ถึงเวลาต้องให้ ESG เข้ามาอยู่ในชีวิต

การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ ภายใต้คำว่า “ESG” หมายถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติ เพราะสิ่งที่เห็นเด่นชัดมากตอนนี้คือแรงสะท้อนกลับของธรรมชาติที่กำลังเอาคืนมนุษย์ หรือสังคมที่ต่างเอาตัวเองเป็นหลักก่อน ดังนั้น การนำ ESG เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตให้กลมกลืนจึงเป็นสิ่งละเลยไม่ได้อีกต่อไป


1. ESG เรื่องไม่ไกลเกินตัว


‘สิ่งแวดล้อม’ (E)
สัมผัสได้ใกล้ตัวสุด เช่น ผลกระทบทั้งจากฝุ่น PM2.5 หรืออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยจนลืมว่าฤดูกาลคืออะไร ‘สังคม’ (S) คือ การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะทำอะไรในชีวิตก็ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียรอบตัวเรา เช่น เพื่อนบ้าน ชุมชน หรือนามองค์กรก็ต้องไม่เอาเปรียบและดูแลความปลอดภัยขณะทำงานให้พนักงาน ‘ธรรมาภิบาล’ (G) ที่ต้องมีคุณธรรมหรือจริยธรรมในการทำงานหรือการใช้ชีวิตต่อตัวเองและผู้อื่น


2. เพราะความบริสุทธิ์โลกไม่เหมือนเดิม


ทั้งจากธรรมชาติที่เสื่อมลงจากมนุษย์นำทรัพยากรที่โลกสร้างไว้ ใช้อย่างไม่รู้คุณค่ามากขึ้น เช่น น้ำเสีย อากาศบริสุทธิ์น้อยลง มลภาวะเป็นพิษมากขึ้น คนเริ่มมีน้ำใจหรืออยู่อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเราน้อยลง รวมทั้งยึดในสิทธิ์ของตัวเอง มากกว่าการคำนึงถึงจริยธรรมการใช้ชีวิตร่วมกันผู้อื่น


3. เริ่มง่ายๆ จากการกิน


การทำอาหารหรือสั่งอาหารอย่างพอดีไม่ให้เหลือ เรียกได้ว่าข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง ควรกินให้หมด เพราะจะช่วยลดการเกิดภาวะเรือนกระจกได้ อย่าคิดว่าเรื่องกินนี้จะทำให้โลกร้อนขนาดนั้นเลยหรือ เพราะความจริงอาหารที่ผลิตขึ้นมา 1 ใน 3 จากทั่วโลกหรือคิดเป็น 1,300 ตันได้กลายเป็นขยะจากเศษอาหาร โดยคนไทย 1 คน ได้สร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรมต่อปี ขณะที่ยังมีกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเจอกับความอดอยากขาดแคลนอาหาร

esg-lifestyle-01

4. ชอปปิ้งครั้งหนึ่งความคุ้มค่ามาก่อน


การซักฟอกหนังสัตว์และการย้อมสีจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ต้องใช้น้ำในการชะล้างหรือในกระบวนการผลิตไม่น้อย ดังนั้นอย่าเขินอายถ้าต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำบ่อยๆ หรือเป็นการเริ่มต้นปรับวิถีให้รู้จักมิกซ์แอนด์แมตซ์การแต่งตัว โดยคำนึงว่าใช้เสื้อผ้าหรือกระเป๋าหนึ่งชิ้นควรใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด หรือหาวิธีการส่งต่อเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนอยู่ในระบบสวมใส่บนโลกให้นานที่สุด เช่น การขายต่อมือสอง การบริจาค


5. แยกขยะให้เคยชิน


อย่างน้อยก็ควรแยกขยะเศษอาหารออกมา ซึ่งความจริงสามารถเอาไปทำปุ๋ยปลูกต้นไม้ได้อีกโดยหาวิธีทำจากสื่อออนไลน์ได้ทั่วไป แต่ถ้ามีทุนและเพื่อความสะดวก ก็สามารถซื้อเครื่องกำจัดเศษอาหาร รวมถึงควรล้างและแยกชิ้นส่วนพลาสติกแต่ละประเภท เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด ฉลากติดขวด


6. Empathy จะทำให้ทุกอย่างเบาลง


คิดจะทำอะไรถ้าเริ่มจากเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ น่าจะเป็นการลดต้นเหตุของปัญหาหรือการเอาเปรียบที่ส่งผลให้เกิดการวิวาทกันได้ เพียงลองคิดก่อนทำว่า สิ่งที่จะทำส่งผลให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ เช่น การปล่อยสุนัขออกไปนอกบ้านโดยไม่ได้มีการดูแลหรือฝึกให้อุจจาระเป็นที่ การซ้ำเติมคนอื่นในวันที่ทำงานผิดพลาด


7. ธรรมาภิบาลอาจเข้าใจยากแต่ทำได้ง่าย


ธรรมาภิบาลมีความเป็นนามธรรมสูงเพราะเกี่ยวกับศีลธรรมหรือจริยธรรม แต่ถ้าลองท่องคำว่า “ไม่” ไว้เสมอน่าจะเป็นตัวเบรกสติได้ระดับหนึ่ง เช่น เมื่อเห็นคนที่ทำงานมีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรก็อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างโดยคิดเพียงว่าใครๆ เขาก็ทำกัน การมองทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนดูแลบ้านหรือคนขับรถ ที่เราต้องเคารพเวลาส่วนตัวของเขาบ้าง หรือการมีน้ำใจดูแลความเป็นอยู่เขาให้ดีเหมือนคนในครอบครัว


8.ลงทุนองค์กร ESG มีชัยไปกว่าครึ่ง


ด้านการลงทุนก็กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันคำนึงถึงเรื่อง ESG มากขึ้น รวมถึงนักลงทุนรายย่อยแบบคนธรรมดาสามัญ ก็หันมาให้น้ำหนักเรื่องนี้มากขึ้น โดยมองว่าหากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย แต่กลับไม่มีนโยบายเรื่อง ESG เลย ถือว่าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงได้ในวันใดวันหนึ่ง เช่น ไม่สนใจเรื่องการค้าแรงงานมนุษย์ ทำธุรกิจหลักโดยไม่สนใจการอยู่ร่วมกันกับชุมชนที่ตั้งใกล้โรงงานของบริษัท

แม้การเริ่ม ESG เข้าไปในวิถีตอนนี้ อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ทั้งหมดแบบทันทีทันใด แต่ก็จะช่วยยืดระยะเวลาหรือความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น รู้แบบนี้แล้ว มาเริ่มต้นนับหนึ่งไปด้วยกันตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า


ที่มา
https://www.nia.or.th/ESG-sustainability-concepts-or-trends
https://www.scg.com/esg/about/
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_22May2021.aspx
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1487/iid/87343