เกษียณแสนสุขสุดๆ แม้ไม่มีลูก

ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูง และแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะแต่งงานช้าลง ส่งผลให้หลายๆ คู่ที่แต่งงานไปแล้ว อาจวางแผนที่จะไม่มีลูก คู่แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูก อาจจะดูเหมือนไม่มีความกังวลด้านการเงิน เนื่องจากไม่มีภาระเลี้ยงดู ไม่มีค่าศึกษาเล่าเรียนของลูก หรือไม่ต้องคิดถึงเรื่องของการขยับขยายที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูก ก็ยังจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่าเมื่อถึงวัยเกษียณ ผู้ที่ไม่มีลูก จะไม่มีลูกหลานมาคอยเลี้ยงดู


ดังนั้นการวางแผนเกษียณอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อถึงวันหนึ่งทุกคนก็ต้องเกษียณอายุ อีกทั้งการพึ่งพาตัวเองได้ย่อมปลอดภัยที่สุด บทความนี้จึงนำเสนอการวางแผนเกษียณอายุสำหรับคู่แต่งงานที่ไม่มีลูก ดังนี้


1.เตรียมกาย

ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ’ เป็นคำกล่าวที่เป็นจริงอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเกษียณอายุ จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าวัยอื่นๆ เช่น โรคเอนซีดี (NCDs) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือโรควิถีชีวิต (Lifestyle Disease) ที่ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโรค แต่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มักเป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคเบาหวาน กลุ่มโรคมะเร็ง และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง


พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคเอนซีดี มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารที่มีรสจัดนานเกินไป เช่น หวานเกินไป เค็มเกินไป ขาดการออกกำลังกาย และความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน


โรคภัยต่างๆ ที่รุมเร้าในช่วงเกษียณอายุ จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และมีค่าใช้จ่ายที่สูง ยิ่งหากคู่แต่งงานที่ไม่มีลูก ย่อมที่จะไม่มีคนดูแล ลำพังการดูแลกันเอง เมื่ออายุมากขึ้นอาจดูแลกันไม่ไหว ทำให้อาจต้องจ้างคนดูแล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน (โดยเฉลี่ยค่าจ้างคนดูแลอยู่ที่ 20,000 – 36,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่ยังไม่เกษียณอายุ และยิ่งเริ่มไวเท่าไหร่ยิ่งดี และอย่าลืมเตรียมความพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพด้วย 

2. เตรียมใจ

การเกษียณอายุ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางกายที่ทำให้เราต้องรีบหันมาดูแลตัวเองให้ดีแล้ว การเตรียมใจก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องนึกถึงอยู่ตลอดเวลา


เมื่อถึงวัยเกษียณ สิ่งที่เราจะได้กลับคืนมามากมาย คือ เวลาว่าง เพราะเราไม่ต้องไปทำงานแล้ว ข้อดีของการมีเวลาว่างมากขึ้น คือ เราจะได้ทำในสิ่งที่เราเคยคิดจะทำ แต่ไม่ได้ทำเพราะไม่มีเวลา ต้องเอาเวลาไปทำงานประจำนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากไม่มีการวางแผนชีวิตหลังเกษียณที่ดีไว้ บางคนอาจนึกไม่ออกว่าอยากจะทำอะไรหลังเกษียณ หรือมีเวลาว่างมากเกินไป จนพาลทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ซ้ำร้ายหากใครที่มีโรคประจำตัว หรือเริ่มเจ็บป่วย ก็อาจทำให้สภาพจิตใจแย่ลงไปอีก


การเตรียมใจเพื่อรับสภาพคนว่างงาน มีเวลาว่างมากขึ้น แต่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หรืออาจจะเจ็บป่วยด้วยโรคชรา เป็นสิ่งที่ควรตระหนักและเตรียมใจไว้ล่วงหน้า

