแบบไหน แค่วางกรอบเวลา (ไทม์ไลน์) กำกับให้สิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารออกมา เพียงแค่นี้ เราอาจได้เห็นผลงานรูปแบบใหม่ที่ทำให้ตะลึงกันถ้วนหน้า


4. ให้รางวัลแห่งความสำเร็จ เพราะ Gen Z รักในความก้าวหน้า ทำดีแล้วก็อยากได้คำชมเชยหรือรางวัลตอบแทน และสิ่งนี้จะกลับมาสร้างพลังบวกให้ทีมในวัยอื่นๆ เกิดลูกฮึดอยากทำบ้าง เพราะเขาได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า ทุกคนสามารถทำสำเร็จและได้รับผลตอบแทนได้ ไม่ว่าจะมีวัยวุฒิหรือคุณวุฒิไหน และยังช่วยทำให้จิตใจแต่ละคนพองโตพร้อมรับความท้าทายของงานชิ้นใหญ่ขึ้นด้วย


5. เวทีนี้ต้องมีพี่เลี้ยง เพราะ Gen Z มั่นใจตัวเองสูง มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง และต่อมความอดทนรับฟังเสียงเพื่อนร่วมงานไม่แข็งแรงพอและยังตรงไปตรงมาในการพูดอย่างใจคิด จนอาจส่งผลกระทบต่อมวลบรรยากาศโดยรวมของการทำงานเป็นทีมที่มีหลากหลายช่วงวัย คน Gen Z จึงยังต้องมีพี่เลี้ยงแนะนำทักษะสื่อสารกับคนต่างรุ่น ช่วยจูนคลื่นให้เข้ากันในแต่ละบริบทของการทำงาน หรือแม้แต่ทักษะการใช้ชีวิตจากผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน

6. เปิดใจเพื่อห่วงใยกัน สิ่งสำคัญเมื่อคนหลายช่วงวัยต้องทำงานร่วมกัน นั่นคือ การเปิดใจตัวเองให้กว้างเพื่อรับฟังคนอื่นมากกว่าพยายามให้คนอื่นต้องฟังเรา เพราะถ้าเราพร้อมเปิดหูก็จะเกิดการเรียนรู้ถึงจิตใจว่าเขาคิดเห็นอย่างไร และทำให้เกิดการปรับตัว ห่วงใยต่อความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น


เมื่อรู้ว่าช่องว่างระหว่างวัย เป็นที่มาของความไม่เข้าใจและนำไปสู่ปัญหา ถ้าเราต่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียนรู้ความแตกต่างที่มาพร้อมกับอายุ ก็น่าจะช่วยลดทอนการใช้คำเหมารวมกลุ่มว่า “เด็กสมัยนี้” หรือ “ผู้ใหญ่รุ่นฉัน" ให้หมดไปได้แล้ว