ถ้าหุ้นตกจัดการเงินเกษียณอย่างไรดี

ในการวางแผนเกษียณอายุ เราจะแบ่งการวางแผนออกเป็น 2 ส่วน คือ การวางแผนการเงินก่อนเกษียณอายุ (Pre – Retirement Planning) และการวางแผนการเงินหลังเกษียณอายุ (Post – Retirement Planning) สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เกษียณอายุ การวางแผนโดยมากจะเป็นการวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ


สำหรับผู้ที่เกษียณอายุแล้ว อาจมีคำถามว่า เกษียณแล้ว จำเป็นต้องวางแผนการเงินด้วยหรือ? คำตอบคือ จำเป็นมากๆ เลย ยิ่งเกษียณแล้ว ยิ่งต้องวางแผน เพราะเงินเกษียณอายุของคุณ เป็นเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตแล้ว หากไม่วางแผนให้ดี อาจมีโอกาสที่เงินก้อนนี้จะหมดก่อนที่เราจะสิ้นอายุขัยก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนเงินก้อนนี้เป็นอย่างดี


แล้วหากเกิดหุ้นตกหนัก เราจะจัดการเงินเกษียณของเราอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบ

ในการจัดการเงินในยามหุ้นตก หรือตลาดผันผวน จะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

1. สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เกษียณอายุ

เป็นโอกาสที่เราจะได้ทบทวนแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุของตัวเอง โดยทบทวนสัดส่วนการลงทุนในหุ้นว่าลดน้อยไปจากสัดส่วนเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากพอร์ตการลงทุนเพื่อเกษียณอายุของเรา ลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง โดยมีการลงทุนในหุ้น 50% และ ลงทุนในตราสารหนี้ 50% หากมีเงินลงทุนอยู่ 1 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนการลงทุนดังกล่าว เราจะมีเงินลงทุนในหุ้น 500,000 บาท และในตราสารหนี้ 500,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป สมมติว่าหุ้นตกไป 20% แต่ตราสารหนี้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมา 1% เงินลงทุนในพอร์ตของเราจะมีมูลค่าดังนี้


มูลค่าหุ้น   500,000 x 0.8 (หุ้นตกไป 20% มูลค่าจึงลดลงเหลือ 80%) = 400,000 บาท

มูลค่าตราสารหนี้   500,000 x 1.01 (ตราสารหนี้เพิ่มมา 1%)                 = 505,000 บาท

มูลค่ารวมของพอร์ต                                                                              = 905,000บาท

ด้วยมูลค่าการลงทุนที่เหลืออยู่ จะมีสัดส่วนของหุ้นอยู่   400,000/905,000    = 0.44 หรือ 44%

และมีสัดส่วนของตราสารหนี้อยู่    505,000/905,000     = 0.56 หรือ 56%


จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนของเราเปลี่ยนไปจาก 50:50 เป็น 44:56 ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือ การปรับสัดส่วนการลงทุนของเราให้กลับไปอยู่ในระดับ 50:50 ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้นั่นเอง หรือที่เราเรียกว่าการทำ Rebalancing


Rebalancing

คือ การปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน เป็นการปรับสัดส่วนของหลักที่เราวางแผนลงทุนในระยะยาว (Strategic Asset Allocation: SAA) ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่เราตั้งใจลงทุนไว้ในตอนแรก โดยขายสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักเกินสัดส่วนที่กำหนด และซื้อสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าที่เรากำหนด


จากตัวอย่างข้างต้น เราจะขายตราสารหนี้ออก และซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาอยู่ที่ระดับ 50:50 ตามเดิม แล้วจะขายตราสารหนี้ และซื้อหุ้นเท่าไหร่ดี


หากต้องการกลับมาลงทุนในสัดส่วน 50:50 ของมูลค่าการลงทุนปัจจุบันที่ 905,000 บาท จะต้องมีเงินลงทุนในหุ้นอยู่ 452,500 บาท (50% x 905,000) และในตราสารหนี้อยู่ที่ 452,500 บาทเช่นกัน

แต่จากพอร์ตปัจจุบัน มีหุ้นอยู่เพียง 400,000 บาท แต่มีตราสารหนี้อยู่ถึง 505,000 บาท ดังนั้นเราจะขายตราสารหนี้ออกไป 52,500 บาท (505,000 – 452,500) และเอาเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้ไปซื้อหุ้นเพิ่ม 52,500 บาท เพื่อปรับสมดุลพอร์ตให้กลับมาที่ 50:50 เหมือนเดิม จะเห็นว่าเมื่อหุ้นตก เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ปรับพอร์ตการลงทุนของเรา และนำเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้ไปซื้อหุ้นเพิ่มในราคาที่ถูกด้วย   
 

2. สำหรับผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว

ควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ไม่สูงมากแล้ว เพราะเงินเกษียณเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะเอาไปเสี่ยงมากไม่ได้ สัดส่วนการลงทุนในหุ้นจึงไม่ควรเกิน 15 - 20% ซึ่งหากมีหุ้นในสัดส่วนที่ไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลหากหุ้นตก เราอาจทำการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนตามตัวอย่างข้างต้นก็ได้ หรือหากไม่สะดวกในการปรับพอร์ต ขอแนะนำให้แบ่งเงินเกษียณออกเป็นหลายส่วนตามระยะเวลาการใช้เงิน เช่น หากต้องการเกษียณอายุที่ 60 ปี และคาดการณ์สิ้นอายุขัยที่ 85 ปี นั่นหมายความว่าเรายังมีระยะเวลาลงทุนหลังเกษียณอีก 25 ปี ดังนั้นการลงทุนในหุ้นของเราอาจจะเป็นเงินที่เก็บไว้ใช้ในช่วง 5 – 10 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นอายุขัยก็ได้ (ซึ่งจะยังมีระยะเวลาลงทุนได้อีก 15 – 20 ปี) หากหุ้นตกลงมา เราก็ไม่ต้องกังวลใจมากจนเกินไป เพราะหุ้นตกลงมา ก็กลับขึ้นไปได้ (หากเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีรองรับ) การขึ้นลงของหุ้น ก็จะเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ถ้าเรามีระยะเวลาการลงทุนที่นานมากพอ เช่น 10 ปีขึ้นไป เราก็จะก้าวผ่านช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำไปสู่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวได้


การจัดสรรเงินเพื่อใช้หลังเกษียณอายุอาจทำได้โดย การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณว่าเป็นเท่าไหร่ต่อปี เราควรเตรียมเงินสำหรับการใช้จ่าย 5 ปีแรกออกมาอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ในบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน ส่วนเงินที่จะใช้ในระยะเวลา 5 – 10 ปีหลังเกษียณ ก็อาจจะจัดสรรให้ไปอยู่ในตราสารหนี้ ส่วนเงินที่จะใช้ในระยะเวลา 10 ปีหลังเกษียณเป็นต้นไป ก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ในระดับที่สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของเรา


กล่าวโดยสรุป การวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ เป็นสิ่งที่เราต้องทำไปตลอด เพราะเมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป ความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน เช่นนี้ การหมั่นทบทวนพอร์ตการลงทุน พร้อมทั้งมีการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และทำให้เราสามารถก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้อย่างแน่นอน


บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร