ก่อนทำกรมธรรม์สัญญาเพิ่มเติม ดูเงื่อนไขให้ดีก่อน

ในการตัดสินใจซื้อประกัน นอกจากต้องพิจารณาปัจจัยที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง คำนวณจำนวนเงินเอาประกันที่ต้องการ เปรียบเทียบกรมธรรม์จากหลายบริษัท ยังต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องราคา หนึ่งในนั้น คือ สัญญาเพิ่มเติม


 หลังจากทำประกันไปเรียบร้อย หลายคนสงสัยว่าทำประกันวันนี้แล้วคุ้มครองวันไหนนั้น หากเป็นประกันหลักก็จะเริ่มต้นคุ้มครองตั้งแต่วันที่บริษัทประกันตกลงสัญญาประกัน ส่วนจะสิ้นสุดวันไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าทำประกันแบบไหน เช่น ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา จะให้ความคุ้มครองกรณีผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าประกันชีวิตแบบตลอดชีพ จะให้ความคุ้มครองไปตลอดชีวิตของผู้ทำประกัน เป็นต้น


สำหรับกรมธรรม์ที่มีสัญญาเพิ่มเติม หากเป็นสัญญาเกี่ยวกับอุบัติเหตุจะคุ้มครองทันทีในวันที่บริษัทตกลงรับประกัน แต่ถ้าเป็นสัญญาเกี่ยวกับค่าชดเชยต่างๆ โรคร้ายแรง ค่ารักษาพยาบาล จะมีระยะเวลารอคอยในการคุ้มครองตามเงื่อนไขจำนวนวันที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ เช่น 30 วัน 90 วัน หรือ 120 วัน เป็นต้น

 

เมื่อทำประกันแล้ว หน้าที่หลักสำคัญอย่างหนึ่งของผู้ทำประกัน คือ การส่งเบี้ยประกัน ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมทางด้านการเงิน จากนั้นก็เลือกวิธีการส่งกับบริษัทประกัน โดยประกันแบบหลัก เบี้ยประกันจะคงที่ตลอดสัญญา 

ขณะที่เบี้ยประกันของสัญญาเพิ่มเติม ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ แบบที่เบี้ยเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยง โดยช่วงอายุน้อย มีความเสี่ยงต่ำก็จ่ายเบี้ยน้อย อายุเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงมากขึ้นก็ต้องจ่ายเบี้ยสูงตามไปด้วย ส่วนอีกแบบ คือ จ่ายเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา แต่กรณีนี้ใช้ได้กับกรมธรรม์ชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เท่านั้น   


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเบี้ยประกันของสัญญาเสริมจะเพิ่มขึ้นตามอายุก็ควรทำ เพราะช่วยลดภาระกรณีที่ผู้ทำประกันเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ เข้ารักษาในโรงพยาบาล เพราะหากทำประกันหลักอย่างเดียว (ไม่ได้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล) จะไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้


เมื่อทำสัญญาเพิ่มเติมแล้วต้องศึกษารายละเอียดว่าผู้ทำประกันมีสิทธิเคลมค่ารักพยาบาลได้ตามจำนวนที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์อย่างไรบ้าง เพราะมีบางกรณีที่เกิดความสงสัยว่าทำไมเคลมไม่ได้ตามที่ตัวเองจ่ายค่ารักษาพยาบาล


เช่น สัญญาเพิ่มเติมระบุว่าเคลมค่ารักษาพยาบาลได้วันละ 3,000 บาท (สูงสุดได้ 125 วัน) ดังนั้น หากผู้ทำประกันเข้ารักษาที่โรงพยาบาลและจ่ายค่ารักษาวันละ 6,000 บาท ก็สามารถเบิกได้ตามสิทธิ คือ วันละ 3,000 บาท 

สำหรับประเด็นที่มีความเข้าใจผิดบ่อยๆ คือ เคลมไม่ได้เลย กรณีนี้อาจเกิดจากผู้ทำประกันมีประวัติการรักษาโรคก่อนทำประกันแล้วไม่แจ้งให้กับบริษัทประกันทราบในวันทำสัญญา ทำให้การรักษาโรคดังกล่าวไม่อยู่ในเงื่อนไขการคุ้มครอง ดังนั้น หากเจ็บป่วยจากโรคนี้หลังทำสัญญาเพิ่มเติมจะไม่สามารถเคลมค่ารักษาได้ หรือบางกรณีก็ไม่สามารถเคลมได้หากต้องเข้ารับการรักษา เช่น การพยายามทำร้ายตัวเอง ศัลยกรรมความงาม หรือโรคเอดส์ เป็นต้น ดังนั้น ก่อนทำสัญญาเพิ่มเติมต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขว่ามีข้อยกเว้นที่ผู้ทำประกันไม่สามารถเคลมได้


อีกกรณี คือ เคลมค่ารักษาพยาบาลได้แต่ได้น้อย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้ แสดงว่าผู้ทำประกันเข้ารักษาและออกจากโรงพยาบาล แล้วก็เข้าไปรักษาอีกรอบด้วยโรคเดิมภายในเวลา 90 วัน ซึ่งบริษัทประกันถือว่าเป็นการรักษาครั้งเดียวกัน ดังนั้น วงเงินเคลมจะนับต่อเนื่องจากครั้งแรกที่มีการเข้าไปรักษาพยาบาล ถ้าเข้ารักษาอีกรอบด้วยโรคเดิม


เช่น ทำประกันสุขภาพประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) แบบแยกประเภทค่าใช้จ่าย วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่อปี 400,000 บาท เบิกได้สูงสุดต่อโรคหรืออุบัติเหตุรวมกันแล้วไม่เกิน 40,000 บาท มีค่าห้องพักและค่าอาหารต่อวัน 3,000 บาท (ค่าห้องพักได้สูงสุด 125 วัน) และค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้ง 30,000 บาท เป็นต้น


ต่อมาเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และออกจากโรงพยาบาลวันที่ 10 มกราคม 2562 โดยมีค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งสิ้น 35,000 บาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 15,000 บาท, ค่าห้องและค่าอาหารต่อวัน 2,000 บาท (ค่าห้องพัก 10 วัน รวม 20,000 บาท) วงเงินค่ารักษาพยาบาลจะเหลือ 365,000 บาท (400,000 – 35,000)


ต่อมาต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคเดิม คือ ไข้หวัด ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 และออกจากโรงพยาบาลวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีค่ารักษายาบาลรวมทั้งสิ้น 20,000 บาท กรณีนี้เป็นการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคเดิมภายใน 90 วัน ดังนั้น ค่ารักษาพยาบาลจึงยังคงเป็นวงเงินเดิม คือ 365,000 บาท จึงเหลือค่ารักษาพยาบาล 345,000 บาท (365,000 – 20,000)    


แต่ถ้าเข้าไปรักษาหลังจากออกจากโรงพยาบาลครั้งก่อนหน้านานเกิน 90 วัน บริษัทถือว่าเป็นการรักษาครั้งใหม่ ดังนั้น วงเงินเคลมจึงนับใหม่


ในการประกันชีวิต นอกจากสัญญาประกันชีวิตหลัก ผู้ทำประกันยังสามารถทำสัญญาเพิ่มเติม เพื่อขยายความคุ้มครองพิเศษนอกเหนือจากความคุ้มครองที่ได้จากกรมธรรม์หลัก ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด โดยเฉพาะเงื่อนไขกรมธรรม์เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการทำสัญญา


สนใจทำประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือที่ SCB ทุกสาขา