การเตรียมใจรับวันเกษียณอายุอย่างง่ายๆ เช่น หางานอดิเรกที่ชอบทำอยู่ที่บ้าน เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี วาดรูป ทำงานฝีมือ เป็นต้น นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทั้งในการทำงาน และประสบการณ์ชีวิตที่มีอยู่ ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยอาจจะไปเป็นที่ปรึกษา วิทยากร อาสาสมัคร หรือทำกิจกรรมการกุศลต่างๆ นอกจากนี้การมองโลกในแง่บวก และการนั่งสมาธิ เข้าวัด ฟังธรรม หรือออกกำลังกาย จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายและเกิดความสงบได้


3.เตรียมเงิน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสะดวกสบายในชีวิตได้มาด้วย ‘เงิน’ ยิ่งโดยเฉพาะวัยเกษียณที่ต้องใช้เงินมากขึ้น จากค่าดูแลสุขภาพที่มากขึ้น ทั้งค่าดูแลตัวเอง ค่ารักษาพยาบาล และเนื่องจากไม่มีลูก ก็อาจจะต้องมีค่าจ้างคนดูแลเพิ่มเติม แล้วต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ?


จำนวนเงินที่ต้องมีหลังเกษียณ ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตที่ต้องการใช้หลังเกษียณ หากมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด หรือมีที่ดินสำหรับเพาะปลูกผัก ผลไม้ และทำอาหารกินเอง ก็จะใช้เงินน้อยกว่าคนที่อยู่ในเมืองและต้องซื้อหาอาหารมารับประทาน การประมาณการจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ สามารถทำได้โดยคาดการณ์จำนวนเงินที่จะใช้หลังเกษียณต่อเดือนคูณด้วยจำนวนเดือนที่จะอยู่นับจากวันเกษียณอายุจนถึงสิ้นอายุขัย ดังตารางต่อไปนี้

โดยสมมติว่า ผลตอบแทนหลังเกษียณเติบโตเท่าเงินเฟ้อ และไม่มีเงินเหลือเป็นมรดก


เมื่อเรารู้ว่าต้องเตรียมเงินเท่าไหร่แล้ว ขั้นตอนถัดมา คือ การรวบรวมแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และสินทรัพย์อื่นๆ ที่สะสมไว้เพื่อการเกษียณอายุ เพื่อนำมาคำนวณหาส่วนขาดจากเงินที่ต้องการ เช่น จากตารางข้างต้น หากต้องการใช้เงินหลังเกษียณ 25,000 บาทเป็นระยะเวลา 25 ปีหลังเกษียณ เราจะต้องมีเงินอย่างน้อย 7,500,000 บาท เมื่อเราได้ไปรวบรวมเงินออมเพื่อเกษียณอายุออกมาแล้วพบว่ามีเพียง 4,000,000 บาท เท่ากับว่ายังขาดอยู่อีก 3,500,000 บาท เราจึงจำเป็นต้องมาวางแผนการออม การลงทุนเพิ่มเติม โดยมีแนวทางดังนี้
 

  • ลดค่าใช้จ่าย โดยการทบทวนค่าใช้จ่ายจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

  • ออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่มสัดส่วนการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมากขึ้น เลือกสัดส่วนการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยง

  • เลือกช่องทางการลงทุน ในตราสารทางการเงินที่เหมาะสม

  • เขียนแผนการออมและการลงทุนที่ชัดเจน ลงมือทำ และหมั่นทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ

  • การวางแผนเกษียณเป็นการวางแผนล่วงหน้า เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เงื่อนไขและสมมติฐานในการวางแผนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการทบทวนแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


นอกจากการเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมเงินแล้ว เราอาจต้องพิจารณาเตรียมเพื่อนและเตรียมสังคมไว้ด้วย การที่เรายังมีกิจกรรมพบปะกับเพื่อนในวัยเดียวกัน มีทัศนคติ และการดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกัน ก็จะทำให้เราไม่เหงา แม้ไม่มีลูกคอยดูแล แต่การมีความสุข สนุกสนาน จะส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพใจพลอยดีตามไปด้วย เพียงเท่านี้เราก็สามารถยิ้มรับกับวัยเกษียณอย่างมีความสุข ด้วยการวางแผนการเงินและมีการเตรียมความพร้อมที่ดี


บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร