เริ่มต้นปีแบบสุขใจ เที่ยววัดทำบุญที่นครปฐม

“ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน” วันนี้ น้องมีบุญจะพามาทำความรู้จักวัดในจังหวัดนครปฐม ซึ่งในอดีตกาลนั้น เป็นเมืองราชธานีแห่งยุคทรารวดี ด้วยทำเลที่ตั้งในอดีตนั้นเป็นเมืองติดทะเล จึงทำให้มีผู้คนไปมามากมาย ความเจริญรุ่งเรืองจากการค้าขาย และการรับเอาอารยธรรม และพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดีย ที่นี่จึงมีวัดเก่าแก่ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย แต่ต่อมากระแสน้ำที่ผ่านกลางเมืองเปลี่ยนทิศทาง ความแห้งแล้งเกิดขึ้น ประชาชนจึงย้ายถิ่นฐานไปบริเวณริมแม่น้ำที่เรียกว่า “นครไชยศรี” นครปฐมกลายเป็นเมืองร้างอยู่หลายร้อยปี แต่แล้ววันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ขณะยังทรงผนวชได้ธุดงค์ไปพบกับเจดีย์องค์ใหญ่ไม่มีที่ใดเทียบเท่า ที่นั่นคือวัดแรกที่น้องมีบุญจะพาไปทำความรู้จัก

donation-nakhon-pathom-01

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมมีชื่อเรียกว่า พระธมเจดีย์ ไม่ใช่วัดเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินสุวรรณภูมิ แต่มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า พระเจดีย์ใหญ่เป็นรูประฆังคว่ำ โครงสร้างเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่ ก่ออิฐถือปูน และประดับด้วยกระเบื้องปูทับ มีวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พระปฐมเจดีย์แห่งนี้ อาจจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวที่พระสมณทูตเดินทางมาเผยแผ่ศาสนา ด้วยพระเจดีย์มีลักษณะทรงโอคว่ำ เช่นเดียวกันกับพระสถูปสาญจี แต่มียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งอาจจะมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ และพระองค์ยังทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย ครอบเจดีย์เดิมถึงสององค์ ได้แก่ เจดีย์ทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดียยุคพระเจ้าอโศกมหาราช และเจดีย์ทรงขอมโบราณ และพระราชทานนามใหม่ว่าประปฐมเจดีย์ ทรงเชื่อว่าที่นี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ แต่ในกาลต่อมามีการพบเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าประปฐมเจดีย์อีกหลายองค์

นอกจากนี้ ที่ลานชั้นลดด้านทิศใต้ มีพระประธานพระพุทธรูปศิลาขาว ซึ่งเป็นสองในสี่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม ที่สร้างขึ้นในยุคทวารวดี รวมถึงผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระวิหารทิศเหนือ ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไว้อีกด้วย

ที่วัดแห่งนี้ มีการจัดนมัสการองค์ประปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวมทั้งหมดเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมชมความงามของเจดีย์แห่งนี้ในยามค่ำคืน มีอาหาร และมหรสพต่างๆ รวมทั้งร่วมทั้งสืบสานประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ตามความเชื่อแต่โบราณว่าหากถวายผ้ากาสาวพัสตร์แด่พระภิกษุสงฆ์ จะได้บุญกุศลยิ่งนักจึงทำให้ประเพณีดังกล่าวทำสืบเนื่องมาช้านาน

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/t7nCDUUpbzwYxgU86

27 ถนนเทศา ตำบลประปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

วัดสามพราน

หากเรามองเห็นตึกสีชมพูสูงเด่น และยังมีมังกรตะกายฟ้าล้อมรอบตึกไว้ แสดงว่าเรามาถึงวัดสามพราน (พุธโทภาวนา) เรียบร้อยแล้ว ด้วยความโดดเด่นของ กุฏิพญามังกรตะกายฟ้า ที่มีความสูง 80 เมตร ซึ่งเปรียบได้กับอายุของพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จปรินิพพาน และจำนวน 16 ชั้น เสมือนสวรรค์ชั้นพรหม 16 ชั้น วัดจีนแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีผู้คนมากมายมาสักการะทำบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตรุษจีน ด้วยสถาปัตยกรรมสวยงามงามตระการตา มังกรเขียวที่พันรอบตึกนั้น ภายในเป็นอุโมงค์ทางเดินจากชั้นล่างขึ้นไปสู่ชั้นบนสุด เมื่อเดินขึ้นมาถึงก็จะพบกับต้นสาละจำลอง ซึ่งในพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้ประสูติที่ใต้ต้นสาละ นอกจากนี้บริเวณด้านบนของตัวอาคารยังสามารถชมวิวเมืองนครปฐมแบบมุมกว้างได้อีกด้วย ภายในวัดมีพระพุทธรูปหลวงพ่อพุทโธภาวนา ปางประทานพร องค์สีทอง ประดิษฐานอยู่บนอาคารปฏิบัติธรรม และภายในพระอุโบสถก็ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานองค์เล็กที่สุด และมากที่สุดในโลกถึง 1,250 องค์

ส่วนบริเวณโดยรอบวัด ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมาย เช่น เต่ายักษ์ พญาช้างเผือก ตุ่มสมบัติพญานาคพ่นน้ำ สะพานพญานาคคู่ และเจ้าแม่กวนอิมองค์สีเหลืองทองอร่าม

