ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังการเปิดเมือง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศที่หดตัวที่ -0.3% ต่อปี ใกล้เคียงกับที่เราคาดการณ์ไว้ในช่วงที่ -0.5% ต่อปี แต่ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เอกชนคาดไว้ที่ -1.6%


สาเหตุที่เราคาดไว้ในช่วงเดือนกันยายนว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ชะลอแรงเหมือนที่หลายฝ่ายคาด (เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวประมาณ 1% แม้เผชิญการระบาดรอบ 4) นั้นอยู่บนสมมติฐานสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. เราเชื่อว่าสถานการณ์โควิดใกล้เคียงกับสมมติฐานของเรา (India Model) โดยจำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดลงต่ำกว่าระดับ 10,000 คนต่อวัน ในช่วงเดือนตุลาคม
  2. อัตราการฉีดวัคซีนจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดแรงกดดันด้านสาธารณสุขได้
  3. เราคาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นช่วงๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป และจะเปิดประเทศได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาในไตรมาส 4


ภาพสมมติฐานส่วนใหญ่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดน้อยลงกว่าที่เราคาดไว้บ้างก็ตาม (ตามแบบจำลองของเรา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ควรจะอยู่ในระดับประมาณ 1,000 รายต่อวันในปัจจุบัน) แต่การฉีดวัคซีนและความพยายามอย่างยิ่งยวดของบุคลากรด้านสาธารณสุขทำให้สถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง


สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์เพิ่งจะประกาศนั้น มีองค์ประกอบสำคัญของการขยายตัวที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวสูงมาก ทำให้ GDP ขยายตัวสูงถึง 6.5% โดยมีการสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร รวมถึงคอมพิวเตอร์และอื่นๆ เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากต่างประเทศ นอกจากนั้น สินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ข้าวเปลือก ยังมีการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  2. การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคภาครัฐ มีส่วนทำให้ GDP ขยายตัว 0.4% ตามการใช้จ่ายเพื่อรักษาโควิด
  3. การลงทุนภาคเอกชน มีส่วนทำให้ GDP ขยายตัว 0.5% โดยเป็นในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวตามการปิดแคมป์คนงาน
  4. การบริโภคเอกชน มีส่วนทำให้ GDP หดตัว -1.8% จากการล็อกดาวน์
  5. การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ มีส่วนทำให้ GDP หดตัว -8.5% จากการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าบริการขนส่งที่สูงขึ้น


ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตไม่ได้แย่มากนัก เพราะยังสามารถผลิตได้แม้จะมีการล็อกดาวน์ในไตรมาสที่ 3 ก็ตาม


และเมื่อพิจารณาตัวเลขฝั่งภาคการผลิต จะพบว่าภาคเกษตรและบริการบางอย่างยังสามารถขยายตัวได้ดี อาทิ เกษตรกรรมที่ขยายตัวในผลผลิตพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ตามความต้องการโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ระดับราคาสินค้าเกษตรเริ่มหดตัวลง และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ที่ขยายตัวสอดคล้องกับผลจากการปิดเมืองทำให้ต้องติดต่อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

direction-of-thai-economy-after-open-city-01

ส่วนสาขาที่เริ่มชะลอ ได้แก่ สาขาการขายส่งและการขายปลีก ขยายตัวชะลอลงตามความต้องการอุปโภคบริโภคของภาคครัวเรือนในประเทศที่ลดลง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะสินค้าภายในประเทศตามอุปสงค์ในประเทศที่หดตัว ขณะที่อุปสงค์ภาคต่างประเทศยังขยายตัวได้ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ลดลงจากโรคโควิดที่ยังคงแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลต่อด้านการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวตามการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายน้อยลง (ส่วนหนึ่งจากการปิดแคมป์คนงาน) ขณะที่รัฐวิสาหกิจไม่มีโครงการก่อสร้างใหม่


เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ ทางสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าขึ้นจากการ Reopen ที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการแพร่กระจายวัคซีน แต่ยังกังวล

  1. ความไม่แน่นอนของโควิด
  2. ฐานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจ
  3. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงาน
  4. ความผันผวนทางการเงินโลก


โดยสภาพัฒน์ปรับเป้า GDP ปีนี้และปีหน้าขึ้นเป็น 1.2% ในปีนี้ และ 3.5-4.5% ในปีหน้า โดยมองว่าการส่งออกจะชะลอลง (ปีนี้โต 16.8% ปีหน้าโต 4.9%) บัญชีเดินสะพัดบวกอ่อนๆ ในปีหน้า (+1.0% ของ GDP) จากปีนี้ที่ติดลบประมาณ -2.5%


ในส่วนของเราเชื่อว่าประเด็นบวกของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเห็นเด่นชัดขึ้น โดยเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นในธีม 2-4-4-8 กล่าวคือ

  1. มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวประมาณ 2% ลดลงจากปีนี้ที่ประมาณ 15% จากฐานที่สูงขึ้น
  2. การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวประมาณ 4% ฟื้นตัวจากปีนี้ที่ประมาณ 1.2% ตามการเปิดเมือง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมามากขึ้น
  3. ตัวเลข GDP จะขยายตัวประมาณ 3.6-4.0% โดยเราเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะเป็นตัวฉุดดึงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น
  4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยประมาณ 8 ล้านคน โดยจะเข้ามามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังการเปิดประเทศของจีน ขณะที่ครึ่งปีแรกจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านคน


ทั้งนี้ เรามองว่าปัจจัยบวกเพิ่มเติม (Upside Risk) คือการที่รัฐบาลเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อ GDP เป็น 70% ทำให้รัฐบาลมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากจำเป็น


อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยมี 5 ประการ ดังนี้

  1. การชะลอลงของเศรษฐกิจจีน จากความเสี่ยงสามประการ คือความเสี่ยงด้านพลังงาน ด้านนโยบายเศรษฐกิจสังคมที่ตึงตัวขึ้น และจากนโยบายรัฐต่อการคุมโรคโควิด (Covid-Zero Policy)
  2. ความผันผวนด้านการเงินโลก จากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น
  3. ความเสี่ยง Global Stagflation
  4. ความผันผวนด้านภูมิอากาศโลก (Extreme Weather) อันเป็นผลพวงจากการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่น้อยและช้าเกินไป และเป็นความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทย
  5. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามเย็นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น และอาจกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนในไทยได้

ทั้งหมดนี้คือภาพเศรษฐกิจไทยหลังการเปิดเมือง ท่านทั้งหลายเตรียมพร้อมรับสมรภูมิที่เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง


ข้อมูล ณ วันที่  17 พฤศจิกายน 2564


บทความโดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน SCBS


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth