NIA: แหล่งเงินทุนสนับสนุนธุรกิจพัฒนานวัตกรรม

การจะพัฒนานวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาใช้สร้างจุดแข็ง ความแตกต่าง ยกระดับธุรกิจ SME หรือสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ นอกเหนือจากองค์ความรู้แล้ว  “เงินทุน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนองค์ความรู้ให้ออกมาเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปแบบ ในการอบรม NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 คุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (National Innovation Agency - NIA) ให้รายละเอียดเรื่อง Innovation Funding ที่ NIA ให้การสนับสนุนธุรกิจในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม


Mission สนับสนุนผู้ประกอบการ


คุณปริวรรตกล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ เงินสนับสนุนนวัตกรรมของ SME จะค่อนข้างน้อย เพราะมีความเสี่ยงจากการประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่ด้วยนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัพแข่งขันในระดับต่างประเทศได้ รวมถึงสามารถอยู่รอดในสถานการณ์คับขัน ดังนั้น Mission ของ NIA คือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะธุรกิจ SME สตาร์ทอัพ แต่รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งการทำนวัตกรรมคือการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง เรื่องเงินทุนจึงสำคัญมาก จากที่ผู้ประกอบการต้องใช้เงินทุนตัวเอง 100% ถ้าได้ทุนจาก NIA มาช่วยก็แบ่งเบาไปค่าใช้จ่ายไปได้

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ NIA พิจารณาคือ 1) องค์ความรู้ที่จะมายื่นเรื่องขอทุนสนับสนุน มีแค่สิทธิบัตร (Patent) อย่างเดียวไม่พอ ต้องสามารถนำไปเชิงการค้าได้ (Commercialization) มีจุดขายแตกต่างเหนือกว่าคู่แข่ง (Unique Selling point) โมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งส่วนนี้มักเป็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการ แม้จะมีเทคโนโลยี แต่ขายไม่ได้ ไม่เคยทดสอบกับลูกค้าเลยว่าต้องการเทคโนโลยีนี้จริงหรือไม่ 2) เทคโนโลยีล้าสมัย เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีต้องใช้เวลาและเทคโนโลยีต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อผลิตออกมาช้าเกินไปก็แข่งขันไม่ได้  3) มาตรฐาน ผู้ประกอบการบางรายแม้จะมีการทดสอบเทคโนโลยีกับลูกค้า แต่ก็ยังขายไม่ได้ เพราะไม่มีมาตรฐานมอก.ฯลฯ “ในการยื่นขอทุนสนับสนุนต้องมีการเขียน Proposal ที่มีแผนธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการเงิน NIA ก็เข้ามาช่วยผู้ประกอบการการในส่วนของการให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการอบรมโดย NIA Academy เพื่อปรับองค์ความรู้ Mindset การทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการ” คุณปริวรรตกล่าว

nia-innovation-funding-02

ประเภททุนสนับสนุน
 

1)  Open Innovation ทุนสนับสนุนนวัตกรรมให้กลุ่มผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพ พัฒนานวัตกรรมระดับประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร และเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย NIA ให้ทุน 75% ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อโครงการในขั้นตอนการทดสอบ-ทดลองทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Design & Engineering/Prototype & Pilot Project) โดยกระจายให้ธุรกิจที่อยู่ในทุกภูมิภาค ตามกลุ่มสาขาเศรษฐกิจ ดังนี้

·  สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เช่น ชีวเภสัชภัณฑ์ อาหารแห่งอนาคต ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นวัตกรรมสมุนไพรคุณภาพสูง

·  สาขาเศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน (Manufacturing and circular economy) เช่น ยานยนต์ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม หัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ การจัดการของเสีย พลังงานเขียน อิเล็กทรอนิกส์

·  สาขาเศรษฐกิจบริการและการแบ่งปัน (Service and sharing economy) เช่น ธุรกิจนวัตกรรมบริการ ธุรกิจนวัตกรรมเชิงสังคม อุตสาหกรรมดิจิทัล การขนส่งและโลจิสติกส์


2)  Thematic Innovation
ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงภาพรวมอุตสาหกรรม NIA สนับสนุนทุน 75% ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ โดยสนับสนุนในขั้นตอนการทดสอบ-ทดลองทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Design & Engineering/Prototype & Pilot Project) ในส่วนค่าวัตถุดิบ/ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าจ้างพนักงานไม่ได้ ได้เฉพาะค่าจ้างบริษัท Outsource ช่วยพัฒนา) ค่าวิเคราะห์ทดสอบ ค่าตอบแทนที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ค่าถ่ายทอดเทคโนโลยี/ค่าบริการวิชาการ ซึ่งทุน Thematic Innovation สนับสนุนโครงการในกลุ่มธุรกิจ ดังนี้

·  ธุรกิจ Healthcare : อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Devices) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ Novel Food & Natural Product บริการทางการแพทย์ Service Platform

·  ธุรกิจนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร (Ag Tech & Food Tech Innovation-Driven Enterprises) : บริการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Services) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robots & Automation) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

 

3) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย : NIA ร่วมมือกับธนาคารให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยบริษัทที่มีนวัตกรรมและลูกค้าอยู่ในขั้นตอนขยายธุรกิจ (Commercialization/Market Diffusion) สามารถเข้าโครงการได้ ทาง NIA สนับสนุนดอกเบี้ยในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทตลอดระยะสัญญาไม่เกิน 5 ปี การดำเนินการทำได้ 2 ทาง คือ
1. บริษัทเสนอ Proposal มาที่ NIA จากนั้น  NIA ส่งเรื่องไปที่ธนาคาร เมื่อธนาคารพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะส่งเรื่องกลับมายัง NIA 
2. บริษัทยื่นเรื่องขอกู้กับธนาคาร ธนาคารแนะนำและส่งต่อโครงการมาที่ NIA


4) การสนับสนุนการเงินในรูปแบบอื่นๆ เช่น การร่วมลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี (VC Fund) การให้สิทธิประโยชน์ ที่โครงการที่ได้รับเทคโนโลยีสามารถนำค่าใช้จ่ายสร้างนวัตกรรมหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ 300% เป็นต้น


NIA ยังมีการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่นการบ่มเพาะธุรกิจ บริการให้คำปรึกษา หาผู้ร่วมวิจัย (iTAP) Smart Visa, Talent Mobility, R&D Consortium, บัญชีนวัตกรรม กลไกประชารัฐ Business Matching/Market Innovation รวมถึงระบบสาธารณูปโภค เช่น Co-working Spaces, Thailand Science Park/Regional Science ศูนย์ระบบประเมินเทคโนโลยีของประเทศไทย (Thailand Technology Rating System -TTRS)  ห้องปฏิบัติการ MSTQ เป็นต้น


นอกจากการสนับสนุนจาก NIA แล้ว แหล่งเงินทุนที่สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึง ได้แก่ Angel Investor,  Corporate Venture Capital (CVC) ซึ่งทาง NIA ก็มีการอบรมนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพ นักลงทุนสามารถลงทุนกับบริษัทได้โดยตรง รวมถึงลงทุนในบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  CVC ขนาดใหญ่ของประเทศ อย่าง SCB10X ก็ลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการลงทุนใน Fintech มาลงทุนใน Deep Tech ,Digital Health และ Lifestyle มากขึ้น


ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครขอรับทุนได้ที่ ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) www.mis.nia.or.th โทร. 02-017-5555 ต่อ 410 อีเมล econ@nia.or.th


ที่มา : หลักสูตร NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 โดย คุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (National Innovation Agency - NIA) วันที่ 27 มกราคม 2564