น้องมีบุญพาเที่ยว 5 วัดแดนอีสาน

ปีเก่าเมิดไป ปีใหม่มาเถิง บุญสงกรานต์มาเยือน ขอให้ท่านอยู่ดีมีแฮงเด้อหล่าเด้อ มื้อนี้น้องมีบุญสิพาพี่น้องเที่ยวภาคอีสาน ไปทางใด๋กะม่วนหลาย

ก่อนจะออกเดินทาง น้องมีบุญขอเล่าถึงเทศกาลสงกรานต์ของชาวอีสาน หรือที่มีอีกหลายชื่อเรียก เช่น บุญเดือนห้า ตรุษสงกรานต์ บุญรดน้ำ เป็นต้น โดยกำหนดวันสงกรานต์ของภาคอีสาน คือวันที่ 13 - 15 เมษายน เหมือนภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่จะมีการถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลา 15:00 น. พระสงฆ์จะตีกลองโฮมเป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นปีใหม่ และเป็นเวลาเริ่มงานด้วยเช่นกัน ชาวอีสานจะทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ เช่น เรือมตรด หรือรำตรุษสงกรานต์ ในวันสุดท้ายของเทศกาล ชาวอีสานจะทำบุญหมู่บ้าน นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ในตอนเย็น และรุ่งเช้าทำบุญตักบาตร มีการพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วหมู่บ้านเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี และต้อนรับสิ่งดีๆ ในวันปีใหม่ น้องมีบุญอยากจะชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยววัดทำบุญ 5 วัดดังแดนอีสานด้วยกัน

northeast-temples-01

วัดเจติยภูมิ (วัดพระธาตุขามแก่น)

ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น มีชื่อเรียกเดิมว่า พระธาตุบ้านขาม ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด แต่มีตำนานเล่าขานถึงวัดแห่งนี้มากมาย แม้จะพยายามสืบเสาะหาความเป็นมาแต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัด ในที่สุด ก็ได้ตำนานที่เล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ เรียบเรียงประวัติใหม่ คณะกรรมการทำการตรวจสอบแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ คือ นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว  ก็มีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในที่ต่างๆ

ครั้งต่อมาโมริยกษัตริย์ เจ้านครโมรีย์ (อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) ทราบข่าวภายหลังเพราะอยู่ห่างไกล และเดินทางช้า จึงได้แต่พระอังคารธาตุ (ฝุ่น) นำไปไว้ที่นครของตน ประมาณพุทธศักราชล่วงมาได้ 3 ปี พระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ นำเอาพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานไว้ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียว โมริยกษัตริย์ และพระอรหันต์ยอดแก้ว, พระอรหันต์รังษี , พระอรหันต์คันที และไม่ปรากฏชื่ออีก 6 องค์ จึงเดินทางพร้อมอัญเชิญเอาพระอังคารธาตุเพื่อไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างการเดินทาง ได้พบกับพื้นที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ดอนราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบดอน และมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง จึงได้พักแรมกันที่นี่ และนำเอาพระอังคารธาตุพักไว้บนต้นมะขามที่ตายแล้ว ถึงรุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อไปยังพระธาตุพนม ครั้นไปถึง พระธาตุพนมก็ได้สร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำพระอังคารธาตุบรรจุลงไปได้อีก จึงตั้งใจว่าจะเอากลับไปไว้ที่นครของตนตามเดิม โดยได้เดินทางย้อนกลับไปตามเส้นทางเก่า แต่เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่เคยพักแรม พบว่าต้นมะขามใหญ่ที่ล้มตายนั้น กลับผลิดดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขาสวยงาม อาจจะเป็นด้วยเทพนิมิต หรืออภินิหารของพระอังคารธาตุ จึงพร้อมใจกันก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามนั้น และบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุขามแก่น" เมื่อสร้างจนแล้วเสร็จ พระยาหลังเขียวพร้อมด้วยบริวารจึงสร้างบ้านแปลงเมืองที่นี่ และสร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ประกอบด้วยวิหาร และพัทธสีมาเคียงคู่กับองค์พระธาตุสืบต่อมา เมื่อเวลาล่วงเลย พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวบ้านจึงนำเอาอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ และเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ  พระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ครูบาทั้งแปด

วัดแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ หากใครได้ไปเยือนขอนแก่น ก็อย่าลืมไปไหว้พระ สักการะทำบุญที่วัดแห่งนี้ โดยที่นี่มีความเชื่อว่าหากใครได้ทำบุญที่นี่ จะได้รับผลอานิสงค์คือ เรื่องร้ายกลายเป็นดี รักยั่งยืน โรคภัยที่มีหลีกลี้ห่างหาย ดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น นั่นเอง

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/Q1EfNUWqhrvyNPNx7

หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น 40140

วัดพระพุทธบาทยโสธร

อีกหนึ่งวัดที่มีประวัติยาวนาน มีที่ตั้งอยู่บนเนินทรายริมแม่น้ำชีที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงปางนาคปรกหินทราย (หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก) พระพุทธบาทจำลอง และศิลาจารึกหินทราย (สูง 1 เมตรกว้าง 50 เซนติเมตร) ซึ่งบนศิลาจารึกปรากฏข้อความที่เป็นอักขระขอมผสมบาลี สภาพค่อนข้างเลือน แต่พอจะถอดใจความบางส่วนได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 3 นี้ พระมหาอุตตปัญญา และสิทธิวิหาริก (ผู้ศรัทธาหรือลูกศิษย์) นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1378 แต่ต่อมาเป็นวัดร้าง จนเมื่อพระราชมุนี (โฮม โสภโณ) อดีตผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เดินธุดงค์มาพบ และได้ทำการสร้างขึ้นเป็นวัด พัฒนาจนรุ่งเรือง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2521 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กว้าง 17 เมตร ยาว 34 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 กุฏิสงฆ์จำนวน 15 หลัง มณฑป 4 หลัง กุฏิชี 4 หลัง ศาลาหอฉัน 1 หลัง และบ้านรับรอง 1 หลัง

นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีเจดีย์ 8 เหลี่ยมทรงระฆังคว่ำสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และหุ่นขี้ผึ้งของบูรพาจารย์ จำนวน 8 องค์ พระอุโบสถเน้นความเรียบง่ายด้วยสถาปัตยกรรม และการทาสีขาวล้วน แต่งดงามตามแบบศิลปะประยุกต์ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานที่เจียระไนจากหยกขาว ขนาดหน้าตักกว้าง 2.31 เมตร สูง 3.7 เมตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปหยกขาวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/PJew2jenS52oxG4d8

บ้านหนอกยาง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชัย จังหวัดยโสธร  35130

วัดป่าภูก้อน

วัดป่าที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง และป่าน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี กำเนิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพุทธบริษัทสี่ที่ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย

ในปี พ.ศ.2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฟั่น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณ และคุณโอฬาร วีรวรรณ ได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนคร และอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม และอยู่อาศัยของพระสงฆ์ ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธาน พร้อมทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น 'วัดป่าภูก้อน' ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 7 มิถุนายน 2532

วัดแห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ที่หากใครมาอุดรธานีจะต้องมาเยือนให้ได้ ด้วยความสวยงามทั้งสถาปัตยกรรม และความสดชื่นจากป่าไม้ธรรมชาติ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์หินอ่อนขาว ยาว 20 เมตร ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์นริศ รัตนวิมล ผู้เป็นยอดศิลปินประติมากรหินของไทย เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักองค์พระพุทธไสยาสน์ และท่านอาจารย์สมยศ คำแสง เป็นผู้ออกแบบฐานพระพุทธรูปเป็นภาพปั้นนูนต่ำหล่อทองแดงเรื่องราวของพระมหาปรินิพพานสูตร และยังมีพระมหาเจดีย์ นามว่า "พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์" ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศ "พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา" อีกด้วย

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/X3Vi8S4WoEFPh5yq5

บ้านนาคำใหญ่ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี 41380

วัดมหาวนาราม

วัดเก่าแก่แห่งเมืองอุบลราชธานีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมากว่า 200 ปี เดิมทีเป็นวันป่ามีชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ หรือวัดป่าใหญ่ ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2322 และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาวนาราม ในปี พ.ศ. 2484 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514 ในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521

ที่นี่มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง เป็นพระประธานในวิหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะศิลปะแบบลาว ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และยังมีหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่แท่นข้างหลังองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง มีเนื้อหาปรากฏว่าสร้างหลังจากสร้างเมืองอุบลแล้ว 41 ปี สร้างโดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิศพรหม สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองคนที่ 2 หลังจากสร้างวัดแล้ว 2 ปี พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานและเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนานนามว่า พระเจ้าอินทร์แปลง มีความหมายว่า “พระอินทร์จำแลงแปลงกายมา” ชาวอีสานเรียก “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง” มีอีกความหมายคือ พระอินทร์สร้าง

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/pQM7BS3uzZPBAjew5

370 ถนน หลวง ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี 34000

วัดโพธิ์ชัย

จากวัดร้างที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่ มีชื่อเรียกว่า วัดผีผิว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามสำคัญของเวียงจันทน์ จนท้าวสุวอธรรมา ได้มาสร้างบ้านเมืองหนองคายที่บ้านไผ่ จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ที่ยึดมาได้คราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ มาไว้ที่วัดหอก่องในปี พ.ศ.2372 และต่อมาในปี พ.ศ.2379 เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณวัดหอก่อง เกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ต่อหน้าพระเสริม ชาวบ้านชาวเมืองรวมไปถึงข้าราชการต่างวิตกกังวล บ้างก็วิจารณ์ว่านี่เป็นลางบอกเหตุร้าย พระปทุมเทวาภิบาลผู้เป็นเจ้าเมือง และกรรมกรเมืองหนองคายจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีมติว่า ต้องหาสถานที่เพื่อมาสร้างเป็นวัดใหญ่ และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐาน ซึ่งก็ได้เลือกวัดผีผิวนั่นเอง

วัดผีผิว แม้จะเป็นวัดร้าง แต่ก็เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่อดีต ภายในประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ลาวโบราณ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จึงได้มีการบูรณะ และเปลี่ยนนามเป็นวันโพธิ์ชัย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระปทุมเทวาภิบาล จึงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีท่านญาคูหลักคำ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ทำการยกฐานะวัดโพธิ์ชัยจากวัดร้าง ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2382

นอกจากนี้ยังมีประวัติการสร้างพระสำคัญของที่วัดเล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีพระธิดา 3 พระองค์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา พระธิดาองค์โตได้สร้างพระสุก พระธิดาองค์รองสร้างพระเสริม และพระธิดาองค์สุดท้องได้สร้างพระใส โดยพระสุกนั้นได้จมลงที่แม่น้ำโขงขณะอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ ส่วนพระเสริมก็ได้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ เช่นกัน โดยปัจจุบันประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม สำหรับที่วัดโพธิ์ชัยแห่งนี้ได้ประดิษฐานหลวงพ่อพระใสไว้

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/EaPtS8d3qXK1GpEy8

873 หมู่ 10 ถนนประจักษ์ศิลปาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000

น้องบุญมี พาท่องเที่ยวสุขใจรับวันปีใหม่ไทย ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถานสร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY มีขั้นตอนดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด ‘ยอมรับ’ ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่กรมสรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจสายบุญยุคดิจิทัล