“ฟาร์มสเตย์”ฝันธุรกิจที่ท้าทายของผู้มีใจเสิร์ฟธรรมชาติ

ในวันที่คนกลับมาโหยหาธรรมชาติ และอยากพาลูกหลานไปสัมผัสชีวิตติดดินนอกเหนือจากแอร์เย็นๆ ของห้างสรรพสินค้ามากขึ้น “ฟาร์มสเตย์" จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตขึ้นมา เพราะนอกจากจะสูดอากาศท้องทุ่งและความบริสุทธิ์ของต้นไม้แล้ว ยังมีกิจกรรมรังสรรค์ให้สมาชิกครอบครัวอย่างหลากหลาย กลายเป็นตัวเลือกให้เจ้าของที่ดินหันมาสนใจธุรกิจนี้มากขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ทดลองสนามนี้ไม่น้อย


1. อิงธรรมชาติที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก


เริ่มต้นสำรวจสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม อาทิ สวน ไร่ ท้องนา คอกเลี้ยงสัตว์ หรือบ่อเลี้ยงปลา จะได้ไม่ต้องไปควานหาสิ่งอื่นมาเสริมเติมแต่ง และให้หาทางต่อยอดปรับปรุงให้งอกเงยขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่มีทุนเดิม พยายามสกัดความคิดตัวเองออกมาให้ได้ว่าชอบด้านไหน แล้วไปศึกษาด้านนั้นให้ถึงแก่น เพราะถ้าไม่ลึกซึ้งกับสิ่งนั้นจริง เห็นจะลงมือทให้เป็นรูปเป็นร่างได้ยาก


2. กิจกรรมดึงดูดใจ และต้องหลากหลายมากพอ


ฟาร์มสเตย์หลายแห่งที่อยู่ไม่ไกลตัวเมืองใหญ่ มักจะได้รับการตอบรับจากคนที่เดินทางจากในตัวเมืองมาก บางแห่งแน่นขนัดต้องจองคิวกันล่วงหน้า สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของรู้จักตระเตรียมกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการได้น่าสนใจและทั่วถึวเหมาะเจาะกับสมาชิกทุกคนในบ้าน เราอาจปล่อยให้เด็กสัมผัสโคลนจากการทำนา ผู้สูงอายุได้พักในร่มแล้วลงมือหัดผสมดินเพาะชำเพื่อกลับไปปลูกผักที่บ้านเพื่อรับประทานเอง ส่วนแม่บ้านได้เรียนรู้การแปรรูปอาหาร หรือพ่อบ้านได้วิธีทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น

why-farmstay-business-is-interesting-01

3. หาเอกลักษณ์ตัวเองให้เจอ


ลองหาจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ให้ฟาร์มสเตย์ตัวเอง เพื่อให้เป้าหมาย วิธีการทำงาน และบริหารจัดการนั้นมีทิศทางชัดเจน เช่น วางตัวเองเป็นพื้นที่เรียนรู้จากการลงมือทำในรูปแบบสาธิต ให้เด็กเข้าสู่โลกจำลองการหาอยู่หากินจากท้องนาหรือการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ ลองดำนา หาปู หาปลา เก็บไข่ไก่ไข่เป็ดมาทำกับข้าวจากเตาฟืน หรือการได้ลองปลูกข้าวอินทรีย์ที่ใช้วิถีดั้งเดิมมีการเกี่ยวข้าว ฝัดข้าว หรือทำขนมปังจากข้าว ที่สำคัญยังทำให้ผู้เยี่ยมชมจดจำและประทับใจได้ง่าย แต่อาจจะมีความเสี่ยงตรงที่ ถ้าทำไม่โดนใจ ก็อาจทำให้เกิดภาพจำที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน


4. ร้อยเรื่องราวกิจการให้เป็นหนึ่งเดียว


ลองกำหนดงานทีละขั้นตอนเพื่อร้อยเรื่องราวในฟาร์มสเตย์ว่ามีอะไรบ้าง แล้วพยายามใช้ต้นทุน ทรัพยากรที่มีอยู่ต่อยอดจากแปลงผัก คอกสัตว์ ฟาร์มวัว ว่าจะขยายผลนำผลิตภัณฑ์นั้นไปสู่ตลาดข้างนอกได้อย่างไร รวมถึงได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็น อะไรคือสิ่งที่ควรต่อเติมเพื่อไปพัฒนา เช่น การดูแลของเสียในฟาร์มให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และไม่ทำแต่กิจกรรมที่หว่านจับคนจำนวนมากด้วยการเลียนแบบวิธีการคนอื่นมา เพราะไม่ช้าคนก็จะเบื่อกับสิ่งที่เสนอซ้ำกันจนเกลื่อน ในที่สุดจะเสียเงินทุนที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบไปอย่างน่าเสียดาย

5. ฟังเสียงธรรมชาติและคนรอบข้างเสมอ


ต้องอย่าลืมแนวคิดการอิงธรรมชาติเป็นหลัก พร้อมฟังเสียงตอบรับจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะจากผู้เยี่ยมฟาร์มว่าเป็นอย่างไร น้อมนำคำติชมมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าการเปลี่ยนและปรับ ต้องไม่ลืมความเป็นตัวเอง มุ่งรักษาสมดุลธรรมชาติ และคงเสน่ห์ของชุมชน เราอาจเชื่อมโยงที่พักหรือโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียงมาให้ช่วยรับรองการท่องเที่ยว นำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนรายรอบเติบโตไปด้วยกัน


อย่าลืมว่าฟาร์มสเตย์ควรยึดโยงกับแก่นธรรมชาติไว้ ไม่ใช่เนรมิตปั้นแต่งตามกระแส เพราะอาจไม่ยั่งยืนอย่างที่อยากให้เป็น และควรสร้างความประทับใจต่อผู้มาเยือนให้มากที่สุด เพราะสิ่งนี้จะสร้างทั้งรายได้ และแรงใจ ทำให้เจ้าของฟาร์มสเตย์กลับมาพัฒนาที่ทางของตัวเองอย่างต่อเนื่อง


ที่มา
https://ismed.or.th/SPR100163.php
https://www.littleforestjapan.com/farm-stay-in-thai
https://positioningmag.com/1289665
https://www.sarakadeelite.com/lite/ahsa-farmstay
https://www.forfur.com/แต่งบ้าน/จากบ้านไม้เก่าของคุณตา-สู่-One-Chan-Farmstay-ฟาร์มสเตย์ในสวนมังคุด