ไข้เลือดออก....ภัยร้ายจากยุงลายในหน้าฝน

เมื่อย่างเข้าฤดูฝน โรคไข้เลือดออกก็เป็นหนึ่งโรคที่แพร่ระบาดทั่วประเทศ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกหลายหมื่นจนถึงหลักแสนคน เนื่องมาจากการแพร่พันธุ์ของพาหะยุงลาย เป็นโรคที่มักพบในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แม้โรคไข้เลือดออกจะไม่ใช่โรคใหม่ แต่ถ้าหากไม่ระวังและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักโรคไข้เลือดออกให้ดียิ่งขึ้นและวิธีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับสมาชิกในครอบครัว

dengue-fever4

โรคไข้เลือดออกและพาหะ

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) มี 4 สายพันธ์ ติดต่อกันโดยมียุงลายเป็นพาหะ โดยเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป  เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้


ปกติระยะฟักตัวของไวรัสไข้เลือดออกในผู้ที่ถูกยุงลายกัดอยู่ที่ประมาณ 3-14 วัน ส่วนมากจะเริ่มมีอาการหลังถูกกัด 5-8 วัน อาการป่วยที่ชัดเจนคือ มีไข้สูงเฉียบพลันอยู่ประมาณ 2-7 วันแล้วลดลงอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว อาเจียน จากนั้นก็จะมีผื่น จุดสีแดงขึ้นตามแขน ขา ลำตัว เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ประกอบกับมีอาการปวดท้อง เพราะตับโต มักกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา

การกำจัดยุงลายพาหะของโรค

เนื่องจากยุงลายเป็นพาหะของโรค การป้องกันโรคไข้เลือดออกจึงต้องทำที่ต้นตอด้วยการกำจัดแหล่งน้ำในบ้านที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้วยหลัก 3 ก. ได้แก่ 1) ทำความสะอาด จัดบ้านให้เป็นระเบียบโปร่งโล่ง ปราศจากที่อับทึบมุมมืด ที่ยุงลายเกาะพักซ่อนตัว  2) เก็บขยะ กำจัดเศษภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น กระถางแตก กระป๋อง ขวดพลาสติก ยางรถยนต์ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ 3) เก็บน้ำ เปลี่ยนน้ำให้สะอาดและปิดฝาภาชนะบรรจุน้ำในบ้านให้เรียบร้อย


หากเป็นแหล่งเก็บน้ำใช้ (ไม่ใช่น้ำกิน) ที่ไม่สามารถหาฝาปิดได้ก็ให้ใส่ทรายทีมีฟอส (หรือทรายอะเบท) ที่มีสารทีมีฟอสทำหน้าที่ออกฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่ทรายทีมีฟอส 1% ลงในภาชนะในสัดส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงและคงฤทธิ์ไม่เกิน 3 เดือน โดยก่อนใส่ให้ทำความสะอาดขัดล้างคราบตะไคร่น้ำให้หมด เพื่อให้พื้นผิวภาชนะเหมาะให้สารทีมีฟอสเคลือบติดด้านในภาชนะ และเมื่อใช้น้ำที่เคยเติมทรายทีมีฟอสหมดแล้วก็สามารถเติมน้ำใช้ลงไปได้ตลอด โดยไม่ต้องขัดล้างภาชนะใหม่ เพราะสารทีมีฟอสเคลือบอยู่ด้านในภาชนะแล้ว จนใกล้เวลา 3 เดือนจึงค่อยใส่ทรายทีมีฟอสรอบใหม่  อย่างไรก็ดี ถ้าภาชนะนั้นสามารถล้างขัดเปลี่ยนน้ำใหม่ได้ทุกสัปดาห์ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ทรายทีมีฟอส

ทั้งนี้ ห้ามใส่ทรายทีมีฟอส ในภาชนะใส่น้ำดื่ม แต่ต้องปิดฝาให้มิดชิด  ภาชนะเลี้ยงพืชน้ำ/แจกัน แต่ควรเปลี่ยนน้ำทุก 7 วันหรือใส่ปลากินลูกน้ำแทน ในส่วนบ่อน้ำร้างให้ทำการฝังกลบ วิดน้ำออก สำหรับแหล่งน้ำขังสกปรก เช่นท่อระบายน้ำเสีย ร่องน้ำ คูน้ำทิ้ง ไม่ต้องใส่ทรายทีมีฟอส เพราะเป็นแหล่งพันธุ์ยุงรำคาญไม่ใช่ยุงลาย


นอกจากนี้ ให้ป้องกันลูกไม่ให้ถูกยุงลายกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด ดูแลซ่อมแซมมุ้งลวดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่ฉีกขาด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด และทายากันยุงเป็นต้น

ข้อควรระวังกรณีป่วยเป็นไข้เลือดออก

ถ้าลูกมีไข้สูง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออกและห้ามกินยาลดไข้ประเภทแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะยาจะไปต่อต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการช็อคถึงแก่ชีวิตได้ ควรใช้ยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล จะปลอดภัยกว่า รวมถึงสังเกตความแตกต่างระหว่างไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ นอกจากการมีเลือดออกที่ผิวหนังที่เป็นอาการสำคัญของไข้เลือดออกแล้ว ข้อแตกต่างหลักๆ ก็คือ ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ เจ็บคอ คัดจมูก แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะไม่มีอาการเหล่านี้ ในขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหารไม่มีแรง แต่ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะมีอาการปวดกระบอกตา กดเจ็บบริเวณชายโครงขวาเพราะตับโตร่วมด้วย

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก สัญญาณอันตรายที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนแม้ไข้จะลดลงแล้ว ได้แก่ เบื่ออาหาร ซึม อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา ปวดท้องมาก มีเลือดออกมาก เช่นเลือดกำเดาไหล อุจจาระเป็นสีดำ กระหายน้ำตลอดเวลา ไม่ถ่ายปัสสาวะภายใน 4-6 ชั่วโมง ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย  ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเด็กป่วยเป็นไข้เลือดออกจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน ซึ่งก็หมายถึงบิลค่ารักษาพยาบาลจำนวนไม่ใช่น้อยเลย

 

ข้อมูล

https://www.komchadluek.net/news/regional/376763
https://covid-19.kapook.com/view221315.html
กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/
Facebook : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลการใช้ทรายทีมีฟอสหรือทรายอะเบท โดย พ.ท.ดร.นพ.ภพกฤต ภพธรอังกูร 
https://www.si.mahidol.ac.th