Future of Workplace เมื่อโควิดทำให้ออฟฟิศไม่เหมือนเดิม

การมาของโควิดทำวิถีชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศในโลกใบนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คุณธัญญา สุวรรณพงศ์ Design Director และคุณอนุลักษณ์ ศิวะบุตร Senior Design Manager จากบริษัท Gensler บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก  ได้มาแชร์มุมมองในการปรับดีไซน์เพื่อรับมือหลังโควิด รวมไปถึงมุมมองต่อสถานที่ทำงานในอนาคตที่ขนาดใหญ่และใจกลางเมืองอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป  พร้อมเผยงานวิจัยประสบการณ์  Work from Home ช่วงโควิดที่มีนัยสำคัญต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต

โควิดเปลี่ยนความหมายของที่ทำงานอย่างไร

จากการระบาดของโควิดหลายองค์กรให้พนักงาน Work from Home  คุณธัญญา  มองว่าช่วงโควิดทำให้  คำว่า  “Work”  แยกออกจาก  “Place”  ในแบบที่ทุกคนทั่วโลกได้รับผลกระทบพร้อมกัน  เมื่อมีการ  Work from  Home  ทำให้เกิดคำถามว่าจะได้กลับไปที่ทำงานเมื่อไหร่  จากนี้ไปวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร องค์กรจะมีนโยบายเรื่องความปลอดภัยอย่างไร   จากคำถามเหล่านี้ทำให้องค์กรต้องหาโซลูชั่นที่เหมาะสมในการเตรียมพร้อมให้พนักงานกลับเข้ามาที่ออฟฟิศอีกครั้ง   ก่อนอื่นคุณธัญญาขอเล่าหลักการออกแบบออฟฟิศว่าประกอบด้วย 4  ข้อ  คือ  1. แสงสว่าง (Daylight)  2. การเคลื่อนไหว (Movement)  3. ความเป็นอยู่ (Well-Being) และ 4.ปฎิสัมพันธ์ (Interactive)

โดยรูปแบบออฟฟิศในปัจจุบันมี  3  แบบ  ได้แก่  1.Agile Workplace  คือ  สถานที่ทำงานที่สร้างความคล่องตัว  สามารถรวมตัวเป็นทีมเพื่อแชร์ไอเดีย  หรือแยกออกเป็นทีมย่อยได้   2.Activities Base Workplace (ADW) เป็นการออกแบบออฟฟิศให้พื้นที่ต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละฟังก์ชั่น  ทำให้มีรูปแบบพื้นที่ใช้สอยหลากหลายตามวัตถุประสงค์   3.Co-Working  Space  เป็นที่ทำงานที่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่ม Startup  เป็นการแชร์พื้นที่ทำงานกับ Startup รายอื่น ทำให้สามารถร่วมมือหรือแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้

เหตุผลที่คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพึงพอใจ  Work from Home

ในช่วงที่เกิดโควิดบริษัท Gensler  ได้ออกแบบสอบถามพนักงานของบริษัทเกี่ยวประสบการณ์ในการ Work  from Home  โดยมีพนักงานตอบแบบสอบถามกลับมาถึง 78%  ซึ่งคุณธัญญา  ได้สรุปใจความสำคัญของผลงานวิจัยดังนี้    68% ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความพึงพอใจกับการ Work from Home  เมื่อเปรียบกับภูมิภาคอื่นพบว่า  มีความพึงพอใจสูงกว่ายุโรปและจีน  เมื่อดูเป็นรายเมืองที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย  มีความพึงพอใจมากที่สุด 91 %  และน้อยที่สุด  คือ  โตเกียว ญี่ปุ่น  59%


เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าสาเหตุที่พนักงานในแถบเอเชียแปซิฟิกมีความพึงพอใจสูง  96% ตอบว่าเพราะรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างาน และรู้ว่าหัวหน้างานคาดหวังอะไรจากพวกเขา   67% รู้สึกว่าการทำงานที่บ้านได้มีการกระจายอำนาจและทำให้มีผลงานที่ดีขึ้น   50% มองว่ามีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น   โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นจะมีความพึงพอใจมากกว่าคนที่มีลูกในวัยอื่นๆ


