1 ปีแห่งการล้ม ลุก เรียนรู้ ของ ROBINHOOD เส้นทางจากแอปเพื่อคนตัวเล็กสู่ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย

จากปรากฎการณ์ในรอบ 1 ปีของ “Robinhood” แอปเพื่อคนตัวเล็ก แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย ที่ได้รับการตอบรับจากร้านค้าและลูกค้าผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเป็นอย่างดี เติบโตก้าวกระโดดในทุกมิติ ด้วยยอดลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ-ส่งอาหารกว่า 26,000 คน พร้อมเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยผ่าน 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food ได้แก่ บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) เพื่อมุ่งขยายฐานลูกค้าผู้ใช้งาน พร้อมเสริมงานให้ไรเดอร์ผ่านบริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) และบริการรับ-ส่งของ (Express Service) คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และคุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เผยแนวคิดการนำ “Robinhood” มุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” เป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (Regional Player) ภายในปี 2565

5 Moment ความทรงจำ ล้ม-ตั้งไข่-คลาน-เดิน-วิ่ง สร้างตัวตน Robinhood

หากเปรียบ Robinhood เป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง การเติบโตในรอบขวบปีนับจากวันที่ถือกำเนิด ย่อมผ่านการหัดตั้งไข่ ล้มลงคลาน ลุกขึ้นยืนใหม่ เดินให้แข็งแรง จนเริ่มวิ่งได้  จากวันเปิดตัวแอป Robinhood ครั้งแรกในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 คุณธนาได้เล่าถึงเรื่องราว 5 ความทรงจำเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น Robinhood ในวันนี้


1. Idea Moment : แอป Robinhood เกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCB ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยความคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ CEO สั่งอาหารทางแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ ในวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงการล็อคดาวน์ครั้งแรก การทำ CSR ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดขณะนั้น อยู่ในรูปแบบการบริจาคเป็นส่วนใหญ่ คุณธนาเล่าถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า “แม้จะไม่รู้ว่าจะสู้กับบริษัทใหญ่ระดับโลกที่ทำแอปแบบนี้อยู่ในตลาดได้อย่างไร และทุนที่ให้มาตอนนั้น 150 ล้านบาท ในขณะที่คนอื่นใช้กันเป็นพันล้าน อย่างไรก็ดี CEO ตัดสินใจแล้วว่าจะทำแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ จุดนี้ถือเป็น Moment การก่อกำเนิดของแอป Robinhood”

2.Fail Test Moment การล้มครั้งแรก : เดิมทีตั้งใจจะเปิดให้บริการ Robinhood ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ในช่วงเดือนสิงหาคมก่อนการเปิดตัว CEO ก็ตั้งคำถามว่าทีมงานจะสามารถรับ Transaction ได้ถึงวันละหมื่นรายการได้หรือไม่? แม้ทีมงานทำการทดสอบ Stress Test ว่าสามารถทำได้ แต่ CEO ต้องการให้ทำการทดสอบด้วยการรับออเดอร์จริง ส่งอาหารจริง จึงทดลองให้พนักงานสาขาหมื่นกว่าคนกดเข้าระบบสั่งออเดอร์จริงในช่วงพีคไทม์ 11.00-13.00 น. ปรากฏว่าระบบล่มทันที “สิ่งนี้ทำให้รู้ว่าเราเป็นมือสมัครเล่น จึงต้องเลื่อนการเปิดตัวแอปไปถึงวันที่ 26 ตุลาคม ระหว่างนั้นก็ใช้วิธี Test จริง เจ็บจริง ให้สาขาสั่งไปเรื่อยๆ จนระบบรองรับได้หมื่นคนจริงๆ นับเป็นโชคดีของเราที่ CEO มีไม้บรรทัดที่สูง ทำให้เราได้ทดสอบก่อนและเมื่อเปิดใช้งานจริง ระบบก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น” คุณธนากล่าว

