ESG Bond กับโอกาสผลตอบแทนดีต่อใจ ดีต่อพอร์ตลงทุนปี 2567

ในปี 2567 นี้ SCB CIO มองว่า ตราสารหนี้จะยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากการที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ที่ต้องการลงทุน ในตลาดตราสารหนี้ที่มีส่วนสร้างผลกระทบเชิงบวก (positive impact) ก็มีตัวเลือกตราสารหนี้ที่คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ESG Bond ให้เลือก  

2382156743

จากข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทยนั้น ระบุว่า ESG Bond แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ


1) ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
- เงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกใช้ลงทุนหรือชำระคืนหนี้ (re-finance) ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Bond) ก็จัดอยู่ในตราสารหนี้ประเภทนี้เช่นกัน


2) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond)
- เงินที่ได้จากการระดมทุน จะถูกใช้ลงทุนหรือ re-finance ในโครงการเพื่อสังคม


3) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
- เงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกใช้เพื่อลงทุนหรือ re-finance ในโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม


4) ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)
- เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ที่กำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่ผู้ออกตราสารกำหนดไว้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกรณีที่ดำเนินการไม่สำเร็จตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ออกตราสารก็จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) ให้แก่ผู้ลงทุน


ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Moody's ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการออก ESG Bond ประมาณ 9.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2565 ขณะที่ ปี 2567 คาดว่าจะมีการออก ESG Bond เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับปี 2566 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น จากสถิติของสมาคมตราสารหนี้ไทย พบว่า ปี 2566 มีการออก ESG Bond ทั้งสิ้น 179,866 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่ออกทั้งสิ้น 214,029 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าคงค้างของ ESG Bond คิดเป็น 4% ของตลาดตราสารหนี้ไทย ในจำนวนนี้เป็น Sustainability Bond ถึง 67% ตามด้วย Green Bond 21% Social Bond 4% และ Sustainability-Linked Bond 8%


นอกจากตราสารหนี้ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังมีตราสารหนี้ที่เรียกว่า Transition Bond ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อช่วยบริษัทในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หรือ Brown Industry ให้สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสมาคมตราสารหนี้ไทยให้จำกัดความว่า เป็นตราสารหนี้ที่ ผู้ออกตราสารหนี้ยังไม่ได้จัดเป็นธุรกิจสีเขียว แต่ต้องการระดมทุนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือกระบวนการผลิตให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามข้อตกลงปารีส โดยที่ผู้ออกยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการสำคัญของ Green, Social และ Sustainability Bond Principles พร้อมจัดทำแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตประกอบด้วย


สิ่งที่น่าสนใจในปี 2567 คือ บริษัทต่างๆ มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ความสนใจการลงทุนใน  ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หรือ Transition Bond มากขึ้นตามไปด้วย   โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ S&P Global เคยคาดการณ์ว่า การระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งรวมถึงการออก Transition Bond จะยังมีสัดส่วนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลงทุนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินลงทุนประจำปีที่จำเป็นต้องการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 2°C ภายในปี 2593

 

ผมมองว่า กลุ่ม Transition Bond เป็นกลุ่มที่น่าสนใจพอสมควรครับ สำหรับผู้ลงทุนในไทย เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ลงทุนที่สนใจ ESG Bond มีทางเลือกลงทุนมากขึ้น ไม่เฉพาะการลงทุนในไทยนะครับ ในต่างประเทศก็เช่นกัน ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่เข้าข่ายธุรกิจสีเขียว ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่มากพอสมควร ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ ก็มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลของตัวเอง และในปัจจุบันรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ตามข้อตกลงปารีสครับ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ฃ


ทั้งนี้ การลงทุนใน ESG Bond โดยรวมแล้ว เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยุคนี้ครับ เพราะนอกจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปแล้ว ก็ยังมีระดับผลตอบแทนที่น่าสนใจด้วยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน การลงทุนใน ESG Bond ก็ช่วยให้ผู้ลงทุนได้มีส่วนร่วมในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไปด้วยในตัว จะเรียกว่าเป็นการรับผลตอบแทนสองต่อก็ได้ครับ ต่อแรกคือผลตอบแทนในรูปตัวเงินจาก coupon ส่วนต่อที่สอง คือผลตอบแทนทางใจนั่นเอง


อย่างไรก็ดี มีประเด็นหนึ่งที่ผมต้องฝากให้ท่านผู้ลงทุนพิจารณาทุกครั้งที่ลงทุนเช่นกันครับ นั่นก็คือ อย่าลืมพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ ESG Bond ที่ลงทุนครับ นอกเหนือจากการพิจารณาผลตอบแทน และระยะเวลาลงทุน ส่วนอีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน คือ ให้พิจารณาด้วยครับว่า ESG Bond ที่ท่านสนใจอยู่นั้น จัดเป็นตราสารหนี้ประเภทใด มีสิทธิเรียกร้องอยู่ในลำดับขั้นไหน กรณีที่เกิดปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ โอกาสที่ท่านจะได้รับชำระหนี้คืนเป็นอย่างไร และมีหลักประกัน ที่สามารถนำมาชำระคืนหนี้ได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ท่านจะต้องเจอกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคตครับ


และที่สำคัญคือ ในกรณีที่มีเงินลงทุนจำนวนมาก ท่านควรลงทุนในตราสารหนี้หลายๆ ตัว โดยที่แต่ละตัวมีสัดส่วนไม่มากในพอร์ต เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในตราสารหนี้ตัวใดตัวหนึ่งครับ แต่ในกรณีที่เงินลงทุนมีจำนวนไม่มากนัก ต้องการลงทุนใน ESG Bond และท่านอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนที่มีเงินได้สามารถลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ ผมมองว่า กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่มีนโยบายไปลงทุนใน ESG Bond ด้วย อย่างเช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยผสมยั่งยืน หรือ SCBTM (ThaiESG) ซึ่งมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และ กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์ ไทยผสมยั่งยืนชนิดสะสมมูลค่า SCBTM (ThaiESGA) ซึ่งไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะกองทุนนี้ ลงทุนได้ทั้งหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยของบริษัทที่เน้นความยั่งยืนครับ 


Source :

https://www.thaibma.or.th/EN/BondInfo/img/def-esg.png
https://www.thaibma.or.th/doc/press/y2024/Doc012024.pdf https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2023/260623.aspx
https://www.esgtoday.com/moodys-forecasts-flat-sustainable-bond-volumes-in-2024-with-cleantech-investment-offset-by-soft-macro-environment/
https://asiafundmanagers.com/us/transition-bonds-in-asia-the-rise-and-challenges/


คำเตือน

·  การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

· เงื่อนไขการลงทุนและการลดหย่อนภาษีเป็นไปตามกฎหมายและประกาศที่กรมสรรพากรกำหนด

· กองทุนรวม Thai ESG มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

· สามารถศึกษาข้อมูลกองทุนหลักได้จาก website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด และรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุนผ่าน SCB EASY App

· สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777


บทความโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


จัดทำ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2567