ทำไมต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

ในช่วงล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินหลายท่านได้พูดถึงคำว่า “เงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน”  เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน เศรษฐกิจจะเติบโตหรือซบเซา หรือเกิดวิกฤติก็ต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพราะการไม่วางแผนการเงินทำให้ไม่มีมาตรการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และส่งผลต่อการสูญเสียโอกาสในด้านต่าง ๆ เช่น โอกาสในการหารายได้ ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือสูญเสียโอกาสในการศึกษาของลูก ซึ่งกลายเป็นปัญหาทางการเงินที่ยากจะแก้ไขได้


เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินคืออะไร

เงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมี เป็นเงินเก็บที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือมีเหตุการณ์อะไรที่จำเป็นต้องใช้เงินแบบกระทันหันเร่งด่วน โดยไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้  เช่น เข้าโรงพยาบาล , เกิดอุบัติเหตุ ,ซ่อมรถยนต์, ตกงานกระทันหัน  เป็นต้น

ทั้งนี้ลักษณะของเงินสำรองฉุกเฉิน ต้องมีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนได้ในทันที เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือหน่วยลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในระยะเวลา 1-2 วัน เช่น หน่วยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น , หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน  เป็นต้น

โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดวิกฤติ ถึงแม้รายได้หดหายแต่สิ่งที่ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย คือ ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเทอมลูก ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สำคัญภาระทางการเงินอาจเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น ค่าซื้อหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ อาหารแห้ง หรือประกันสุขภาพ


ถ้าวันดีคืนดีต้องจ่ายเงินกับเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น ฟันผุหลายซี่ รถพังต้องเข้าศูนย์ซ่อมด่วน เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หลังคาบ้านรั่ว ผ่าตัดไส้ติ่ง บริษัทขอลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้าง และเหตุการณ์อื่น ๆ อีกมากมาย ย่อมมีผลกระทบกับสถานะทางการเงิน ดังนั้น การมีเงินสำรองเอาไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินจึงถือเป็นทางออกที่สำคัญ

emergency1


เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ?

สำหรับการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่หลัก ๆ ให้สำรวจดูค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเองว่าอยู่เท่าไหร่

ถ้าเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ แต่ละคนควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน 10,000 บาท ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 30,000 – 60,000 บาท


แต่ในยามไม่ปกติ เช่น ช่วงวิกฤติ COVID-19 ว่ากันว่าควรเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย ๆ 8 - 10 เดือน หมายความว่าต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 80,000 - 100,000 บาท แต่หากไม่มีเงินสำรองและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดในชีวิตอาจต้องไปขอกู้ยืมและกลายเป็นปัญหาการเงินในอนาคต


เช่น นาย ก. ทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีรายได้มั่นคง โดยก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ไม่มีปัญหาด้านการเงินและมีเงินฝากบางส่วน แต่ไม่ได้สำรองเงินเผื่อฉุกเฉินเอาไว้เลย


เมื่อกลางปี 2563 นาย ก. ถูกลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 และเมื่อไม่ได้วางแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อรายได้ขาดหายไป จึงต้องถอนเงินที่ฝากเอาไว้มาเป็นค่าใช้จ่าย และต้องพยายามเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดระยะเวลาจ่ายหนี้


ขณะที่นาย ก. ขาดรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้น ทำให้เริ่มขัดสนและมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเอง ในทางกลับกันหากเขาได้วางแผนการเงินด้วยการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพื่อรองรับการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเอาไว้ ก็จะช่วยลดความเดือดร้อนทางการเงินและบรรเทาปัญหาทางการเงินได้


หลายคนอาจบอกว่ายังไม่เคยเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเลยแม้แต่เดือนเดียว ทางออก คือ เริ่มต้นลงมือเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ด้วยการวางเป้าหมายว่าแต่ละเดือนจะเก็บเท่าไหร่ เช่น 5% ของเงินเดือน เป็นต้น และควรเก็บทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ


สำหรับรูปแบบการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง และที่สำคัญเงินก้อนนี้ควรนำออกมาใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น เพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