3. Hail Mary & ไข่ดาว Moment : ในช่วงแรก Robinhood มีผู้ใช้งานราว 5,000 ออเดอร์ต่อวัน ในเดือนมิถุนายนเพิ่มมาเป็นวันละ 2-3 หมื่นออเดอร์ จุดเปลี่ยนคือในช่วงวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2564 ที่เกิดการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ CEO มองว่าเป็นเวลาสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์รอบนี้ นอกจากเป็นการทำ CSR ครั้งใหญ่แล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด Robinhood จึงทำโปรโมชั่นส่งฟรี ส่งผลให้ยอดออเดอร์พุ่งขึ้นมาแตะ 2 แสนต่อวัน ซึ่งแม้จะทำให้ระบบมีปัญหาในตอนแรก แต่เพียงในช่วงเวลา 14 วัน ทีมงานก็สามารถขยายระบบให้รองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น 10 เท่าได้ในที่สุด “CEO มองว่าถ้าเราไม่ช่วยผู้ประกอบการตอนนี้แล้วจะไปช่วยตอนไหน ยิ่งกว่านั้นเหตุการณ์ไข่ดาว Moment ที่มีคนสั่งไข่ดาว 5 บาท ระยะทาง 40 กม. ทำให้เรารู้ว่าการที่แอป Robinhood สร้างมาจากความต้องการช่วยเหลือคนจริงๆ เมื่อระบบมีปัญหาก็มีแต่คนเข้าใจและเห็นใจเรา แบรนด์ Robinhood มีความน่ารักที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งลูกค้า ร้านอาหาร ไรเดอร์ ทั้งหมดช่วยประคับประคองเรา จนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีตัวตนได้”


4. From Small to Medium Moment :
ต่อเนื่องจาก Moment ก่อนหน้านี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะบอกถึงการเติบโตอย่างแท้จริงของ Robinhood ว่าเมื่อหมดโปรโมชั่นแล้ว ออเดอร์ต่อวันจะลดลงไปที่ 2 หมื่นเหมือนช่วงก่อนทำโปรหรือไม่ แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 แม้จะหมดโปรแล้ว แต่ออเดอร์ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 แสนออเดอร์ต่อวัน “เหตุการณ์นี้ทำให้ Robinhood กลายเป็นแพลตฟอร์มขนาดกลาง อยู่ในอันดับ 3-4 ในตลาดกรุงเทพฯ ปริมณฑล มี Registered Users ประมาณ 2 ล้านคน คนใช้งานวันละ 1.3-1.5 แสน เติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคง เป็น Moment ที่เราเดินได้จริงๆ”


5. Spring ‘Board’ Moment :
จากความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น CEO เล็งเห็นถึงศักยภาพของ Robinhood ที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง มีการจับจ่ายใช้สอยสูง จึงตัดสินใจนำ Robinhood เติบโตเป็นซูเปอร์แอป  “ด้วยเงินทุนที่ได้จากบอร์ดบริหาร เราจะสร้าง Robinhood เป็นซูเปอร์แอป เป็นแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพภายในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ปีหน้าเป็นเวลาที่เราจะวิ่งได้แล้ว” คุณธนากล่าวสรุป

5 บทเรียนในวันล้ม-ลุก-เรียนรู้ ของ Robinhood

กว่าจะมาถึงวันที่ Robinhood ออกวิ่งได้ คุณธนากล่าวถึงสิ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้ตลอด 365 วันที่ผ่านมา


1.Robinhood Customer
: นอกจากร้านอาหารแล้ว กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรมก็เป็น SME กลุ่มใหญ่ที่สุดที่ธนาคารต้องการเข้าไปช่วยเหลือ ประกอบกับผู้ใช้งานแอป Robinhood มีกำลังซื้อสูงมาก เพราะได้ฐานลูกค้าบัตรเครดิต ลูกค้าธนาคารเป็นหลัก เป็นกลุ่มคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ปริมณฑล การที่ Robinhood มีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง นำมาสู่แนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดบริการอื่นให้กับลูกค้าในรูปแบบ  “ซูเปอร์แอป” ซึ่งหนึ่งในนั้น คือบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปีหน้าคนจะออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น

2.Platform of Kindness : การที่ Robinhood เกิดขึ้นด้วยเจตนาที่ดี มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดี จะมีคนมาปกป้อง Robinhood เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ไรเดอร์ ลูกค้า เพราะทุกคนรู้สึกว่า Robinhood ช่วยเหลือพวกเขาอย่างจริงใจ ตามความเห็นของคุณธนา “ลูกค้าจำนวนมากใช้บริการเรา เพราะรู้สึกว่าเขาได้ช่วยคน ช่วยไรเดอร์ ช่วยร้านค้าให้ไม่ต้องเสียค่า GP ผมคิดว่านอกจากเรื่องกำลังซื้อแล้ว ยังมีพลังของการทำดีอยู่ในนี้ด้วย”

3.It’s always fun to do the impossible : การผ่านเหตุการณ์หลายอย่างจนมาถึงวันนี้ ทำให้ทีมงาน Robinhood เรียนรู้และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ และเป้าหมายต่อไปในการก้าวสู่ระดับ Regional ที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับแพลตฟอร์มไทย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

4.Olympic Standard : ในวันที่ธุรกิจบริการทั่วโลก เข้ามาเมืองไทยหมดแล้ว ข้อเรียนรู้หลักของคนทำธุรกิจคือการจะสร้างสินค้าบริการหรือแพลตฟอร์มใดๆ ไม่สามารถทำตามมาตรฐานในประเทศได้ต่อไปแล้ว เปรียบเหมือนธุรกิจอื่นเป็นผู้เล่นระดับโอลิมปิก ก็ไม่สามารถใช้มาตรฐานซีเกมส์ไปแข่งกับเขา ขณะเดียวกันลูกค้าก็ไม่อยากได้บริการมาตรฐานซีเกมส์อีกแล้ว “การที่เราจะทำอะไรก็ตาม ต้องเป็น Olympic Standard เสมอ Mindset ต้องเป็น Olympic Standard ต้องลองเทสต์แบบ Olympic Standard ต้องปฎิบัติตัวเองให้เป็น Olympic Standard และต้อง Deliver Result ให้ลูกค้าแบบ Olympic Standard”

5.Underdog Way : ในการทำสินค้าบริการมาตรฐานแบบ Olympic Standard ทั้งที่เป็นมวยรอง ทั้งในแง่ของจำนวนเงินทุน ทีมงาน สเกล สิ่งที่สำคัญคือวิธีการที่ต่างออกไป คุณธนากล่าวถึงตัวอย่างว่า “ต้องไม่ทำวิธีการเหมือนเขา เช่น แอปอื่นเก็บ GP แต่เราไม่เก็บ GP  เขาวิ่งพื้นที่นี้ เราก็ต้องไม่ไป เป็นวิธีการสู้แบบมวยรอง ให้เอาตัวรอดได้”


“5 บทเรียนและ 5 Moment ความทรงจำทั้งหมดนี้ ทำให้ Robinhood มีความมุ่งมั่น ต้องการเป็นแพลตฟอร์มไทยในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยแพลตฟอร์มต่างชาติ พร้อมจะเติบใหญ่อยู่คู่กับสังคมไทย รวมถึงเป็นตัวแทนไทยไปปักธงแพลตฟอร์มในระดับภูมิภาค” คุณธนากล่าว

สถิติน่าจดจำของ Robinhood รอบ 1 ปี

หลังจากเปิดตัวแอปมาได้ 1 ปี Robinhood เติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกมิติ มีสถิติอะไรบ้างที่น่าจดจำ? คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ได้เล่าถึงตัวเลขจากดาต้าหลังบ้านว่า Top 5 สถิติที่อยากแชร์ ได้แก่ สุดยอดเมนูขายดี คือ 1.ก๋วยเตี๋ยว 2.ชานมไข่มุก 3.อาหารจานเดียว 4.แซลมอน และ 5.กาแฟ สำหรับเขตพื้นที่ที่มียอดออเดอร์สูงสุด คือ 1.จตุจักร 2.ห้วยขวาง 3.บางกะปิ 4.ลาดพร้าว และ 5.สายไหม ขณะที่ร้านขายดี คือ 1.All About Eat 2.เฮียให้  Hear Hai 3.หน่องริมคลอง 4.อบอร่อย ทาวน์อินทาวน์  และ 5. Gu แซลมอน


และในช่วงสถานการณ์โควิด Robinhood ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมไทยให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปด้วยกัน โดยมีโมเม้นท์ประทับใจจากแคมเปญส่งอาหารฟรี ซึ่งทำให้ยอดออเดอร์เติบโตขึ้น 7 – 8 เท่า และได้รับเสียงชื่นชมจากโซเซียลมีเดีย ทั้งในแง่การสร้างโอกาส สร้างงานให้กับไรเดอร์ ส่วนไรเดอร์ได้ช่วยร้านอาหารและเป็นตัวกลางส่งมอบความสุขผ่านอาหารไปถึงมือลูกค้า นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดระบบนิเวศน์แห่งการเกื้อกูลทำให้เห็นภาพร้านอาหารจัดหาที่นั่งรอพร้อมเครื่องดื่มให้ไรเดอร์ เห็นไรเดอร์ช่วยร้านอาหารจัดเตรียมของส่งลูกค้า และเห็นลูกค้าสั่งอาหารเผื่อแผ่ไปถึงไรเดอร์  คุณสีหนาทเล่าถึงแคมเปญส่งอาหารฟรีว่า จากความตั้งใจแรกที่อยากช่วยคนไทยในช่วงโควิด กลับกลายเป็นว่าทำให้ Robinhood เติบโตแบบก้าวกระโดดภายในระยะอันสั้นเพียงแค่ 4 สัปดาห์ หลังจากแคมเปญดังกล่าวทำให้จากที่มีไรเดอร์  8 พันสู่  2.6 หมื่นคัน, ร้านอาหารจาก 1 แสนสู่ 1.6 แสนร้าน, ลูกค้าจาก 1.2 ล้านคนสู่ 2.1 ล้านคน และยอดออเดอร์ต่อวันจาก 2 หมื่นสู่ 1.5 แสนออเดอร์