สำหรับเหตุผลที่ทำให้มีความพึงพอใจต่อการ  Work from Home   3  อันดับแรก  คือ   1. ประหยัดเวลาในการเดินทาง   2. มีความยืดหยุ่นในการทำงาน  3. การได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น   ในทางกลับกันเหตุผลที่ทำให้ไม่พึงพอใจต่อการ Work from Home  เพราะ  1. การขาดสังคม  ขาดการปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  คิดถึงเพื่อนร่วมงาน  2. การขาด Work Life Balance เพราะไม่สามารถแบ่งแยกการทำงานกับการพักผ่อนออกจากกันได้เด็ดขาด  3. ขาดการจัดสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับทำงาน   นอกจากนี้ผลวิจัยยังระบุว่า ความพึงพอใจในการ Work from Home จะสูงมากขึ้นหากมีอุปกรณ์หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม   ดังนั้นองค์กรที่มีนโยบายที่จะให้พนักงาน Work from Home  จะต้องจัดหาหรืออำนวยความสะดวกในเรื่อง Facilities ช่วยการทำงานให้สะดวกและเหมาะสม  ก็จะทำให้ Work from Home มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

workplace3

ดีไซน์ออฟฟิศอย่างไรหลังโควิด

แน่นอนว่าหลังจากการคลายล็อคดาวน์  หลายออฟฟิศเริ่มให้พนักงานกลับเข้าไปทำงาน  คุณอนุลักษณ์มองว่า  เมื่อกลับไปแล้ว  องค์กรควรดีไซน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับ New Normal  ดังนี้

1. จุดเข้าอาคาร

ทางเข้าจะต้องแยกระหว่างพนักงานกับผู้มาติดต่อ  โดยมีจุด Check-In  ตรวจวัดอุณหภูมิ   มีไกด์ไลน์ในการทำระยะห่าง   มีป้ายแจ้งบอกจุดป้องกันต่างๆ ในอาคาร

2. ออฟฟิศชั้นเดียว

มีมาตรการสำหรับการเข้ามาทำงาน  จัดให้เดินทางเดียวไม่เดินสวนทางกัน   มี Physical Distancing ไกด์ไลน์  มีป้ายบอกทางแจ้งว่าต้องเดินไปทางไหน  และสร้างบรรยากาศในออฟฟิศให้พนักงานรู้สึกว่าปลอดภัย

3. ออฟฟิศมากกว่าหนึ่งชั้น

ให้ใช้บันไดหนีไฟแทนการใช้ลิฟต์เพื่อลดการสัมผัส   มีป้ายสื่อสารเส้นทางเดินที่ชัดเจน

4. ที่นั่งในออฟฟิศ

จัดให้นั่งแยกห่างกันหรือนั่งเฉียงโดยไม่เผชิญหน้าตรงๆ   มีการจัดเว้นระยะห่างส่งผลให้ที่นั่งไม่เพียงพอเหมือนแต่ก่อน   ดังนั้นต้องมีแผนการแบ่งกลับเข้ามาทำงาน ในกรณีที่แชร์โต๊ะทำงานต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ  หรือมีป้ายแจ้งเตือนให้ทำความสะอาด  หรือแจ้งว่าโต๊ะนี้ได้ทำความสะอาดไปแล้วเมื่อไหร่ เพื่อให้พนักงานเกิดความมั่นใจ

5. ห้องที่มีลักษณะปิด

เช่น   ห้องทำงานส่วนตัว   ห้องประชุม    ต้องเปิดประตูให้อากาศถ่ายเท    ห้องประชุมจะต้องรักษาระยะห่างไม่นั่งติดกัน   และควรมีระบบเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการประชุมออนไลน์

6. ห้องครัว

จะต้องรักษาระยะห่างในการทานอาหาร   ไม่แชร์อาหาร   และจัดเก้าอี้นั่งให้น้อยลง  รวมถึงมีมาตรการทำความสะอาดเพิ่มขึ้น

7. ควรจัดให้มีพื้นด้านนอกที่เปิดโล่ง

เพื่อให้พนักงานมีพื้นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ   แต่ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างเช่นเดียวกัน


คุณธัญญากล่าวเสริมว่า   สิ่งสำคัญเวลาที่คนกลับเข้าไปทำงานพออยู่ร่วมกันก็อาจจะหลงลืม  ควรมีป้ายแจ้งเตือนให้รักษาระยะห่าง  บอกเส้นทางเดิน   ย้ำเตือนเรื่องสุขอนามัยซึ่งเรื่องทำได้ทันที  แต่ต้องออกแบบโดยใช้ข้อความที่สร้างรอยยิ้ม  ไม่ทำให้พนักงานเกิดความกลัวหรือเครียด  ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้เรื่องของการดีไซน์พื้นที่

Work from Home แล้ว ทำไมยังต้องมีออฟฟิศ

องค์กรชั้นนำของโลกหลายแหล่งเริ่มให้พนักงาน  Work from Home แบบถาวร  เช่น  Facebook หรือ Twitter  เมื่อถามว่าถ้าหากเทรนด์นี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย   ต่อไปในอนาคตยังจำเป็นจะต้องมีออฟฟิศอยู่หรือไม่  คุณอนุลักษณ์  มองว่า  การมีออฟฟิศยังมีความจำเป็นอยู่เพราะ  1. เป็นการรักษาวัฒนธรรมขององค์กร  วัฒนธรรมองค์กรเป็นการแสดงให้เห็นถึงค่านิยม ความรู้ ความคิด เทคโนโลยี  ตลอดจนสิ่งที่องค์กรสั่งสมมา รวมถึงความเชื่อถือ  ศรัทธาร่วมกันของคนในองค์กร  2. เป็นการรักษาความสัมพันธ์ (Engagement) ของคนในชุมชนทั้งในและนอกองค์กร   3. ดูแลเรื่องการให้บริการลูกค้า และจากงานวิจัยของ Gallop  พบว่า  คนที่ทำงานด้วยกันถ้าเป็นเพื่อนกัน ผลของงานหรือประสบการณ์ทำงานจะออกมาดีมากขึ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่คนมีความผูกพันในลักษณะฉันท์เพื่อนจะส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการไม่มีความผูกพันกันเลย  ฉะนั้นการมีออฟฟิศเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสได้ไปพบปะพูดคุยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันยังเป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องมีอยู่ต่อไป

Future of Workplace หน้าตาจะเป็นอย่างไร

เมื่อมองว่าออฟฟิศยังจำเป็นสำหรับองค์กร  แล้วในอนาคตออฟฟิศจะต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไร  คุณอนุลักษณ์มองว่าในอนาคตจะต้องมีลักษณะดังนี้   1. The New Neighborhood  :   จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ใช้งานได้หลากหลายตามลักษณะงาน  ต้องมีความยืดหยุ่น  มีพื้นที่ขนาดเล็ก   2. Meet  Market  :  เมื่อคน  Work from Home มากขึ้นทำให้องค์กรจะต้องมี  Connection Point  หรือจุดให้คนกลับมาที่ออฟฟิศเพื่อประชุมหรือพบปะพูดคุยกัน  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีจุดเดียว  แต่มีหลายจุดที่ให้พนักงานสามารถเลือกเข้ามาที่ออฟฟิศได้สะดวก     3. Digital Wonderland :  ในอนาคตออฟฟิศต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรให้สอดคล้องกับ New Normal  และใช้ร่วมกับการทำงาน  ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ   ช่วยให้การทำงานดีมากขึ้น  เช่น  การนำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องลดการสัมผัส  เช่น   การเปิดประตูด้วยระบบ  Facial Recognition  หรือการใช้ Wi-Fi  ในการปรับระดับของแอร์หรือไฟฟ้า  เป็นต้น


คุณธัญญา  กล่าวเสริมอีกว่า  ในอนาคตการดีไซน์พื้นที่ใช้สอยจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือแบ่งโซนได้ทันทีเช่นในกรณีที่เกิดโรคระบาดก็สามารถปิดเฉพาะโซนได้  และออฟฟิศจะกลายเป็น  Destination  ที่ทำให้คนอยากไปทำงาน   ไม่ใช่แค่ที่ที่จำเป็นจะต้องไป   ออฟฟิศจะทำให้การกลับไปของพนักงานมีความหมายมากขึ้น  นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหลังโควิดหลายๆ องค์กรจะเอารูปแบบการ Work from Home มาใช้อีกแน่นอน


ก่อนจากกันเมื่อถามว่าออฟฟิศที่มีคนทำงานหลากหลายวัยต้องดีไซน์อย่างไร   คุณธัญญามองว่าการดีไซน์พื้นที่ต้องมีทางเลือกให้คนแต่ละเจนเนอร์เรชั่น  สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำ   ไม่ใช่ออกแบบอย่างเดียวแล้วใช้ได้ทุกอย่าง (One Desk Fix All)  ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ล้าสมัยแล้ว   ขณะที่คุณอนุลักษณ์มองว่าออฟฟิศในอนาคตจะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว  เพราะได้รับบทเรียนจากโควิด ทำให้ต้องเตรียมรับมือด้วยการนำเทคโนโลยีมาเสริมเรื่องการบริหารจัดการอาคาร  ดังนั้นการดีไซน์ในอนาคตไม่ใช่แค่เรื่องการวางพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมตามลักษณะงานเท่านั้น  ยังต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน  การเป็นสถานที่ที่ทำให้พนักงานอยากเข้ามาทำงาน  และที่สำคัญยังต้องคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยและการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย.

ติดตามดู LIVE  SCBTV  Future of Workplace: เมื่อโควิดทำให้ออฟฟิศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป - ที่นี่ -

ที่มา : LIVE SCBTV  Future of Workplace: เมื่อโควิดทำให้ออฟฟิศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดย คุณธัญญา สุวรรณพงศ์ Design director และคุณอนุลักษณ์ ศิวะบุตร Senior Design Manager จากบริษัท Gensler ออกอากาศทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 3 มิถุนายน 2563