ส่องภาพรวม โอกาส และความท้าทายในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านสายตา Deloitte SEA

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงผันผวนสูงมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะในหมู่ของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่เราได้เห็นทั้งจุดสูงสุดและจุดตกต่ำของหลายๆ เหรียญที่ขึ้นลงตามสถานการณ์ภายนอกเพราะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานมารองรับ นอกจากนี้ด้วยความเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงสร้างความสับสนวุ่นวายทั้งในหมู่หน่วยงานกำกับดูแลและหมู่นักลงทุน และทำให้ผู้กำกับดูแลบางส่วนตัดสินใจปกป้องนักลงทุนด้วยการสร้างกำแพงกีดกันไม่ให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงสินทรัพย์เหล่านี้ได้ง่าย


สิ่งเหล่านี้เองก็คือสิ่งที่ Andrew Koay ผู้อำนวยการ (Director) ของ Deloitte Southeast Asia  Blockchain Lab มองว่าเป็นความท้าทายรวมไปถึงเป็นอุปสรรคหลักๆ มีผลต่อการเจริญเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน โดยในงานการบรรยายหัวข้อ The Outlook จากงาน Tokenization Summit 2022 ซึ่งจัดโดย Token X คุณ Andrew กล่าวว่าในเอเชีย ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซียังไม่มีความปลอดภัยเท่าที่ควรคือความไม่มีเอกภาพในการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี เพราะหน่วยงานกำกับดูแลหรือ Regulators ในแต่ละประเทศยังคงไม่มีกฎหมายและกลไกที่จะดูแลการซื้อขายรวมไปถึงการใช้คริปโตเคอร์เรนซีในรูปแบบอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ รวมถึง ‘คุณสมบัติ’ ทั้งในด้านกฎหมายและเศรษฐกิจของตัวคริปโตเคอร์เรนซีเองที่ยังสร้างความเสี่ยงให้นักลงทุนอยู่

tokenization-the-outlook-02

สินทรัพย์ดิจิทัลในมุมมองด้านกฎหมาย


ถ้ามองจากในมุมมองด้านกฎหมาย คริปโตเคอร์เรนซีอาจสร้างความเสี่ยงให้นักลงทุนที่ไม่ได้มีความรู้และความเข้าใจเพราะเป็น No-claim tokens ที่หมายความว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่จะรับความเสี่ยงจากการซื้อขายนี้ร่วมกัน และไม่มีตัวกลางที่นักลงทุนสามารถไปเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือการชดเชยในรูปแบบใดได้หากเกิดปัญหา


นอกจากนี้ข้อมูลการซื้อขายคริปโคเคอร์เรนซียังอยู่บน Public Distributed Ledgers หรือ บล็อกเชน (Blockchain) ที่มีสถานะเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลสาธารณะ (General Public Knowledge) ทำให้การถือและซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในกรณีที่มีคนทราบถึงตัวตนของเจ้าของ wallet address ไม่มีความเป็นส่วนตัว และทำให้ ‘หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ในหลายๆ ประการไม่สามารถใช้กับคริปโตเคอร์เรนซีที่มีคุณสมบัติขัดแย้งของหลักการเหล่านี้ในตัวของมันเองได้


ครั้นถ้ามองคริปโตเคอร์เรนซีจากมุมมองทางเศรษฐกิจ ก็จะเห็นได้ว่าถึงแม้สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะถูกออกแบบมาให้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า (Medium of exchange) เฉกเช่นเดียวกับเงินสกุลต่างๆ ในโลกจริง ในความเป็นจริงแล้วสกุลเงินเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนได้จริง เพราะขาดเสถียรภาพทางมูลค่าที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือเงินตรา


จากสถิติที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นความผันผวนที่เกิดจากการที่นักลงทุนมองคริปโตเคอร์เรนซีเป็นผลิตภัณฑ์ลงทุนมากกว่าสกุลเงิน ทำให้เกิดการ ‘คาดการณ์ราคา’ จนทำให้สินทรัพย์ชนิดนี้มีความผันผวนด้านมูลค่าที่เกิดจากการเก็งกำไรสูง (Speculative volatility) และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ จึงออกมาสร้างกฎหมาย และออกใบอนุญาตเพื่อคุ้มครองปกป้องนักลงทุนอย่างเต็มที่

Tokenization Economy อนาคตตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะไม่ได้มีแค่คริปโตเคอร์เรนซีอีกต่อไป


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คริปโตเคอร์เรนซีจะมีข้อจำกัดมากมาย คุณแอนดรูว์กล่าวว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีโอกาสในการเติบโตสูงเพราะในระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีกมากมายนอกจากคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Utility Token, Investment Token และ Non-Fungible Token และ Digital Token อื่นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน


โดยคุณ Andrew กล่าวว่า เราจะสามารถมองคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทได้ใน 4 ด้าน ผ่าน 4 คำถามด้วยกันคือ


1. ด้านเศรษฐกิจ: อะไรคือจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจของโทเคนนี้? โทเคนนี้ถูกสร้างขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมไหน?


2. ด้านเทคโนโลยี: โทเคนนี้ถูกใช้ใน distributed ledger ในระดับไหน?


3. ด้านกฎหมาย:  โทเคนนี้ให้สิทธิทางกฎหมายอะไรแก่ผู้ถือบ้าง?


4. ด้านการกำกับดูแล: โทเคนนี้กำกับดูแลโดยหน่วยงานใด? มีความเข้มข้นทางกฎหมายในระดับไหน?

 

ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยนักลงทุนจำแนกแยกแยะ รวมไปถึงบริหารความเสี่ยงของการลงทุนในแต่ละผลิตภัณฑ์ได้

 

จากคำกล่าวของคุณ  Andrew กลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีศักยภาพมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกการเงิน ภาคธุรกิจ รวมถึงระบบเศรษฐกิจในอนาคต คือ


1. Utility Token ทั้ง Transactional Utility Token และ Non-transactional Utility Token 


2. Investment Token เช่น Equity Token, Entitlement Rights Token, Debt Token, Derivative Token, Fund Token และอื่นๆ

 

โดยสินทรัพย์เหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ในโลกดิจิทัล ทำให้สินทรัพย์เหล่านี้มีมูลค่าของสิ่งที่มีค่าในโลกจริงมารับรอง และมีเสถียรภาพทางมูลค่ามากกว่า ซึ่งสินทรัพย์ในโลกจริงนี้จะเป็นสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งที่จับต้องได้ เช่น งานศิลปะ อัญมณี อสังหาริมทรัพย์ และจับต้องไม่ได้ เช่น คาร์บอนเครดิต หรือทรัพยากรเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

3 เหตุผลที่ต้องสนใจ Tokenization 


ในทรรศนะของคุณ Andrew เหตุผลที่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุนต้องสนใจการ Tokenization ได้แก่


1. Tokenization จะช่วยให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


2. Tokenization จะช่วยให้คนเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น เพราะกระบวนการนี้ย่อยสิทธิในการเป็นเจ้าของหรือรับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เป็นหน่วยเล็กๆ ที่นักลงทุนในทุกระดับสามารถเข้าถึงได้


3. Tokenization ช่วยปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มทางเลือกสำหรับกิจกรรมการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้น


นอกจากนี้ คุณ Andrew ยังกล่าวอีกว่าบริษัท Deloitte SEA ให้ความสำคัญกับ Responsible Innovation คือเน้นให้โครงการ Tokenization ทุกโครงการของบริษัทใช้งานได้จริง มีเงื่อนไขที่ชัดเจน และปลอดภัยจากการหลอกลวงและสแกมทุกรูปแบบเพื่อดึงความมั่นใจของนักลงทุน และทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตได้อย่างยั่งยืน


ที่มา : งานสัมมนา Tokenization Summit 2022 : The Outlook วันที่ 5 ตุลาคม 2565