นอกจากนี้ยังมีสถิติในรอบ 1 ปีของ Robinhood ที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตนับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ยอดสั่งอาหารรายวัน เพิ่มขึ้น 750%  จำนวนผู้ใช้งาน 2.3 ล้านคน  ยอดขาย 3,283 ล้านบาท  จำนวนไรเดอร์ 2.6 หมื่นคัน ร้านค้า 1.6 แสนร้าน ระยะเวลาให้บริการ 10,057 ชั่วโมง  เมื่อเทียบระยะทางส่งอาหารจากโลกไปถึงดวงจันทร์นับได้ 172 ทริป ส่วนขนส่งที่หนักที่สุดคือ มังคุดคีรีวง 10 กิโลกรัม และมีจำนวนยอดสั่งออเดอร์สูงสุดจากลูกค้าเพียงคนเดียวคือ 2,440 ครั้ง

ก้าวต่อไปของ Robinhood

คุณสีหนาทกล่าวว่า ก้าวต่อไปของ Robinhood จะยังคงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติมากขึ้น นอกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี ได้เตรียมขยายแพลตฟอร์ม Robinhood เข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food ได้แก่ 1.) บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์  2.) บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้าโรบินฮู้ดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ 3.) บริการรับ-ส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด

วางหมากกลยุทธ์ ปูเส้นทางสู่ “ซูเปอร์แอป” สัญชาติไทย

ในเมื่อใคร ๆ ก็อยากจะเป็นซูเปอร์แอป การที่  Robinhood จะก้าวต่อไปและพัฒนาจนกลายเป็นซูเปอร์แอป ที่มีทุกอย่างในแอปเดียว เพื่อให้คนเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน Robinhood ได้วางหมากในเกมนี้อย่างไร? คุณสีหนาท เล่าต่อว่า ในปี 2565 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Robinhood จะเตรียมขยายขอบเขตการให้บริการสู่ต่างจังหวัด โดยปักหมุดนำร่อง 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพและมีความต้องการบริการด้านฟู้ดเดลิเวอรีสูง ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของร้านค้า และไรเดอร์ มุ่งพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ให้ดีขึ้น เพิ่มฟีเจอร์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น เน้นสนับสนุนและช่วยเหลือร้านค้าที่ช่วยลูกค้า นอกจากนี้ ยังเตรียมผสานพลังความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม SCB X เช่น Auto X, Card X, Data X, SCB Tech X เป็นต้น ในส่วนของการหาลูกค้า (Customer Acquisition) พร้อมการนำเอาดาต้ามาต่อยอดด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่นๆ, การทำโฆษณา, การทำโปรโมชันกับลูกค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดของร้านค้า และลูกค้า รวมถึงยังได้วางแผนเตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มและมุ่งพัฒนาบริการ ปูทางสู่การเป็น “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” อย่างเต็มตัว ที่พร้อมรองรับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (Regional Player)


365 วันของ Robinhood นับเป็นก้าวที่สำคัญในการพิสูจน์ศักยภาพ ความตั้งใจของคนตัวใหญ่ที่สร้างระบบนิเวศน์เอื้อประโยชน์ให้กับคนตัวเล็ก ได้มีพื้นที่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อย่างเสรี ปราศจากค่าธรรมเนียม (GP) พร้อมกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กและกลุ่มไรเดอร์ ให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม และก้าวต่อไปของ Robinhood จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย พัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของ New Generation เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในหลายมิติ ขยายขอบเขตการให้บริการสู่ธุรกิจ Non-Food ทั้งท่องเที่ยว, สั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต และบริการรับ-ส่งของ แบบ On-Demand มุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” พร้อมตั้งเป้าระดมทุน รองรับการเป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (Regional Player) ภายในปี 2565

ที่มา : งานแถลงข่าว 1 ปี Robinhood และเส้นทางสู่ซูเปอร์แอป โดย คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส วันที่ 26 ตุลาคม 2564