4 สเต็ปเตรียมยื่นแบบภงด. ให้ได้เงินคืนภาษีไว

ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เป็นช่วงเวลาที่ชาวมนุษย์เงินเดือนจะเตรียมตัวสำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.91) ที่เมื่อผ่านพ้นเข้าปีใหม่ ก็สามารถยื่นแบบฟอร์มออนไลน์ทางเว็บไซต์สรรพากรได้เลย ซึ่งเราก็สามารถยื่นขอเงินได้เงินภาษีที่ถูกหักไปแล้วส่วนที่จ่ายเกินคืนมา แนะนำ 4 ขั้นตอนการเตรียมตัวยื่นแบบภงด. ที่น่าจะช่วยให้การเคลมภาษีคืนทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น

1)  รวบรวมข้อมูล


การรวบรวมข้อมูลและเอกสารแสดงรายได้ สิทธิการลดหย่อนภาษีเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำอย่างละเอียด เอกสารแสดงรายได้สำหรับมนุษย์เงินเดือนคือใบ 50 ทวิ ที่นายจ้างออกให้ โดยจะแสดงรายรับ เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินจ่ายกองทุนประกันสังคม เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ - PVD (ถ้ามี) ในส่วนของเอกสารแสดงสิทธิ์การลดหย่อนภาษี ได้แก่ ใบเสร็จกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพของบิดามารดา หนังสือรับรองการซื้อ/ขายหน่วยลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี (กองทุน SSF – Super Saving Fund, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ – RMF) ใบเสร็จเงินบริจาค (ในกรณีที่ไม่ได้บริจาคผ่านระบบ e-Donation), ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย, ใบเสร็จการซื้อสินค้าบริการตามที่รัฐบาลมีประกาศลดหย่อนภาษีให้ในแต่ละปี ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร เป็น ข้อมูลสำคัญนี้ เราเอามาใช้คำนวณและประกอบการการลดหย่อนภาษี   บางอย่างต้องรอดาวน์โหลดเอกสารได้ตอนสิ้นปี แต่เราก็สามารถเอาข้อมูลตัวเลขมารวบรวมไว้ก่อนได้ โดยตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนจะได้ไม่มีข้อมูลอะไรตกหล่น ทำให้ต้องมาเสียดายทีหลัง

4-steps-prepare-to-submit-tax-filing-02

2)  คำนวณภาษี เติมเต็มสิทธิลดหย่อน


นำข้อมูลตัวเลขจากข้อ 1 มาคำนวณในแบบฟอร์มการยื่นภาษี เพื่อดูว่าเรายังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนส่วนไหนเพิ่มเติมได้บ้าง สิ่งนี้เรียกว่าเป็นการวางแผนภาษี โดยส่วนที่เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อย่างรวดเร็วที่สุดก่อนจะหมดเวลาในช่วงสิ้นปี ก็คือ การซื้อประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ (ไม่เกิน 100,000 บาท) ประกันสุขภาพ (ไม่เกิน 25,000 บาท) โดยทั้งสองอย่างรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท และประกันสุขภาพของบิดามารดา (ไม่เกิน 15,000 บาท)


นอกจากนี้ยังมีส่วนของประกันบำนาญ (15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000) ซื้อหน่วยลงทุนรวมเพื่อการออม – SSF (30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ – RMF (30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000)  โดยทั้ง 3 ส่วนนี้จะนำมาคิดรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน* และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)* จะลดหย่อนทั้งหมดได้ไม่เกิน 500,000 บาท


การวางแผนภาษีนี้สามารถทำได้ใน แบบคำนวณภาษี ก็จะรู้ว่าเรายังเหลือสิทธิที่จะลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ในส่วนไหน อีกเท่าไร แล้วจะได้จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อย่างคุ้มค่า


*กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เกิน 13,200 บาท

3) เลือกกองทุน ประกันที่ใช่ อย่าให้เสียโอกาส


เมื่อเรารู้แล้วว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีกเท่าไร ก็ถึงเวลาเลือกซื้อกองทุนเพิ่มเติม ซึ่งทั้งกองทุน SSF และ RMF แต่ละกองก็มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย เช่น ลงทุนตราสารหนี้ ตลาดเงิน ตราสารทุน เป็นการลงทุนทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ มีธีมการลงทุนเจาะจงในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน ต้องศึกษาข้อมูลลรับทราบความเสี่ยงในการลงทุนให้ครบถ้วน ในส่วนประกันก็เช่นเดียวกัน ต้องทราบเงื่อนไขกรมธรรม์อย่างครบถ้วน ซึ่งจะลงทุนหรือทำประกันเพิ่มต้องทำก่อนสิ้นปี การซื้อหน่วยลงทุนต้องทำภายในวันศุกร์สุดท้ายของปี ซึ่งในปี 2565 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565 เผลอประเดี๋ยวเดียวก็จะสิ้นปีแล้ว หาข้อมูลให้ไวจะได้ตัดสินใจได้ทันเวลา คลิกดูรายละเอียดกองทุน SSF และ RMF ที่น่าสนใจที่นี่

4) จัดเรียงไฟล์ข้อมูลให้เรียบร้อย


เมื่อจัดการเรื่องข้อมูลเอกสาร สิทธิการลดหย่อนภาษีเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะยื่น แบบฟอร์มภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร ที่สามารถยื่นได้ในช่วงเดือนมีนาคมของแต่ละปี ให้รีบ ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการซื้อ/ขายหน่วยลงทุน กรมธรรม์ประกัน ซึ่งนอกจากการรีบยื่นเสียภาษีเร็ว เพราะยิ่งยื่นเร็วเท่าไร ก็ยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วตามไปด้วยแล้ว  การจัดเรียงไฟล์ข้อมูลให้เรียบร้อยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเมื่อกดส่งแบบฟอร์มภาษีเงินได้แล้ว แนะนำให้ยื่นเอกสารตามไปเลย โดยไม่ต้องรอให้ถูกเรียก ในการส่งเอกสารแนบให้แยกหมวดหมู่ประเภทเอกสาร สแกนไฟล์ jpg หรือ pdf ให้เห็นข้อมูลชัดเจน และที่สำคัญคือมีใบนำเอกสาร แจกแจงรายการเอกสารที่เราส่งเข้าไปว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลครบ สามารถตรวจสอบเอกสาร ทำงานได้ง่าย และอาจนำไปสู่การพิจารณาเงินคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้น


ดูรายละเอียดขั้นตอน การวางแผนภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือนเพิ่มเติมได้ที่นี่


ที่มา : https://scbcw-preprod.scb.co.th/th/personal-banking/stories/salary-man/tax-filing.html