“Robinhood” แอปพลิเคชั่น Food Delivery จากกลุ่ม SCB ที่ต้องการคืนกำไรให้สังคม

ท่ามกลางความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจทุกหย่อมหญ้าอันสืบเนื่องจาก COVID -19 แพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทย เพื่อช่วยคนไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของกลุ่ม SCB ที่อยากช่วยเหลือสังคม นอกเหนือจากการบริจาคต่างๆ ที่ทำเป็นปกติ เป็นความตั้งใจที่อยากให้คนไทยมีค่าครองชีพถูกลง โดยเฉพาะในเรื่องการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ที่มีความจำเป็นและมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น ก่อกำเนิดเป็นไอเดียการสร้าง แอปพลิเคชั่น Food Delivery โดยใช้ชื่อ Robinhood (โรบินฮู้ด) ได้แนวคิดมาจากบริษัทในต่างประเทศที่ชื่อ Robinhood เหมือนกัน ที่ทำเรื่อง Security Trading โดยไม่คิดธรรมเนียม ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงกันกับ Food Delivery ใหม่นี้ ที่จะ ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ เช่นกัน ไม่มีค่าสมัคร  ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ทำให้สามารถขายอาหารที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม ลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารและค่าส่งตามจริงไม่มีบวก นอกจากนี้ ยังช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ CSR ของกลุ่ม SCB เพื่อคืนกำไรให้สังคม เพื่อให้ทั้งสามส่วนคือคนซื้อ คนขาย และคนส่งสินค้าได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเป็นธรรม


ด้วยแรงบันดาลใจที่อยากช่วยเหลือสังคม ทีมงานคนรุ่นใหม่ของกลุ่ม SCB ได้รวมตัวกัน เพื่อสร้างแอปพลิเคชั่นที่ปกติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือนในการพัฒนา ให้สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาเพียง 3 เดือน โดยใช้ทรัพยากรที่ธนาคารมีอยู่แล้ว เช่นพื้นฐานเทคโนโลยีที่ดีที่ได้ปูไว้ก่อนหน้า ร้านอาหารที่อยู่ในเครือข่ายจากโครงการแม่มณี และกลุ่ม SCB ยังเป็นพาร์ทเนอร์ กับ Google My Business ด้วย ส่วนมอเตอร์ไซค์จัดส่งสินค้าจะใช้พาร์ทเนอร์คือ SKOOTAR รวมทั้งยังมองพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ เพิ่มอีก ทั้งหมดทำให้ไม่ต้องลงทุนสูงเหมือน Startup ใหม่ๆ ที่ไม่มีต้นทุนเดิม และด้วยความที่เป็นธนาคาร ย่อมทำให้ระบบการจ่ายเงินสามารถทำได้รวดเร็ว โดยตั้งเป้าว่า ภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากปิดออเดอร์ เงินจะเข้าบัญชีทั้งร้านค้าและผู้ส่งสินค้า โดยระบบการรับจ่ายเงินจะเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ไม่มีเงินสด

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด กล่าวว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับใครหรือต้องการเป็นเจ้าตลาด แต่พัฒนาโดยใช้มุมมองของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้าหรือ Customer Experience แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีลูกค้ากี่ราย มุ่งหวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม สำหรับร้านอาหาร หากคิดว่าได้รับประโยชน์ ก็จะมาร่วมกัน ส่วนในมุมของผู้ซื้อถ้าประสบการณ์ในการใช้งานดี ก็จะอยากใช้งานต่อไป และเพราะโครงการนี้เริ่มต้นจากการเป็น CSR ที่ทำเพื่อสังคมจริงๆ จะไม่มีกำไรจากการให้บริการ Food delivery  เข้ากลุ่ม SCB แต่อย่างใด ซึ่งถ้าในอนาคตแพลตฟอร์มตรงใจร้านค้า ตรงใจลูกค้าและมีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ ก็อาจทำมากกว่าเรื่องอาหาร โดยอยากให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สร้างความผูกพันกับลูกค้า อยากให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับแอปนานๆ  และในที่สุดถ้าแพลตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก บริษัทที่ดูแลซึ่งก็คือ Purple Ventures บริษัทในเครือ SCB 10X ก็จะแยกตัวออกไปเป็น Startup และสามารถมี Business Model ที่จะหารายได้จากการเสนอบริการอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อกับสมาชิกที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการสั่งอาหารแต่อย่างใด

แอป Robinhood โดยจะเปิดให้บริการประมาณเดือนกรกฎาคม คาดว่าช่วงเริ่มต้นจะมีร้านค้าประมาณ 20,000 ร้าน ส่วนจะมีลูกค้าใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มปริมาณมากขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี ก็คาดว่าจะได้รับโอกาสและการตอบรับที่ดี โดยจะให้บริการทั่วประเทศ แต่เน้นเริ่มที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลักก่อน สำหรับร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ ผ่านทาง โทร. 02-777-7564 (เวลา 8.30 - 20.00 น.) และ สาขาต่างๆ ของธนาคาร ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กลุ่ม SCB พร้อมเคียงข้างสังคมไทยในทุกสภาวการณ์ ธนาคารเชื่อมั่นว่า ด้วยกำลังใจที่แข็งแรง พร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว สมัครสมานร่วมมือร่วมใจ มองไปข้างหน้า ด้วยสปิริตอันแรงกล้า วิกฤติจะเป็นโอกาส ที่นำพาให้เราทุกคนปรับตัว ปรับองค์กร ก้าวข้ามอุปสรรคและขีดจำกัด สามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ เพื่อนำพาสังคมไทยให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนในยุค New Normal