Tokenization การระดมทุนรูปแบบใหม่ สร้างสรรค์การลงทุนให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

การเงินในโลก FinTech มีนวัตกรรมเกิดขึ้นหลากลาย และได้นำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ซึ่งการออกโทเคนดิจิทัล หรือ Tokenization ก็เป็นเครื่องมือการเงินในโลกดิจิทัลที่จะเป็นโอกาสให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนและคนทั่วไปสามารถลงทุนได้ง่ายและสะดวกกว่าเดิม มาทำความรู้จัก Tokenization วิธีระดมทุนรูปแบบใหม่ บนเวที Tokenization Summit 2022 โดย คุณพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) คุณคมกฤช เกียรติดุริยกุล Partner, Baker & McKenzie นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดร.ธันวา อาภรณ์ทิพย์   Blockchain Technical Advisor, SCB 10X และ คุณจิตตินันท์ ชาติสีหราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)

tokenization-the-year-of-reset-01

อะไรคือปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลยังคงน่าสนใจ?


จากสถานการณที่คริปโตเคอร์เรนซีที่ปรับตัวขึ้นสูงมากในปีที่แล้ว เนื่องมาจากปัจจัยความตื่นเต้นของเทคโนโลยี กระแสในโซเชียลมีเดีย มาในตอนนี้ คุณจิตตินันท์ ชาติสีหราช มองว่าปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลยังคงน่าสนใจ ก็คือเทคโนโลยี เช่น นวัตกรรมต่างๆ บวกกับบล็อกเชนทำให้การทำธุรกรรม เช่น P2P ไม่ต้องมีตัวกลาง ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านประสิทธิภาพ ความเร็ว ราคาที่ถูกลง และใครๆ ก็เข้าถึงได้ และเมื่อเทคโนโลยีต่อยอดกับ Financial Engineering ก็เป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจการเงิน เช่นการรับฝากเงิน (Saving) ปล่อยสินเชื่อ (Lending) การออกตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ฯลฯ ด้วยประโยชน์ตรงนี้บวกกับความรู้สึก FOMO* ก็ทำให้คนจำนวนมากเข้ามาตลาดโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งการที่คนเข้ามาเพื่อหวังทำเงินก็อาจทำให้ลืมปัจจัยพื้นฐานในการลงทุน ตัวขับเคลื่อนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจริงๆ คือประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยี

ประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนในมุมมองของดร.ธันวา อาภรณ์ทิพย์ คือการทำธุรกิจขึ้นสู่ระดับ Global ได้ตั้งแต่วันแรก ทันทีที่ผู้ประกอบการนำธุรกิจขึ้นบล็อกเชนก็จะกลายเป็นธุรกิจ Global ทันที ไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศหรือระดับภูมิภาค ซึ่งทีมงานก็ต้องพร้อมที่จะทำตลาดโลกตั้งแต่แรก รวมไปถึงธุรกิจการเงิน ทั้งการ ICO ออกเหรียญ โทเคนดิจิทัลต่างๆ แม้กระทั่งศิลปินที่ออกผลงาน NFT ก็ไม่ได้ขายแค่ในตลาดเมืองไทย แต่ขายในตลาด Global ทั้งนี้ โปรเจ็กต์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดร.ธันวามองว่าน่าสนใจคือ โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) เช่น การนำโปรเจ็กต์อสังหาริมทรัพย์ที่อเมริกามาทำโทเคนให้ลงทุน ซึ่งจะทำให้คนที่อยู่ในไทยสามารถลงทุนในอสังหาฯ ที่อเมริกาได้ด้วยการใช้เหรียญคริปโตซื้อ Investment Token นั้นได้เลย ซึ่งเป็นการสร้าง Global Market อย่างแท้จริง


*Fear of Missing Out

โทเคนดิจิทัล เปิดมิติใหม่การลงทุนอสังหาฯ


ในการนำแนวคิดโทเคนดิจิทัลมาใช้จริงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คุณพีระพงศ์ จรูญเอก มีความสนใจใน Real Estate Backed Token ว่าจะเป็นเครื่องมือการลงทุนในฝั่งผู้ซื้อให้สามารถลงทุนได้ในหน่วยเล็กลง และมีสภาพคล่อง โดยเป็นการแก้ Pain ลงทุนในอสังหาฯ ที่สินทรัพย์เปลี่ยนมือยาก และต้องใช้เงินเป็นล้านๆ ลงทุนซื้อคอนโด 1 ยูนิต  โทเคนดิจิทัลจะช่วยสร้างสภาพคล่อง ทำให้อสังหาฯ น่าลงทุนขึ้น เพราะนักลงทุนรายย่อย คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนได้  ตัวอย่างเช่น การคอนโดในย่าน CBD* ราคาสิบล้านบาท เมื่อนำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลให้ 1 โทเคน เท่ากับ 1 ตารางนิ้ว ทำให้ขนาดของหน่วยลงทุนลดลง อาจเหลือแค่ 1 โทเคน หลักร้อย-หมื่นบาท ไม่ต้องซื้อเป็นยูนิต แต่ซื้อเป็นโทเคน ซึ่งคนทั่วไปสามารถลงทุนได้ รวมถึงการที่โทเคนสามารถซื้อขายผ่านกระดานเทรดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลต.รับรอง  ซึ่งทั้งหมดนี้ คุณพีระพงศ์มองว่าเป็นการขายอสังหาฯ ในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เองก็มีธุรกิจการลงทุนอสังหาฯ อยู่แล้ว  ซึ่งการนำอสังหาฯ มาแปลงเป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) คุณพีระพงศ์มองว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ ยังได้รายได้จากค่าเช่า (Rental Yield) และส่วนต่างกำไรจากการขาย (Capital Gain) โดยโทเคนเพื่อการลงทุนที่แปลงจากอสังหาฯ ในย่านใจกลางเมือง เช่นสีลม สาทร สุขุมวิท พหลโยธิน ฯลฯ น่าสนใจมาก สามารถนำมาผสมรวมกัน กลายเป็น CBD Condominium Index Price ที่ผู้ซื้อรายย่อยเข้าถึงได้ รวมถึงผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย


ในส่วน Utility Token ก็สามารถนำมาปรับใช้กับโซลูชั่นบริการดูแลความเป็นอยู่ให้ลูกค้าอสังหาฯ เช่น แม่บ้าน ล้างรถ ทำสวน กำจัดปลวก ฯลฯ โดยแปลงบริการตรงนี้มาเป็น Utility Token ผูกกับ Investment Token หรือจะออกเป็นโทเคนดิจิทัล แทนคูปองกระดาษ ให้ลูกค้าใช้สะดวกมากขึ้น


*CBD - Central Business District 

Securitization VS Tokenization


ในแง่ของความต่างในการลงทุน Investment Token กับการระดมทุนในปัจจุบัน คุณคมกฤช เกียรติดุริยกุล กล่าวถึงการทำ Securitization ซึ่งเป็นการระดมทุนในรูปแบบดั้งเดิม เมื่อเทียบกับ Tokenization ในภาพรวมมีความคล้ายกัน อย่างแรกคือแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ อย่างหลังคือเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นโทเคน สิ่งที่แตกต่างกันคือ หลักทรัพย์แบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือ REIT* จะมีพื้นฐานบน Balance Sheet ที่ไม่สามารถแบ่งลงทุนเป็นบางโปรเจ็กต์โดยไม่สนใจ Balance Sheet ได้ ขณะที่การทำ Tokenization ช่วยให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer) สามารถแบ่งโปรเจ็กต์ย่อยๆ มาระดมทุนนอก Balance Sheet และนักลงทุนสามารถลงทุนเฉพาะโปรเจ็กต์ที่สนใจได้


ดังนั้น ข้อดีของ Tokenization คือ


1) การก้าวข้ามข้อจำกัดในการระดมทุนแบบ Balance Sheet และสามารถแบ่งบางโปรเจ็กต์มาระดมทุนตอบสนองความต้องการของลูกค้า และไม่ต้องแบกภาระ Balance Sheet ส่วนที่เป็นหนี้


2) Investment Token สามารถสร้างสรรค์ระดมทุนในแบบที่หลักทรัพย์ดั้งเดิมทำไม่ได้ เช่น สร้าง Investment Token หลายรุ่น (Tranch) แต่ละรุ่นมีความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่เหมือนกัน เพราะ Investment Token ไม่ได้เป็นการลงทุนแบบ One Size Fits All  แบบหลักทรัพย์ดั้งเดิม เพราะสามารถนำ Ecosystem ต่างๆ ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า พันธมิตรในธุรกิจ มาผูกรวมกับ Investment Token ได้ ดังนั้น โทเคนดิจิทัลจึงไม่ใช่การระดมทุนอย่างเดียว


3) การดึงเอา Ecosystem มาใส่ใน Investment Token ทำให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถเปลี่ยนคนที่เป็นลูกค้ามาเป็นนักลงทุนได้ คนที่เป็นนักลงทุนซื้อโทเคน ก็จะมาใช้บริการของธุรกิจได้


เช่นเดียวกับที่คุณพีระพงศ์ มองว่าการทำ Tokenization จะทำให้รูปแบบการลงทุนมีความหลากหลาย ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงขึ้น และไม่จำกัดแค่ในธุรกิจอสังหาฯ แต่ทำได้ในทุกธุรกิจ ต่อไปนักธุรกิจอาจไม่ต้องขอสินเชื่อ ออกกองทุน REIT หรือทำ IPO แต่ระดมทุนด้วย Investment Token จากประชาชนทั่วไปได้เลย ให้ทุกคนมาเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันได้ เป็นการ Decentralized Investment ที่จะช่วยในเรื่องข้อจำกัดของคนตัวเล็กที่มีทุนสู้คนตัวใหญ่ไม่ได้


*REIT – Real Estate Investment Trust ​ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

เทรนด์น่าจับตามองในอนาคต


เมื่อกล่าวถึงหัวข้อ Tokenization, Digital Asset คุณจิตตินันท์ให้ความเห็นว่าสิ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ Web 3.0 ซึ่งมีพื้นฐานจากบล็อกเชนที่เป็นตัวเก็บข้อมูล Smart Contract ที่ตัวจัดการให้ธุรกรรมเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของโลกการเงินดิจิทัล ซึ่งก็เป็นโอกาสให้คนเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง เช่น e-Wallet, การเก็บรักษาสินทรัพย์ (Custody) รวมถึงตัวโทเคนที่เป็นตัวแสดงมูลค่าสินทรัพย์


นอกจากส่วนที่เป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะมีส่วนที่เป็น Financial Service ที่เห็นชัดคือ Decentralized Finance เช่น Lending, Saving, Derivative, Exchange, Swap ฯลฯ ซึ่งเมื่อถึงยุคของ Web 3.0 ที่บล็อกเชนทำให้โทเคนสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าการลงทุน เช่นสร้างปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ความจงรักภักดี (Loyalty) กับลูกค้า ธุรกิจในวงการต่างๆ จึงให้ความสนใจในโทเคนดิจิทัล ส่งผลให้วิธีการทำการตลาดเปลี่ยนไป คุณจิตตินันท์คาดว่าจะได้เห็น Use Case การใช้โทเคนหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ทั้งแบบ Fungible และ Non-Fungible (NFT)  โดยเฉพาะ NFT ที่เดิมเป็น Digital Arts ใช้เก็บสะสมอย่างเดียว ก็เริ่มนำ NFT มาบวกกับ Utilities ต่างๆ ในโลกจริง ซึ่งจะทำให้ NFT สามารถไปต่อในตลาดได้ ไม่ได้เป็นการเก็งกำไรอย่างเดียว 


อีกหนึ่งเทรนด์ในความเห็นของคุณจิตตินันท์คือ ต่อไปในโลกโทเคนดิจิทัล อาจไม่ใช่ DeFi* ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อมีข้อกังวลในการทำธุรกรรมมากขึ้น Regulator อาจจะเข้ามาควบคุมมากขึ้น ส่งผลให้ CeDeFi* เป็นเทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 


*Decentralized Finance – DeFI /  Centralized-Decentralized Finance – CeDeFI

ที่มา : งานสัมมนา Tokenization Summit 2022 : A Year of Reset : Regaining the Fundamentals วันที่ 5 ตุลาคม 2565