ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม โอกาสที่ไม่ควรมองข้าม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจดีที่สุด คือประเทศเวียดนาม ด้วยตลาดเวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรถึง 97 ล้านคน และประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว (มากกว่า 60% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี) อาศัยในเขตเมือง มีรายได้เพิ่มจากการจ้างงานที่มากขึ้น ส่งผลให้มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ และด้วยประชากรหลักของประเทศอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวจึงมีรสนิยมชื่นชอบและเชื่อมั่นในคุณภาพนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อีกทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามแบบให้ถือครองหุ้นได้ 100% (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ - DITP) ทำให้ตลาดเวียดนาม นับเป็นตลาดหนึ่งที่ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างชาติแย่งชิงกันเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโต ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

แฟรนไชส์ในเวียดนามแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

1

ร้านอาหารกับสังคมเวียดนามที่เปลี่ยนไป

จากการสำรวจของ Decision Lab ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการตลาด เมื่อปี 2561 พบว่าปัจจุบันคนเวียดนามนิยมทานข้าวนอกบ้านและมีปัจจัยหลายอย่างในการเลือกร้านอาหาร เช่น ทำเลที่ตั้งของร้านอาหารเนื่องจากสภาพการจราจรที่หนาแน่น ร้านที่มีการตกแต่งที่สวยงาม การให้บริการที่ดีจากร้านอาหารบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ของร้านที่ดีทำให้เกิดการดึงดูดให้เข้าไปใช้บริการเพื่อพบปะสังสรรค์ และการแชร์ภาพในโซเชียลมีเดีย ส่วนปัจจัยด้านความสะอาดและรสชาติของอาหาร คนเวียดนามนับสองเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่รองลงมา และเมนูอาหารที่คนเวียดนามชื่นชอบมักเป็นอาหารจากต่างประเทศ แต่ร้านต่างๆ จะมีการปรับรสชาติ และหน้าตาให้สอดคล้องกับรสนิยมของคนเวียดนามมากกว่าที่จะคงรสชาติหรือหน้าตาแบบดั้งเดิมของต้นตำรับ


บทบาทของชานมไข่มุกในเวียดนาม

ไต้หวันเป็นต้นตำรับชานมไข่มุกที่มีความหอมของชาและรสชาติที่กลมกล่อม จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ธุรกิจชานมไข่มุกได้แพร่ขยายความนิยมไปยังประเทศต่างๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงเวียดนาม ด้วยประชากรที่มีกำลังซื้อของเวียดนามเป็นคนวัยหนุ่มสาวผู้ซึ่งเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ และชานมไข่มุกก็เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นในกลุ่มประเทศแถบ South East Asia อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ชานมไข่มุกเจ้าดังหลายแบรนด์จากไต้หวันจะครองตลาดวัยรุ่นเวียดนาม เช่น Gong Cha, Koi The, Royal Tea และ The Alley เป็นต้น


อย่างไรก็ตามคนรุ่นเก่ามองว่าการบริโภคชานมไข่มุกเป็นสัญลักษณ์ของพฤติกรรมการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง เนื่องจากราคาค่อนข้างสูงถึง 2.5 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายที่เกินตัว เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนเวียดนาม (GDP Per Capita) ในปี 2019 เท่ากับ 2,714.74 เหรียญดอล์ล่าห์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นข้อประเด็นข้อแตกต่างระหว่างวัยในสังคมออนไลน์ของเวียดนาม


กาแฟคือวิถีชีวิตของคนเวียดนาม

สำหรับคนเวียดนามนั้น กาแฟคือวิถีชีวิต คนเวียดนามผูกพันกับกาแฟมาเป็นระยะเวลานาน และกาแฟคือพืชเศรษฐกิจของเวียดนาม เป็นประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งมีความเข้มข้นของคาเฟอีนค่อนข้างสูง รสชาติจึงหวานมัน เข้มข้น ซึ่งคนเวียดนามนิยมบริโภคกาแฟวันละหลายๆ แก้ว และคุ้นเคยกับรสชาติของกาแฟมานาน


แฟรนไชส์ยอดนิยมจะเป็นแฟรนไชส์ท้องถิ่นอย่าง Trung Nguyen Coffee และ Highlands Coffee ซึ่งกาแฟแบรนด์ดังต่างชาติหลายเจ้าไม่สามารถครองใจคนเวียดนามได้ ในทางกลับกัน แฟรนไชส์กาแฟท้องถิ่นเวียดนามข้างต้น กลับสามารถทำกำไรในต่างแดนได้ไม่น้อย เพราะเอกลักษณ์ของกาแฟเวียดนามที่มีคุณภาพและรสชาติที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร จึงเป็นที่ชื่นชอบของคอกาแฟทั่วโลก


2. ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

ร้านสะดวกซื้อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนเมือง

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเติบโตขึ้นมากในเวียดนาม บนชั้นวางสินค้ามีสินค้าหลากหลายประเภท ยี่ห้อ ผู้คนสามารถเดินเลือกซื้อได้อย่างสะดวกสบาย มีทั้งสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและสินค้านำเข้าให้เลือกสรรมากมาย ปัจจุบันแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ในเวียดนามมีหลากหลายแบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ Circle K, Family Mart, Shop & Go, Vinmart+, Mini Stop เป็นต้น ซึ่งต่างก็กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ทั้งโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย รองรับการขยายตัวของชนชั้นกลาง การขยายตัวของสังคมเมือง และประชากรวัยหนุ่มสาว นับเป็นโอกาสอันดีของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อสัญชาติต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ซึ่งยังมีช่องว่างในการขยายตัวของตลาดอีกมาก และจากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ พบว่ามีสินค้าจากไทยแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยล้วนวางจำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อในเวียดนาม


3. ธุรกิจสถาบันเสริมความงาม

สถาบันเสริมความงามเติบโตได้ดีในเวียดนาม

จากข้อมูลของสำนักข่าวออนไลน์ VietnamNet รายงานว่า ภายหลังจากเวียดนามได้นำสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 7 รายการออกจาก Tariff line  ทำให้แบรนด์ที่ให้บริการความงามและดูแลผิว โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้เข้ามาเจาะตลาดเวียดนามผ่านรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพ  ดึงดูดธุรกิจสถาบันเสริมความงามจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม                


4.ธุรกิจสถาบันกวดวิชา

การศึกษาคุ้มค่ากับการลงทุน

จากการสำรวจของ DITP พบว่าในช่วง ปี 2556 – 2562 ประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 91 ล้านคน เป็น 97 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรชาวเวียดนามส่วนใหญ่จึงอยู่ในวัยศึกษา และด้วยประเทศอยู่ในช่วงเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับภาครัฐบาลได้เร่งพัฒนาทางด้านการศึกษาให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่ห่างไกลนอกเหนือจากเมืองใหญ่


PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นโครงการวัดความสามารถในการอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พบว่าในปี 2561 ประเทศเวียดนามมีผลการประเมินอยู่ในอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และผลการประเมินของ PISA ประเทศเวียดนามมีผลการประเมินในอันดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในกลุ่ม OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปเข้าเป็นสมาชิกด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น


ความเชื่อมั่นในการศึกษาของคนเวียดนาม นิยมการศึกษาภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐบาล เชื่อว่าหลักสูตรภาครัฐบาลหนักเกินไป ล้าสมัย และไม่ยืดหยุ่น มักจะถูกบังคับให้เรียนในชั่วโมงเรียนเสริม คนเวียดนามจึงนิยมส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีหลักสูตรที่ไม่หนักและมีเวลาให้เด็กๆ มากกว่า หลังเลิกเรียนและวันหยุดจึงพาไปเรียนกวดวิชา นอกจากนี้โรงเรียนเอกชนมีการสอนวิชาภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตวัยทำงานได้ อย่างไรก็ตามโรงเรียนรัฐบาลก็ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำ และในกลุ่มนักเรียนในระดับขั้นมัธยมปลาย เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย


นอกจากนี้ทางด้านการเรียนรู้เพื่อเพิ่มเติมทักษะเป็นกิจกรรมที่คนเวียดนามให้ความสนใจ อาจจะเป็นคอร์สหลักสูตรระยะสั้น เพื่อฝึกอบรมทักษะการใช้ชีวิต ศิลปะ กีฬา ดนตรี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางด้านร่างกาย และจิตใจ เป็นการเพิ่มทักษะประสบการณ์ชีวิต


สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ทางด้านการศึกษาจึงเป็นแฟรนไชส์ท้องถิ่น เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจในหลักสูตรการเรียนการสอนของเวียดนามเป็นอย่างดี


ความท้าทายของธุรกิจแฟรนไชส์คือการควบคุมคุณภาพให้คงมาตรฐานเหมือนเจ้าของแฟรนไชส์ ทางออกคือการมีมาสเตอร์แฟรนไชสร์ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ก็จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ เวียดนาม 


อ้างอิงข้อมูล

1. SCB Economic Intelligence Center. “CLMV Outlook Q1 2020”. https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/6817/fndo9rf8k7/CLMV_Outlook_1Q2020_TH.pdf (accessed 9/11/2020)

2. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์สนับสนุนธุรกิจใน AEC. “ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม”. https://www.ditp.go.th/contents_attach/537414/537414.pdf (accessed 9/11/2020)

3. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. “ธุรกิจด้านการศึกษาในเวียดนาม”.  https://ditp.go.th/contents_attach/567204/567204.pdf (accessed 9/11/2020)

4. DITP. “ข้อมูลการลงทุนในประเทศเวียดนาม.” https://www.ditp.go.th/contents_attach/539710/539710.pdf (accessed 1/2/2021)

5. GotoKnow. “OECD คือใคร ทำไมต้องทำตาม กิตตินันต์ พิศสุวรรณ นักวิชาการอิสระ 13/3/2561_2018.” https://www.gotoknow.org/wiki/pages/347 (accessed 1/2/2021)