อายุ 55 ปีมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท ลงทุนอย่างไร ให้พอใช้หลังเกษียณ

หากจะเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะทุกวันนี้หลายคนมักเข้าข้างตัวเอง โดยเฉพาะคิดว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณไม่เกิน 80 ปี แต่ด้วยเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้น เงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี


นอกจากนี้ อย่ามองว่าเงินที่จะต้องเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณไม่ต้องเยอะก็ได้ เพราะความจริงเงินที่ต้องใช้จะสูงกว่าที่ประเมินเอาไว้ ทั้งจากปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการมีอายุยืนมากขึ้น ดังนั้น หากชะล่าใจ เช่น เริ่มออมเงินตอนอายุเลยหลักสี่อาจไม่ทันการณ์


แน่นอนว่าทุกคนอยากมีเงินเก็บกันตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ในทางปฏิบัติก็มีอีกหลายคนที่ไม่พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนที่กำลังเกษียณจำนวนมากมีความกังวลกับเงินออมที่มีอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ เช่น อายุ 55 ปี มีเงินเก็บเพียง 1 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนถึงวันเกษียณ ก็ต้องหาช่องทางการลงทุน เพื่อทำให้เงินงอกเงยขึ้น


อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจนำเงิน 1 ล้านบาทไปลงทุน ต้องพิจารณาให้ละเอียด เพราะเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ห้ามขาดทุน ส่วนผลตอบแทนเป็นเรื่องรองลงไป และนี่คือขั้นตอนการนำเงินไปลงทุน

1. ลงทุนอย่างไรก่อนเกษียณ

อายุ 55 ปี แสดงว่ามีเวลาเหลือประมาณ  6 ปีก่อนเกษียณ (วางแผนเกษียณอายุ 60 ปี) ก็ต้องนำเงิน 1 ล้านบาท ด้วยการจัดสรรเงินและเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เงินต้นสูญหาย

1.1   40% (400,000 บาท) ฝากประจำ

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปี หากลงทุน 6 ปี จะกลายเป็น 450,465 บาท

1.2    20% (200,000 บาท) ลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี หากลงทุน 6 ปี จะกลายเป็น 238,810 บาท

โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อถึงอายุ 55 ปี ภาระหนี้สินต่างๆ น่าจะหมดแล้ว เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ

รวมถึงไม่มีภาระดูแลบุตร ดังนั้น ต้องแบ่งเงินเดือนที่ได้รับไปลงทุนด้วย เช่น เดือนละ 10,000 บาท

1.3   20% (200,000 บาท) + เงินลงทุนต่อเดือน 5,000 บาท ลงทุนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี หากลงทุน 6 ปี จะกลายเป็น 749,826 บาท

1.4   20% (200,000 บาท) + เงินลงทุนต่อเดือน 5,000 บาท ลงทุนกองทุนรวมหุ้น

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี หากลงทุน 6 ปี จะกลายเป็น 782,827 บาท

หากได้ผลตอบแทนตามตัวอย่างดังกล่าว เมื่อถึงอายุ 60 ปีจะมีเงินทั้งสิ้น 2,221,928 บาท

2. หลังเกษียณจะใช้เงินอย่างไร

ลองจดบันทึกค่าใช้จ่ายหลักในแต่ละเดือนคร่าวๆ ที่ต้องใช้หลังเกษียณ เช่น ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์, ค่าสันทนาการ, ค่าซื้อข้าวของเครื่องใช้, ค่ารักษาสุขภาพ เป็นต้น สมมติว่ารวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท (240,000 บาทต่อปี) จากนั้น ลองประเมินว่าตัวเองจะมีชีวิตหลังเกษียณอีกกี่ปี เช่น 25 ปี (เสียชีวิตอายุ 84 ปี) แปลว่า ต้องเตรียมเงินไปใช้หลังเกษียณ 6,000,000 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้วหากคำนวณเงินเฟ้อรวมเข้าไปในแต่ละปี ควรมีเงินเก็บมากกว่านี้


3.วางแผนการลงทุนอย่างไรหลังเกษียณ

จากตัวอย่าง พอถึงอายุ 60 ปี ยังต้องหาเงินเพิ่มอีก 3,778,072 บาท (6,000,000 - 2,221,928) วิธีการ คือ นำเงิน 2,221,928 บาท ไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยตามหลักการก็ควรกันเงินเป็นสภาพคล่องเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 2 ปีแรกหลังเกษียณ คือ 480,000 บาท ด้วยการนำไปเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ถอนได้ทันทีที่ต้องการใช้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

ส่วนเงินที่เหลือ 1,741,928 บาท (2,221,928 – 480,000) ให้จัดสรรเพื่อนำไปลงทุน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยมากกว่าผลตอบแทน เช่น

  • 50% (870,964 บาท) ลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี หากลงทุน 2 ปี จะกลายเป็น 924,006 บาท

  • 20% (348,386 บาท) ลงทุนกองทุนรวมผสม

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี หากลงทุน 5 ปี จะกลายเป็น 403,874 บาท

  • 20% (348,386 บาท) ลงทุนกอง REITs

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี หากลงทุน 10 ปี จะกลายเป็น 685,328 บาท

  • 10% (174,193 บาท) ลงทุนกองทุนรวมหุ้น

คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี หากลงทุน 10 ปี จะกลายเป็น 376,070 บาท


หากลงทุนตามตัวอย่างดังกล่าว จะมีเงินรวมทั้งสิ้น 2,389,278 บาท ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมาย (3,778,072 บาท) ต้องหาวิธีเพื่อทำให้มีเงินพอใช้

4. หารายได้

เมื่อเงินที่เก็บไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ ก็จำเป็นต้องทำงานเพื่อหารายได้ เช่น ทำขนมขาย สอนภาษาอังกฤษ เป็นล่าม หรือทำงานที่ตัวเองมีความถนัด


5.ไปอยู่ต่างจังหวัด

กรณีที่มีเป้าหมายจะเกษียณในกรุงเทพ แต่เมื่อเงินที่เก็บเอาไว้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ก็อาจต้องมองหาจังหวัดที่มีค่าครองชีพไม่สูง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่ก่อนตัดสินใจก็ต้องพิจารณาเปรียบเทียบให้รอบคอบ เพราะหากต้องซื้อที่ดินและสร้างบ้านที่ต่างจังหวัด อาจใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น ควรวางแผนกันตั้งแต่ยังไม่เกษียณ


เมื่อพูดถึงการเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ อาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนที่มีอายุใกล้วัย 60 ปี ทำให้คนหนุ่มสาวละเลยการวางแผนเกษียณ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ผลที่ตามมา คือ มีคนจำนวนมากไม่สามารถเกษียณได้เมื่อถึงวัยอันควร และมีอีกมากที่ไม่มีความพร้อมทางด้านการเงินเมื่อถึงวัยเกษียณ ดังนั้น เพื่อทำให้บั้นปลายของชีวิตมีความสุขก็ต้องเริ่มวางแผนการเงินกันตั้งแต่อายุน้อยๆ