ไขกุญแจการเรียนรู้ยุคดิสรัปชั่น Learning Mindset & Space for Sharing

ในฐานะผู้บุกเบิกและร่วมขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง “มิหมี-อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” CEO & co-founder แห่ง Techsauce แพลตฟอร์มรวบรวมความเคลื่อนไหวและสาระประโยชน์ต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพ มองว่าหนึ่งในกุญแจไขสู่ความสำเร็จขององค์กรยุคปัจจุบัน ไม่ได้อยู่แค่คน (PEOPLE) วิสัยทัศน์ (VISION) ภารกิจ (MISSION) แต่ยังรวมไปถึง “วัฒนธรรมองค์กร” อันแตกต่างเฉพาะตัว เพราะนี่ไม่ใช่แค่ภาพที่มองกันแค่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพที่คนภายนอกมองเข้ามาด้วยว่าองค์กรนั้นๆ ให้คุณค่ากับอะไรด้วย!

learning-mindset 3

คนพร้อมเรียนรู้ต้องมาก่อน!

ยกตัวอย่าง Techsauce ที่ไม่ได้เน้นให้คุณค่ากับคนเก่งเป็นสำคัญ แต่จะเน้นการแชร์ประสบการณ์ให้คนอื่นในองค์กรได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน และถ้าให้ต้องเลือกระหว่างคนเก่งแต่มีปัญหา ไม่สามารถร่วมงานกับคนอื่นได้ กับคนไม่เก่งแต่พร้อมเรียนรู้ มี “Learning Mindset” เราก็จะเลือกคนที่พร้อมเรียนรู้ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ คล้ายกับที่ “ดร.จาชชัว แพส” จาก AddVentures by SCG เคยกล่าวไว้ว่า การเลือกคนมาทำงานด้วยนั้น จะให้ความสำคัญกับทัศนคติและความหลงใหล (Passion) เพราะทำให้คนคนนั้นมี Learning Mindset ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอด

ส่งต่อองค์ความรู้แก่เพื่อนร่วมองค์กร

อีกมุมหนึ่งในแง่ของการชมเชยเมื่อคนในองค์กรทำงานเก่ง ทำงานดี เราจะไม่ชมเชยเฉพาะเรื่องทำงานเก่งเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นการแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ ให้คนอื่นๆ ในองค์กรได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน


เพราะหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้องค์กรพัฒนาได้ในยุคนี้ จำเป็นจะต้องมี “Space for Knowledge Sharing” หรือการเปิดพื้นที่ให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ เช่น มีประสบการณ์ตรง หรือไปร่วมงานสัมมนาแล้วมีเรื่องที่ต้องการแบ่งปันให้คนอื่นได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน   “ความสำคัญคือการส่งต่อสิ่งที่เรียนรู้มา แล้วนำมาปรับใช้ในองค์กรอย่างไร ไม่ใช่แค่การเรียนรู้อะไรมาเท่านั้น”


องค์กรในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเน้นการสร้าง “Growth Mindset and Project Based Learning” ให้มากขึ้น หากมองในกรณีที่มีคนจะลาออกจากบริษัท การรับคนใหม่เข้ามาทำงานแทนที่คนเก่า องค์กรต้องเสียเวลาอบรมกว่าจะทำงานได้ ในกรณีนี้อาจลองหาวิธีอื่นเพื่อย้ายพนักงานคนนั้นไปอยู่ในแผนกอื่นที่เขาสนใจ หรือสร้างโปรเจ็กต์พิเศษขึ้นมาให้ได้ทดลองงานใหม่ ไปจนถึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น Hackathon เพื่อฝึกพัฒนา Mindset คนในองค์กร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแผนกต่างๆ ในองค์กร และยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละแผนกให้เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย 

เปิดกว้างพื้นที่การสื่อสาร

นอกจากเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแล้ว “Clear & Effective Communication” หรือการสื่อสารภายในองค์กรที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้คนในองค์กรได้พูดคุยสะท้อนสภาพการทำงาน อุปสรรค ปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ โดยการสื่อสารอาจทำเป็นรูปแบบการประชุมหรือพูดคุย ขณะที่บางครั้งอาจต้องเป็นรูปแบบเปิดให้บุคคลที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนทรงประสิทธิภาพสอดรับกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเปิดกว้าง ให้คนกล้าคิด กล้าทดลองสิ่งใหม่ คนที่เป็นหัวหน้าต้องไม่ใช่แค่ Sympathy หรือเห็นอกเห็นใจลูกน้องเท่านั้น แต่ต้อง Empathy พาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับความรู้สึกของลูกน้องด้วย  ผ่านการจัด ONE-ON-ONE Meetings กับลูกน้อง โดยไม่จำเป็นต้องคุยแค่เรื่องงาน อาจแค่กินกาแฟ พูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ หากมีจังหวะก็ค่อยคุยว่าทำงานมีปัญหาอะไรบ้าง ให้เขารู้สึกเหมือนคุณเป็นที่พึ่งได้

สร้างความโปร่งใสในองค์กร

สิ่งสำคัญอีกประเด็นคือ “Cultivating a Culture of Transparency in the Workplace” หรือการสร้างความโปร่งใสภายในองค์กรในแง่มุมต่างๆ อย่าให้คนภายนอกเข้ามามีอิทธิพลมากกว่าคนภายใน เช่น เมื่อมีข่าวซุบซิบจากคนนอกว่าพนักงานจะลาออก ก็ต้องเรียกมาเพื่อพูดคุย อย่าเลือกใช้วิธีเลย์ออฟเขาไปก่อนหรืออาศัยความเงียบหนีการพูดคุย


สำหรับบางกรณี อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการ Stop Toxic เพื่อแก้ปัญหาในองค์กร ยกตัวอย่างหากต้องรับคนเก่งที่มาทำงานแต่ดันมีอีโก้สูง พอเขาทำงานแล้วพานให้คนอื่นมีปัญหา หากเราเลือกเก็บคนนี้ไว้เพราะเกรงใจ ก็อาจกระทบการทำงานทั้งระบบ ต้องเลือกตัดทิ้งให้เร็ว เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับองค์กรในระยะยาว

 

ที่มา :  การประชุมสัมมนา IBE – Innovation Based Enterprise Course ในหัวข้อ Creating an Innovative Culture/Innovation Leadership  ที่ FYI Center วันที่ 22 ต.ค. 2562