โลกกว้างแค่ไหน หัวใจกว้างกว่า ลุยทุกทริปแบบอุ่นใจแค่มีประกันเดินทาง

หนึ่งในความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ คือ การได้มีโอกาสออกไปสำรวจโลกกว้าง ยิ่งได้เห็นเพื่อน ๆ อัปเดตภาพสวย ๆ เวลาไปเที่ยวลงโซเชียลมีเดียทุกครั้งที่มีวันหยุดยาว ยิ่งทำให้รู้สึกว่า ต้องหาโอกาสไปเที่ยวแบบนี้ให้ได้บ้าง เมื่อหัวใจมันเรียกร้องขนาดนี้ แถมทุกวันนี้การเดินทางไปต่างประเทศก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรอีกต่อไป เพราะมีการเปิดฟรีวีซ่าในหลาย ๆ ประเทศ สายการบิน Low Cost ที่มีให้เลือกมากมาย รวมถึงที่พักราคาประหยัดไว้ให้บริการ และสำหรับมือใหม่หัดเที่ยว หรือคนงบน้อยที่เพิ่งเริ่มทำงาน มีเรื่องหนึ่งที่นักเดินทางวัยเก๋าผู้มากประสบการณ์อยากจะแนะนำไว้ว่าไม่ควรละเลย ก็คือ การวางแผนรองรับความเสี่ยง เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอแบบที่เราเองก็ไม่ได้คาดคิด โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาเมื่อเราเกิดเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุขณะอยู่ต่างประเทศ ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมาก อาจทำให้ทริปในฝันของเราพังไปได้เลย ดังนั้นการเลือกซื้อประกันการเดินทางดี ๆ ก็เปรียบเสมือนมีเพื่อนร่วมทางที่ไว้ใจได้ ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้สามารถลุยได้ทุกทริปแบบไม่ต้องกังวล


ประกันการเดินทางที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่อย่างเราต้องครอบคลุมอะไรบ้าง


ในการเลือกซื้อประกันการเดินทาง ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานประกันการเดินทางหรือไม่ โดยครอบคลุมความคุ้มครองต่าง ๆ ดังนี้




ค่ารักษาพยาบาล เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยระหว่างการเดินทางจนต้องเข้ารับการรักษา หากมีประกันการเดินทางก็อุ่นใจได้เสมอ โดยมีทั้งชนิดที่ไม่ต้องสำรองจ่ายอะไรเลย หรือสำรองจ่ายไปก่อนแล้วค่อยมาเบิกเคลมทีหลัง เพราะปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นฉุกเฉินขณะอยู่ในต่างประเทศนี้ อาจทำให้ทริปสะดุด หมดสนุกกันไปเลยก็ได้ ถ้าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองคนเดียว


 ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คือ วงเงินที่คุ้มครองหากเราเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุในต่างประเทศ


การเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เกิดเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บในต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสม หรือเพื่อนำกลับสู่ประเทศไทย



ค่าชดเชยเกี่ยวกับสัมภาระและทรัพย์สิน คือ การชดเชยกรณีกระเป๋าเดินทาง ทรัพย์สินมีค่าที่นำติดตัวมาสูญหาย หรือเสียหาย นอกจากนี้อาจจะมีเรื่องความล่าช้าของกระเป๋าเดินทางที่ทำให้กระทบการใช้ชีวิตตอนอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีหลักฐาน และนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้ มาแสดงในตอนเบิกค่าชดเชยด้วย เช่น กระเป๋าเดินทางหายเมื่อเดินทางมาถึง ทำให้เราจำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อใส่ขณะที่อยู่ต่างประเทศ เราต้องเก็บใบเสร็จเหล่านั้นมาเรียกร้องหลังจากเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว ทั้งนี้ การรับค่าชดเชยขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์


ค่าชดเชยความล่าช้าในการเดินทาง คือ การเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเดินทางจากระบบขนส่งมวลชน แล้วเกิดล่าช้าจากระบบขนส่งมวลชนแบบฉับพลันหรือโดยเหตุคาดไม่ถึง โดยค่าชดเชยขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์




นอกจากเรื่องของความคุ้มครองที่นักเดินทางรุ่นใหม่อย่างเราต้องพิจารณา ก่อนจะเลือกซื้อประกันการเดินทางเพื่อออกไปใช้ชีวิตช่วงวันหยุดในต่างแดนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยคือ

  1. ประเทศที่จะเดินทางไป - การทำวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว ในบางประเทศจำเป็นต้องแนบกรมธรรม์ประกันภัยประกอบการยื่นขอวีซ่า เช่น ประเทศกลุ่มยุโรปหรือที่เรียกกันว่า “วีซ่าเชงเก้น” โดยต้องมีวงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 30,000 ยูโร หรือ 1,500,000 บาท เป็นต้น ดังนั้นก่อนการยื่นขอวีซ่า เราต้องศึกษาเงื่อนไข รายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจก่อนว่า ประเทศที่เราจะไปนั้นกำหนดเรื่องการมีประกันไว้อย่างไรบ้าง ความคุ้มครองของแผนประกันการเดินทางที่เราดูไว้ครอบคลุมแล้วหรือยัง ซึ่งจุดหมายปลายทางของเรานั้น จะมีส่วนทำให้เบี้ยประกันถูกหรือแพงด้วย เช่น คุ้มครองประเทศเดียว คุ้มครองเป็นกลุ่มประเทศ เป็นโซน หรือคุ้มครองทั่วโลก (Worldwide)
    ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าเราเดินทางไปประเทศเดียว ก็เลือกความคุ้มครองแบบระบุประเทศได้เลย แต่ถ้าเราต้องเดินทางหลายประเทศในทริปเดียวกัน ก็ต้องดูว่าอยู่ในโซนเดียวกันหรือไม่ เช่น เดินทางไป ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาจเลือกซื้อแผนคุ้มครองเฉพาะโซนเอเชีย แต่ถ้าเดินทางไปญี่ปุ่นกับฮาวาย ก็ต้องเลือกการคุ้มครองแบบทั่วโลก ซึ่งความคุ้มครองโซนเล็ก ๆ เบี้ยที่จ่ายก็จะถูกกว่าพอสมควร อย่างไรก็ตามการประกันอาจไม่คุ้มครองในบางประเทศโซนเขตตะวันออกกลาง ดังนั้น ควรพิจารณาแผนของบริษัทนั้น ๆ อย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจซื้อ
  2. ความถี่ในการออกเดินทาง - ประกันการเดินทางมีให้เลือกทั้งแบบรายปี และรายทริป ถ้าแน่ใจว่าสามารถเดินทางออกไปเที่ยวได้บ่อย ๆ ใน 1 ปี การซื้อแบบรายปีก็จะคุ้มค่ากว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และไม่ต้องเสียเวลาซื้อบ่อย ๆ แต่ถ้าคิดว่าจะออกไปเที่ยวแค่ปีละครั้ง ถึง 2 ครั้ง การซื้อแบบรายทริปก็ย่อมจะถูกกว่าแน่นอน
  3. ความคุ้มครองและเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ - แผนประกันการเดินทางยังมีหมวดความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็นตัวเลือกประกอบการตัดสินใจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ต่างประเทศ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือป่วยแบบหนัก ๆ จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนทางบ้านก็สามารถบินตามไปช่วยดูแล และนำค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยนั้นมาเรียกร้องค่าสินไหมได้ด้วย หรือในกรณีที่เรามีการเช่ารถเที่ยวในต่างประเทศ ก็อาจต้องพิจารณาเรื่องการชดเชยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ด้วย เพราะหากขับรถชนบุคคลอื่นทำให้เสียหาย ก็จะได้ใช้ผลประโยชน์ข้อนี้มาช่วยชดเชยให้ได้ ซึ่งถ้าเป็นแผนธรรมดาทั่วไป อาจไม่ได้รวมผลประโยชน์ข้อนี้ไว้ให้ หรืออาจจะมีแต่ให้วงเงินที่ไม่มากนัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และวิธีการเรียกร้องค่าสินไหมไว้ให้ละเอียดเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เช่น ถ้าจำเป็นต้องเรียกร้องค่าสินไหมต้องทำอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน เราต้องใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่ายไปก่อนหรือไม่ ทางบริษัทมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะถือเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมจากแผนความคุ้มครองปกติ อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่า การเลือกซื้อประกันการเดินทางของเราเหมาะสม คุ้มค่า และจะได้รับความคุ้มครองอย่างอุ่นใจทุกทริป อย่าเลือกซื้อเพียงเพราะเบี้ยประกันถูกที่สุดเท่านั้น




ประกันการเดินทางไม่ใช่แค่ความคุ้มครอง แต่คือ ความอุ่นใจที่ช่วยให้คุณได้สนุกกับการสำรวจโลกใบใหญ่ได้อย่างเต็มที่ มั่นใจและสบายใจ แถมไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง วันหยุดครั้งต่อไป มีประกันเดินทางติดตัวไว้ ก็ออกไปเที่ยวอย่างมั่นใจได้ทุกที่ทุกเวลา

หากสนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการความช่วยเหลือด้านบริการ ติดต่อได้ที่ SCB Protect Call Center โทร. 1314 ได้ทุกวัน เวลา 9:00 - 19:00 น. หรือแอดไลน์มาที่ @SCBPROTECT เจ้าหน้าที่ของทาง SCB Protect พร้อมให้บริการลูกค้าเสมอ

หมายเหตุ บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด เป็นเพียงนายหน้าประกันชีวิตผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์และรับผิดชอบในฐานะนายหน้าเท่านั้น, การพิจารณารับประกันขึ้นอยู่กับบริษัทรับประกันภัย, ผู้เอาประกันควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง