นวัตกรรมฝ่าวิกฤต คิดได้ ทำได้ ขายได้

ในวันที่เทคโนโลยีและเมกะธีมใหม่มาดิสรัปธุรกิจรูปแบบเดิม นวัตกรรมจึงเป็นเครื่องมือที่ผู้ประกอบการต้องแสวงหามาช่วยธุรกิจให้ปรับตัวรอดจากวิกฤตแห่งความเปลี่ยนแปลง คุณปริวรรต วงษ์สำราญ  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมแบ่งปันมุมมองการนำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจให้ตอบโจทย์การเติบโตได้อย่างแท้จริง


ความสำคัญของนวัตกรรมท่ามกลางวิกฤต


ในมุมมองของคุณปริวรรต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเดียวกัน ธุรกิจแต่ละประเภทกลับได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เช่นในวิกฤตโควิด ธุรกิจเกี่ยวกับ Tech Tourism ได้รับผลในแง่ลบเต็มๆ ขณะที่ก็เป็นโอกาสที่ Tech Education เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ รวมถึง Tech Finance การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้เติบโต สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการก็คือการหานวัตกรรมมา transform ตัวเองให้อยู่ในกระแสหลักของโลกธุรกิจหลังวิกฤตให้ได้


สำหรับธุรกิจทั่วไป นวัตกรรมได้นำมาใช้กับการพัฒนาสินค้า (Product Innovation) พัฒนากระบวนการ (Process Innovation) พัฒนางานบริการ (Service Innovation) สำหรับสตาร์ทอัพจะมีในส่วนของ Business Model Innovation เพิ่มเข้ามาด้วย

innovation_amid_crisis-01

Innovation กับ Invention ต่างกันอย่างไร


คุณปริวรรตกล่าวถึงความหมายของ Invention ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในโลก (New to the World)  ประดิษฐ์คิดค้นได้เป็นคนแรก (Discovery) จดสิทธิบัตรได้ คุณค่าหลักอยู่ที่งานวิจัย (Research Interest) แม้จะไม่แน่ใจว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าได้หรือไม่  เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (Uniqueness)  เน้นที่ทักษะด้านวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ (Based on Scientific Skills)


ขณะเดียวกัน Innovation หรือนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าใหม่ แต่เป็นสินค้าที่สร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า (Create new value to customers) สามารถสร้างความต้องการ (Create Demand) ให้ลูกค้า (Adding Customer Value) และสามารถผลิตซ้ำๆ สร้างผลกำไรทางธุรกิจได้ (Profitable Deployment) กล่าวคือ Innovation เน้นที่กลยุทธ์ธุรกิจเป็นสำคัญ (Based on Business Strategy) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เคยเป็นนวัตกรรม เมื่อเวลาเปลี่ยนไปก็อาจไม่ใช่นวัตกรรมก็ได้ เพราะความต้องการของลูกค้าเปลี่ยน ไม่ต้องการใช้สินค้านั้นอีกต่อไป


ในมุมมองของคุณปริวรรตไม่ใช่ทุกสินค้าจะสามารถขายได้ เพราะไม่สามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้ลูกค้า แต่ Innovation ทำแล้วต้องขายได้ ถ้าทำแล้วขายไม่ได้ ก็ไม่ใช่นวัตกรรม แม้นวัตกรรมจะทำได้ยาก แต่ถ้าไม่ทำก็ต้องขายสินค้าในราคาที่ถูกลงและถูกดิสรัปออกจากตลาดไปในที่สุด ดังนั้น ต้อง transform หาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งการ Transform ธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้ได้ จึงจะสามารถ Transform ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คิดได้ ทำได้ ขายได้หรือเปล่า?


นอกจากประเด็นเรื่องคุณค่าแล้ว นวัตกรรมต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่


1) คิดได้ (Ideation) คิดไอเดียได้แล้ว ก็ต้องมีการพิสูจน์ไอเดียว่าจะขายได้หรือไม่ด้วยการถามลูกค้าผ่านการ สำรวจความคิดเห็น สัมภาษณ์ ทำ Focus Group ฯลฯ


2) ทำได้  (Minimum Viable Product) เมื่อได้ไอเดียที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ก็ต้องมีเทคโนโลยีทำให้ไอเดียสร้างขึ้นมาได้ เริ่มจากตัวตนแบบในห้องแล็บ (Laboratory Prototype) ตัวตนแบบวิศวกรรม (Engineering Prototype) ตัวตนแบบการผลิต (Field Prototype) จนสินค้าผลิตออกมา (Production)


3) ขายได้ (Commercialization) เมื่อมีสินค้าแล้ว มีแผนทำธุรกิจอย่างไร? ถ้ามีตลาดอยู่แล้ว มีแผน Acquisition ลูกค้าจากคู่แข่งอย่างไร หรือถ้าต้องสร้างตลาดใหม่ ลูกค้าคนแรกของเราคือใคร จะได้มาอย่างไร คุณปริวรรตมองว่าลูกค้าคนแรกสำคัญมาก  เพราะทำให้รู้ว่าจะหาลูกค้าคนต่อไปได้จากที่ไหน


ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะหยุดอยู่ที่ข้อ 2  เพราะเน้นเทคโนโลยีมากเกินไป  แต่ไม่รู้ว่าธุรกิจจะเอาไปสร้างคุณค่าในลูกค้าได้อย่างไร บางครั้งนวัตกรรมก็อาจจะเกินความต้องการของลูกค้า ดังนั้นการนำนวัตกรรมสู่ตลาด ต้องให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าด้วย ต้องทดสอบตลาดก่อนว่าลูกค้ารับเทคโนโลยีนี้ได้หรือไม่ (Early Adopter)


Open Innovation


ในปัจจุบัน ขั้นตอนการคิดค้นนวัตกรรม เจ้าของธุรกิจไม่ต้องตั้งห้องแล็บเอง เพราะมีการค้นคว้าวิจัยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ในขั้นตอนการสร้างสินค้าออกมาทดสอบตลาด ก็ไม่ต้องตั้งโรงงานเอง สามารถใช้โรงงานสร้างต้นแบบขององค์กรที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ดังนั้น ถ้าเรามีไอเดียดีๆ อย่าปิดตัวเอง ในส่วนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ก็ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ


สุดท้าย คุณปริวรรตกล่าวถึงผู้ประกอบการว่า สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยน Mindset ซึ่งผู้ประกอบการบางคนกลัวการทำนวัตกรรม กลัวว่าจะยุ่งยาก แต่สิ่งที่ควรจะกลัวมากกว่าคือการที่ลูกค้าจะไม่สนใจเราอีกต่อไป ถ้าไม่ transform ตัวเราเอง เราจะถูกดิสรัปให้ transform ในตอนที่เราไม่พร้อม เปรียบเหมือนคนจะจมน้ำ แต่ถ้าเรา transform ตัวเองตอนนี้ ก็เหมือนกับเราหัดว่ายน้ำ  ดังนั้นอย่าให้คนอื่นมาดิสรัปเรา ทำให้ลูกค้าหนีจากเราไป เส้นทางของการ transform คือถามลูกค้าว่าต้องการอะไร หาลูกค้ากลุ่มใหม่ ยิ่งถ้าเราเข้าใจลูกค้า ก็จะรู้ว่าควรไปทิศทางไหน และสามารถ transform ตัวเองจากตัวเองจาก SME เป็น Innovation Based Enterprise (IBE) ได้ในที่สุด


ที่มา : คอร์สอบรมออนไลน์ SCB SME : Innovation Based Enterprise#3 “Tech & Innovation Transform” วันที่ 5 มกราคม 2565