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/PUSSwmc3jxUHrqf97

92/8 หมู่ 7 ถนนเข้าอำเภอ ตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

วัดไผ่ล้อม

บนถนนเทศา ไม่ไกลจากพระปฐมเจดีย์ยังเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ด้วยบริเวณแห่งนี้แต่เดิมทีมีความร่มเย็น และสงบจากดงไผ่ พระภิกษุผู้แสวงธรรมได้ธุดงค์มาปักกลด บำเพ็ญสมณธรรม และก็จากไปเช่นนี้เรื่อยๆ ชาวบ้านละแวกนั้นจึงได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์มาจำพรรษาปกครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ โดยพื้นที่แถวนี้มีชาวไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ จึงสันนิษฐานว่าชาวรามัญน่าจะเป็นผู้สร้างวัดขึ้นมา ต่อมาพระภิกษุที่อยู่พรรษาได้ก่อสร้างเสนาสนะ และมีพระมาจำพรรษามากขึ้น ผู้คนก็มาอาศัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ดงไผ่ที่เคยหนาทึบ ก็ถูกชาวบ้านตัด ถางไปทำที่อยู่อาศัย มีหลงเหลือบริเวณรอบ ๆ วัดเท่านั้น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดไผ่ล้อม

วัดแห่งนี้ ร้างเจ้าอาวาสอยู่นาน  ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์พูล หรือหลวงพ่อพูล (พระมงคลสิทธิการ) ในขณะนั้นจำพรรษาอยู่วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม อุปสมบทได้ 10 พรรษา เป็นพระผู้มีความรู้ ความสามารถ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เมื่อ พ.ศ. 2490  และร่วมกับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา สร้างอุโบสถหลังแรกขึ้น และยังดำเนินการสร้างเสนาสนะ ให้วัดไผ่ล้อมมีความเจริญทางถาวรวัตถุ เช่น ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม  ศาลาฌาปนสถาน ศาลาปฏิบัติธรรม หอระฆัง กุฏิสงฆ์ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม

หลวงพ่อพูลได้ได้ละสังขารไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2548 แต่ก็มีเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ ด้วยสรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่เน่าไม่เปื่อย ทางวัดจึงบรรจุร่างท่านไว้ในโลงแก้วตั้งไว้ที่ ศาลากรุวิมานุสรณ์ ให้ลูกศิษย์ และผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้ ภายในศาลา ยังมี กุมารทองสมบัติ ว่ากันว่า เป็นกุมารทองที่อยู่กับหลวงพ่อพูลมาตั้งแต่สมัยที่ท่านยังหนุ่ม และมีขนาดใหญ่ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ฐานกว้าง 9 นิ้ว สูง 15 นิ้ว เลื่องลือในเรื่องโชคลาภ ธุรกิจค้าขาย พระพิฆเณศวร มหาเทพแห่งความสำเร็จ แกะจากไม้ตะเคียนศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีเจ้าแม่กวนอิมพันกร หัวโขน และพระพุทธรูปอีกมากมาย

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/TaDnrryN8LXkzv5w8

2 ถนนเทศา พระปฐมเจดีย์ เมืองนครปฐม นครปฐม 73000

วัดกลางบางแก้ว

วัดโบราณที่มีชื่อเดิมว่า วัดคงคาราม ด้วยมีที่ตั้งติดแม่น้ำท่าจีน หน้าวัด และพระอุโบสถหันเข้าหาแม่น้ำตามธรรมเนียมโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรงศรีอยุธยา เห็นได้จาก อุโบสถ ใบเสมา และวิหาร รวมถึงพระพุทธรูปหินทรายแดง ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ คือ หลวงพ่อโต และภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาไม้สักทองด้านในหอไตรที่น่าจะเป็นช่างฝีมือในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีความวิจิตรงดงามมาก

วัดกลางบางแก้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก เก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุล้ำค่าต่าง ๆ เช่น เครื่องรางของขลัง  เครื่องถ้วยลายครามในสมัยก่อนรวมไปถึงสิ่งสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ และยังมีข้าวของเครื่องใช้ของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ หลวงปู่บุญ หรือ ท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ซึ่งปกครองวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2429-2478 และหลวงปู่เพิ่ม พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่บุญและสืบตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต่อมา

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/7pp27KvUsSkUFkG77

113 หมู่ 2 ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

วัดกลางบางพระ

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นวัดร้างมาก่อน วัดแห่งนี้สร้างขึ้นจากเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2300 เมื่อพม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ข้าราชบริพาร ชาวบ้าน ได้พากันอพยพมาทางเรือ และได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรและต้นศรีมหาโพธิ์มาด้วย แต่ระหว่างทางได้เกิดพายุทำให้เรือล่ม ต้นศรีมหาโพธิ์ลอยไปตามน้ำ จากคลองบางพระไปจนถึงตำบลศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นพื้นที่ดอน ต้นศรีมหาโพธิ์จึงได้เติบโตที่นั่น ส่วนพระพุทธปฏิมากรจมน้ำอยู่ตรงกลางระหว่างวัดบางพระกับวัดศรีมหาโพธิ์ จึงได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2326 และเรียกกันว่า "วัดกลางบางพระ"

ที่นี่ ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสมหวัง พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือสะดุ้งมาร ก่ออิฐถือปูนด้วยกระเบื้องโมเสก จัดสร้างโดย พระครูสุนทรวุฒิคุณ (หลวงพ่อพุฒ สุนทโร) เมื่อปี พ.ศ.2524 เมื่อสร้างเสร็จได้บรรจุมวลสาร แผ่นชนวน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พร้อมอัญเชิญ พระพุทธรูป 9 นิ้ว จำนวน 99 องค์ บรรจุไวัในองค์หลวงพ่อสมหวังเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มากราบไหว้

ที่ตั้ง: https://goo.gl/maps/1FZsBtT8hBFFXyxG6

86 หมู่ 4 ตำบลบางพระ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

น้องบุญมี พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถานสร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY มีขั้นตอนดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด ‘ยอมรับ’ ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่กรมสรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจสายบุญยุคดิจิทัล