อย่าอยู่บน “ดอย” นานเกินไป

“ติดดอย” เป็นคำฮอตฮิตของนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง ซึ่งคำว่า “ติดดอย” เป็นคำแสลงที่ใช้กรณีเมื่อซื้อหุ้นแล้วมั่นใจว่าราคาหุ้นจะปรับสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงราคาหุ้นกลับปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แทนที่จะขายเพื่อตัดขาดทุน (Cut Loss) แต่ตัดสินใจถือหุ้นตัวนั้นไปเรื่อยๆ เพราะหวังว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง


สำหรับสาเหตุของการซื้อหุ้นแล้วติดดอยที่พบเห็นบ่อยๆ ได้แก่


1.ซื้อหุ้นที่กำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ


ยกตัวอย่าง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หุ้น XYZ ซื้อขายที่ราคา 6 บาท ปริมาณการซื้อขายต่อวันระดับไม่กี่พันหุ้น แต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายหนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 6 บาท เป็น 7 บาท 8 บาท และ 10 บาท


จากบรรยากาศการซื้อขายที่คึกคัก อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อหุ้น XYZ เพราะมองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว


สมมติว่าเข้าซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 10 บาท จำนวน 5,000 หุ้น (50,000 บาท)


แต่หลังจากนั้นราคาหุ้น XYZ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และต่ำสุดซื้อขายที่ราคา 3 บาท จากนั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะขยับขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นในแต่ละวันก็แทบจะไม่มีการซื้อขายเลย


หากนักลงทุนขายหุ้น XYZ ที่ราคา 3 บาทจะขาดทุน 35,000 บาท จึงตัดสินใจถือหุ้นต่อไปเพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งราคาหุ้นจะดีดกลับขึ้นไป ทำให้วันนี้ติดดอยหุ้นแบบไม่เต็มใจ


2.ซื้อหุ้นตามกระแส


การซื้อหุ้นลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่รู้แหล่งที่มา เช่น มีข่าวว่ามีนักลงทุนสถาบันต่างประเทศกลุ่มหนึ่ง มีความสนใจเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ABC จึงทำให้มีกระแสเงินสดไปลงทุนมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ บริษัท ABC มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น


เมื่อนักลงทุนได้ยินข่าวดังกล่าวก็ตัดสินใจซื้อหุ้น ABC ทันที โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่าย ทำให้การรับรู้ข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีสร้างข้อมูลเท็จ หากนักลงทุนไม่ระมัดระวังและหลงเชื่อก็จะได้รับความเสียหาย


กรณีดังกล่าว มักเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้สร้างกระแสข่าวต้องการขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อทำกำไร เช่น ถือหุ้น ABC ที่ราคา 10 บาท จากนั้นก็ร่วมกันสร้างข้อมูลดังกล่าวขึ้นมา เมื่อนักลงทุนคนอื่นๆ เชื่อข้อมูลและตัดสินใจซื้อหุ้น ABC ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นไป


เมื่อราคาหุ้น ABC ขยับขึ้น กลุ่มผู้สร้างกระแสข่าวจะเริ่มทยอยขายหุ้นเพื่อทำกำไรออกมา ขณะที่กระแสข่าวยังอยู่ นักลงทุนที่เชื่อข้อมูลจะยังคงซื้อกันต่อไป เช่น ซื้อที่ระดับราคา 13 บาท นักลงทุนที่ได้ยินข้อมูลทีหลังจะซื้อที่ราคาสูงกว่านี้ เช่น 14 บาท, 15 บาท เป็นต้น


หากนักลงทุนซื้อหุ้น ABC และมีความเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง จะมีความมั่นใจว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นมากกว่าราคาซื้อ อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าเมื่อกลุ่มที่ให้ข้อมูลเท็จขายหุ้นออกทั้งหมด ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะเริ่มหายไปจากตลาดด้วย เช่นเดียวกันปริมาณการซื้อขายก็จะเริ่มหดหาย ราคาหุ้นไม่ขยับ นักลงทุนต้องการขายออกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีผู้ซื้อ (เนื่องจากหุ้นตามกระแส จำนวนหุ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือรู้จักกันดีว่าหุ้นมีเจ้า) สุดท้ายก็ต้องถือหุ้นต่อไปโดยไม่เต็มใจ

3.ซื้อหุ้นที่ดี แต่ซื้อราคาแพง


ในบางครั้งสาเหตุที่นักลงทุนติดดอยมาจากหุ้นที่ดี เช่น เมื่อทำการวิเคราะห์บริษัท DEF พบว่าอยู่ในช่วงธุรกิจกำลังเติบโต ทำให้นักลงทุนทยอยซื้อหุ้น DEF อย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นเลยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง


วิธีการสังเกตว่าราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูง ดูได้จากค่า P/E Ratio ที่จะปรับขึ้นสูง เช่น จาก 10 เท่า เป็น 15 เท่า และยิ่งนักลงทุนมั่นใจว่าธุรกิจ DEF เติบโตสูงเท่าไหร่ ราคาก็จะสูงตามไปด้วย


แต่สมมติว่า ผู้บริหารบริษัท DEF ประกาศว่าผลการดำเนินงานเติบโตช้าและในอนาคตมีโอกาสหยุดการเติบโต ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาและราคาหุ้นจะปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความคาดหวังลดลง และค่า P/E Ratio ปรับลดลงเช่นเดียวกัน


หากนักลงทุนไม่สามารถขายได้ทัน หรือมีความมั่นใจว่าบริษัท DEF จะกลับมาเติบโตในปีถัดไปก็จะถือหุ้นต่อไป ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้าข่ายการติดดอยเช่นกัน


เทคนิคลงจากดอยให้เร็ว


1.ตั้งจุด Stop Loss ทุกครั้ง


หากราคาหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับขึ้นแรงและรวดเร็ว (เหมือนกรณีหุ้น XYZ) เมื่อนักลงทุนตรวจสอบข้อมูลและพบว่าไม่มีปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิครองรับ ทางเลือกแรกก็คือ ไม่ควรเข้าไปซื้อหุ้นดังกล่าว


แต่สมมติว่าเมื่อตัดสินใจซื้อหุ้นไปแล้ว นักลงทุนต้องตั้งจุดหยุดขาดทุน (Stop Loss) โดยวิธีตั้งจุดหยุดขาดทุนที่ง่ายและทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ก็คือ นำ % Stop Loss (หรือ % ที่รับได้หากขาดทุน) มาคูณกับราคาที่ซื้อ


ยกตัวอย่าง ซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 10 บาท ก็ตั้ง % ตัดขาดทุนที่ระดับ 5% จะมีจุดหยุดขาดทุนเท่ากับ 10 x 5% = 0.50 บาท หมายความว่านักลงทุนยอมรับการขาดทุนได้ 0.5 บาท ดังนั้น หากราคาหุ้นลดลงมาที่ราคา 9.50 บาท (10 - 0.50) บาท ต้องขายทันที ซึ่งการตั้งจุดหยุดขาดทุนจะไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้และความเต็มใจในการยอมขาดทุน


2.ตั้งจุดขายทำกำไรทุกครั้ง


กลยุทธ์ที่ดีของการซื้อหุ้นเก็งกำไรก็คือ “เข้าให้ไว มีกำไรให้รีบออก” เนื่องจากหุ้นลักษณะนี้จะมีปริมาณการซื้อขายสูงและความผันผวนของราคาหุ้นสูง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อซื้อหุ้นไปแล้วจะสามารถขายหุ้นได้กำไร วิธีการก็คือ วางกลยุทธ์เปิดและปิดการซื้อขายในช่วงสั้นๆ ถ้าราคาหุ้นขยับขึ้นไปก็ทำการขายทันที เทคนิคนี้เรียกว่า Scalping


ยกตัวอย่าง ซื้อหุ้น ABC ที่ราคา 6 บาท จำนวน 3,000 หุ้น (ใช้เงินลงทุน 18,000 บาท) ก็วางกยุทธ์ Scalping ด้วยการตั้งขายที่ราคา 6.20 บาท เมื่อราคาขยับขึ้นไปถึงราคา 6.20 บาท ก็ขายทันที ซึ่งจะได้กำไร 600 บาท ถึงแม้จะดูว่ากำไรไม่เยอะ แต่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้นๆ ที่เรียกว่า เล่นรอบ


3.ซื้อหุ้นที่ดี


วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวเอาไว้ว่า “การลงทุนล้วนมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น วิธีการลดความเสี่ยงลงได้ ก็คือ การหาข้อมูล การตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการลงทุนจะไม่ผิดพลาด อย่าเดาว่าจะลงทุนในหุ้นตัวนี้แล้วจะได้กำไร การเดาไม่ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงลงได้”


หมายความว่า การลดความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี ก็คือ นักลงทุนต้องหาข้อมูลสนับสนุน หมั่นศึกษาหาข้อมูล ไตร่ตรองวิเคราะห์ให้มั่นใจ โดนหุ้นที่เลือกลงทุนต้องเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไรที่ดี มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและเลือกซื้อหุ้นในราคาที่สอดคล้องกับมูลค่าหุ้น


หากนักลงทุนเลือกลงทุนหุ้นลักษณะดังกล่าวได้ นอกจากจะไม่ “ติดดอย” แล้ว ยังสามารถขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) หรือลงทุนในระยะยาวเพื่อรับเงินปันผล (Dividend) ได้อีกด้วย