มองโลก 2 ใบผ่านการเปลี่ยนแปลงทุกยุคสมัยของมนุษยชาติ

ในวันนี้ ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในแทบทุกวงการทั่วโลก ไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งหรือขัดขวางการเติบโตได้ มีเพียงแค่การยอมรับและปรับตัวให้เท่าทัน ก่อนที่จะถูก Disrupt กลืนหายไปในที่สุด ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ได้แชร์วิสัยทัศน์ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตร Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 4  ดังนี้


ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ

นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนำเสนอผลงานวิจัยว่า มนุษย์นั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 3 ยุค ยุค World 1.0 เกิดการเปลี่ยนแปลงปลายสมัยอยุธยาเป็นช่วงที่ยุโรปออกจากยุคมืด เรียกว่าเป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมมีการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ หลังจากการค้นพบทำให้วิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาไม่นานเป็น ยุค World 2.0 มีการค้นพบพลังงานไฟฟ้า ยุค World 3.0  เป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านจาก Analog  เป็น Digital  ดร.ไพรินทร์เล่าเสริมว่า ในตอนนั้นเป็นปีแรกที่วิศวะจุฬาฯ อนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องคิดเลขในห้องสอบได้  สำหรับคน Gen X จะอยู่คาบเกี่ยวระหว่างโลก Analog กับโลก Digital  ส่วน Gen Z และ Alpha เป็นพวก Digital Native ซึ่งได้มีการทดลองนำโทรศัพท์แบบหมุนไปให้เด็กรุ่นนี้ใช้ ปรากฎว่าใช้ไม่เป็น เมื่อถามว่า ยุค World 4.0 คืออะไร? ดร.ไพรินทร์ตอบว่าไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร  แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์จำนวนมาก

สปีดของ Digital Transformation

ตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าของ Hardware เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูได้จาก Hard Disk ยุคแรก 5 Megabyte ขนาดเท่าตู้เก็บของ จนตอนนี้กลายเป็น Micro SD Card 1 Terabyte ขนาดเท่าปลายนิ้วมือ จะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าของ Hardware เป็นแบบ Exponential ขณะที่ความก้าวหน้าของ Software ก็เติบโตไม่แพ้กัน Memory มีขนาดใหญ่ขึ้นขณะที่ CPU ก็ขนาดเล็กลง สังเกตได้ว่าในช่วงที่มีการพัฒนา Hardware วิศวกรคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แต่เมื่อพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง Software ก็เริ่มมีบทบาท โปรแกรมเมอร์จึงมีบทบาทสำคัญ แต่พอใช้ Hardware กับ Software มากขึ้น ทำให้เกิด Data จำนวนมหาศาล ตอนนี้ Data กลายเป็นสินทรัพย์ขององค์กร Data Scientist จึงมีบทบาทในการนำประโยชน์จาก Data มาใช้


ย้อนรอยประวัติศาสตร์ยุคดิจิทัล

ในยุคแรกคือ Web 1.0 เป็นยุค Basic Web , Java , Html   ยุคที่สองคือ  Web 2.0 เป็นยุคที่นำคอมพิวเตอร์มาต่อกันจนเกิดเป็น Social Network และตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ยุคที่สามคือ Web 3.0 เป็นยุคที่โลก Social Network สามารถสร้างสิ่งของเทียมขึ้นมาได้ จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ได้เกิดมาจากนักวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดเพราะพัฒนาการตามธรรมชาติของเทคโนโลยีนั้นเป็นแบบ Exponential

จากภาพประกอบจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีถูกลงแบบ Exponential  ทั้ง Storge, CPU, Sensor และ Bandwidth (การส่งข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการดิจิทัล ฉะนั้นในยุคนี้ ถ้าใครคิดจะใช้เทคโนโลยีเพื่อทำอะไรสักอย่าง จะทำได้ง่ายขึ้นเพราะต้นทุนถูกลงเรื่อย ๆ


ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด Digital Vortex หรือกระแสน้ำวนดิจิทัลที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดการ Disruption มีนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำถามว่า แล้วจุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลงคืออะไร? คำตอบคือไม่มีใครรู้ แต่ตอนนี้ Elon Musk ให้ทุนวิจัยในการเชื่อมต่อสมองสัตว์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ และในอนาคตถ้าสมองของมนุษย์สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีหนังไซไฟที่เล่าเรื่องของ Humanoid ที่นำไปสู่การทำลายล้างโลกกับหนังที่เล่าถึงการไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองความก้าวหน้าของโลกอนาคต “แต่เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว มนุษย์จะเดินไปทางไหน แต่ที่แน่ ๆ จุดสิ้นสุดนี้จะมาอย่างรวดเร็วแน่นอน และอาจจะมาตอนที่ผมยังมีชีวิตอยู่ก็ได้”  ดร.ไพรินทร์ กล่าว


โลกจริง VS  โลกเสมือน

ทุกวันนี้โลกของเรามี  2 ใบ โลกใบที่หนึ่งคือ โลกทางกายภาพ มีประชากร 7 พันกว่าล้านคน ประกอบด้วย 195 ประเทศ ทุกประเทศมีเส้นแบ่งดินแดน กฎหมาย ธนาคารกลาง สกุลเงินของตัวเอง ขณะที่โลกใบที่สองคือ โลกดิจิทัล มีประชากร 4.5 พันล้านคน (คิดเป็น 70% ของคนจากโลกใบที่หนึ่ง) เพียงแต่โลกใบที่สองเป็นโลกที่ไร้พรหมแดน ไม่มีเพศ วัย ชาติ กฎหมายหรือแม้แต่ธนาคารกลาง โดยโลกทั้งสองใบนี้ ถูกเชื่อมต่อกันผ่านดาวเทียม, 4G 5G, ไฟเบอร์ออปติก ทุกวันนี้คนจะอยู่บนโลกสองใบ และจะใช้เวลาอยู่ในโลกใบที่สองยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าโลกจริงกับโลกเสมือนมีความแตกต่างกันเยอะมาก บนโลกดิจิทัลข้อมูลวิ่งเร็วยิ่งกว่าแสง อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลจะรวดเร็วมากทำให้คนที่อยู่บนโลกใบที่สองนี้ ใจร้อนทนรออะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็น Intangible จับต้องไม่ได้ และ Dynamic เร็วมาก แต่ถ้าจะบอกว่าโลกทั้งสองใบนั้น แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงก็ไม่จริงเช่นกัน เพราะมีการเชื่อมต่อบางส่วน (ภาพประกอบ)

จากภาพประกอบ ในโลกกายภาพนักเศรษฐศาสตร์ได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ภาค  1. ภาคธุรกิจ (Real Sector) เช่นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) และ 2. Financial Sector ในส่วนของ Financial Sector จะเห็นได้ว่าเงินนั้นไม่มีอยู่จริง ยุคแรกเกิดจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน ต่อมาก็หาสิ่งที่สะดวกในการแลกเปลี่ยนมาเป็นตัวกลาง เช่น ทองคำ ต่อมาเป็นเหรียญ ต่อมาก็ใช้กระดาษโดยต้องมีการรับรองกระดาษใบนี้ จะเห็นได้ว่าเงินเป็นสิ่งสมมติไม่มีอยู่จริง ดังนั้น เงินที่มนุษย์คิดขึ้นมาจึงเรียกว่า Fiat Money  เราจึงไม่เรียกเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสมมติว่า Real Sector เรียกว่า Financial Sector โดยมีคนที่ดูแลคือธนาคารกลาง  และเมื่อ Financial Sector เป็นสิ่งสมมติ จึงมีความเชื่อมโยงกับโลกเสมือน  ดังนั้น เมื่อมีคนทำอะไรให้เกิดขึ้น ใน Financial Sector จะถูกเรียกว่า Fintech


รู้จักเงินบนโลกเสมือน

เนื่องจากเงินเป็นสิ่งสมมติ ทำให้คนมีความคิดทำเงินบนโลกดิจิทัล โดยต้องทำการยืนยันความมีอยู่ของสิ่งของนั้นให้ได้ จึงเป็นที่มาของ Blockchain ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2009 โดยคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto คิด Algorithm ขึ้นมาเพื่อใช้ในโลกดิจิทัล Algorithm ของ Blockchain ทำให้สิ่งที่ไม่มีกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่ โดยมี Smart Contract เป็นหลักฐานในการยืนยันการมีอยู่ของสิ่งๆ นั้น และถูกกำกับโดยระบบของ Blockchain สามารถตรวจสอบการมีอยู่บนระบบได้ โดยให้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่มากมายในระบบทำตัวเป็น Distributed Ledger คอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน


ในทางทฤษฎีนั้น Algorithm ของ Blockchain  ไม่มีใครโจมตีหรือทำลายได้ หลายคนจึงเชื่อว่าเทคโนโลยี Blockchain มีความมั่นคง แต่เงินในโลกดิจิทัลไม่ได้มีแต่ Cryptocurrency อย่างเดียว มีคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ Baby Bloomer กลับมองว่า Cryptocurrency เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรยึดถือได้ จึงทำให้เกิดเงินในโลกดิจิทัลอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศแต่ความจริงก็คือเงิน Fait ในรูปดิจิทัล นอกจากนี้ยังมี Stable Coin เป็นเงินดิจิทัลลูกผสมระหว่าง Cryptocurrency กับ CBDC โดยต้องนำเงินไปยึดโยงกับอะไรบางอย่าง  เช่น ออกเงินดิจิทัลแล้วเอาเงินไปยึดโยงกับมูลค่าเงินดอลล่าร์เพื่อให้ค่าเงินค่าคงที่  เช่น Libra ของ Facebook


เมื่อถามว่า Cryptocurrency กำลังจะล่มสลายหรือไหม?  ดร.ไพรินทร์บอกว่า อยากให้มองว่า  1 Bitcoin ก็ยังมีค่าเท่ากับ  1 Bitcoin  แต่สิ่งที่ทำให้ดูว่าล่มสลาย ก็เพราะว่าคนนำค่า Bitcoin ไปเชื่อมโยงกับค่าเงิน Fait ทำให้ผู้ถือเกิดความหวั่นไหวจากค่าเงิน Bitcoin ที่ร่วงลงมา  แต่ในความจริง Value ของ Bitcoin อยู่ที่ศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง


มีคนพูดกันว่าเงิน Cryptocurrency เป็นเงินที่ไม่โปร่งใส?  ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า อันที่จริงเงิน Cryptocurrency เป็นเงินที่โปร่งใสมากที่สุดในโลก เพราะทุกครั้งที่ทำธุรกรรมจะมี Code เป็น Block นำไปเก็บอยู่ใน Blockchain แล้ว Block ที่เข้าไปอยู่ในระบบจะอยู่ต่อกันไปชั่วกัลปาวสาน สามารถเข้าไปตรวจสอบ Transaction ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างใครกับใคร ในทางตรงกันข้ามเงิน Fait ต่างหาก ที่ไม่โปร่งใส เพราะไม่สามารถติดตามที่มาที่ไปของเงินได้  เช่น  ถ้ามีคนทำเงิน 1,000 บาท 1 มัด ตกไว้ข้างทาง แล้วมีคนหยิบไปใช้สามารถใช้ได้เลย ไม่มีใครรู้ที่มา ที่ไป ของเงินก้อนนั้นว่าเป็นของใคร

Data ขุมทรัพย์โลกดิจิทัล

นอกจากเรื่องเงินบนโลกดิจิทัลแล้ว ดร.ไพรินทร์ ยังกล่าวว่า โลกดิจิทัลกำลังขยับเข้ามาใกล้โลกทางกายภาพมากขึ้นทุกที เช่น  Internet of Things ต่อไปสิ่งต่าง ๆ บนโลกกายภาพจะมีความ Intelligent เราสามารถควบคุมหรือพูดคุยกับสิ่งนั้นได้ จะเห็นได้ว่าพอโลกเข้าสู่ยุค Web 3.0 ทุกอย่างจะ Decentralize หมด ไม่มีใครควบคุมจึงเป็นที่มาของคำว่า DeFi หรือ Decentralized Finance ที่มีเทคโนโลยี Blockchain มาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางและจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง C2C ทำให้เวลาทำธุรกรรมค่าธรรมเนียมจะต่ำมาก


ในโลกดิจิทัล Data คือ สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด การจะทำให้เกิด Data ได้จะต้องทำให้เกิด Engagement พอเกิด Engagement ก็จะเกิด Data มหาศาลและ Data จะนำไปสู่การเกิด Usefulness ที่นำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด ฉะนั้นคนที่มี Data มากก็คือ ผู้ที่ชนะ ทั้งนี้การจะนำ Data ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ก็ต้องมี AI เป็นผู้ช่วย ก่อนจากกัน ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า “บนโลกไซเบอร์เราอาจไม่รู้เลยว่าคนที่คุยกับเราอาจไม่ใช่มนุษย์ เพราะโลกดิจิทัล ไม่มีเพศ ไม่มีวัย ไม่มีกฎกติกา”


ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การที่ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกจากความท้าทายที่ยากจะคาดเดาได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำ Digital Transformation นับเป็นอาวุธลับที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถให้ภาคธุรกิจได้อย่างมั่นคง แม้จะอยู่ในภาวะที่ยากลำบากก็ตาม

ที่มา :  หลักสูตร Mission X : The Boot Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่น 4 โดย ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่