ส่องตลาด “คนขี้เกียจ” เมื่อความสบายคือสารเสพติดชนิดหนึ่ง

เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์จนกลายเป็นเรื่องปกติ  เราสามารถทำเรื่องต่างๆ ได้เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะซื้อของ  โอนเงิน  จองตั๋ว  สั่งอาหาร  เรียกแท็กซี่   ความสะดวกสบายเหล่านี้เองได้หล่อหลอมให้คนในยุคนี้มีพฤติกรรมที่รักสบายและหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นหรือยอมจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกให้กับตัวเอง จากจุดนี้จึงเป็นที่มาของเศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) ที่มีคนขี้เกียจ (Lazy Consumer) หรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด  โดยใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความสะดวกสบาย  รวดเร็ว   ช่วยลดขั้นตอน  ทำให้คนกลุ่มนี้มีความสุขกับสิ่งที่พวกเค้าได้รับเพราะไม่อยากจะเสียเวลาไปทำในบางเรื่องบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง  

คนไทยกับ 10 กิจกรรมที่ขี้เกียจมากที่สุด

แน่นอนว่ากลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่เสพติดความสะดวกสบายมีอยู่ทั่วโลก  โดยในส่วนประเทศไทยจากงานวิจัยของกลุ่มตัวอย่าง  1,200 คน แบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่  1.ออกกำลังกาย 84% 2.รอคิวซื้อของ 81% 3.ทำความสะอาดบ้าน 77% 4.อ่านหนังสือ 70% 5.ทำอาหาร 69 % 6.พูดคุยหรือพบเจอคนเยอะๆ 68% 7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 8.เรียน/ทำงาน 65% 9.ออกไปช้อปปิ้ง 64% และ 10.เดินทางไปไหนมาไหน 60% (ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)


นอกจากนี้ในต่างประเทศเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์อันดับ 1 ของจีนอย่างเถาเป่าได้เปิดเผยข้อมูลว่า​ กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี  เป็นกลุ่มที่รักความสบายและพร้อมจ่ายให้กับสินค้าและบริการที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องออกแรงหรือไม่ต้องเสียเวลา  ทำให้สินค้ากลุ่มอำนวยความสะดวกขายดีเพิ่มมากขึ้นกว่า 70%  โดย 4 อันดับสินค้าที่ขายดี  ได้แก่  อายแชโดว์ที่ปาดครั้งเดียวจบ   หม้อร้อนอเนกประสงค์   เก้าอี้เล่นเกมปรับนอนได้  และเครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ

“SLOTH” กลยุทธ์ครองใจ "คนขี้เกียจ"

การทำธุรกิจที่จะเอาชนะใจคนขี้เกียจนั้นมีท่าไม้ตาย คือ  ทำอย่างไรก็ได้ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้เสพติดความสบายให้ได้รับความสะดวกในขั้นสุด  ไม่ต้องเหนื่อย  ไม่เสียเวลา  ไม่ต้องออกจากบ้าน  ช่วยแบ่งเบาภาระและสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  หากคนทำธุรกิจสามารถคิดค้นสินค้าหรือบริการที่ทำให้พวกเค้ารู้สึกว่ามีชีวิตดีกว่าเดิม  สบายกว่าเดิม  ง่ายกว่าเดิม เมื่อนั้นโอกาสที่จะสามารถครองใจผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแน่นอน โดยกลยุทธ์ที่มัดใจคนขี้เกียจมีอยู่  5 ข้อ (ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)
 

  • Speed: ต้องรวดเร็ว ไม่ทำให้เสียเวลา
  • Lean: กระชับ ลดขั้นตอน ลดความยุ่งยาก ใช้งานง่าย
  • EnjOy: ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสนุก เมื่อใช้สินค้าและบริการ
  • ConvenienT: สินค้าหรือบริการต้องสร้างความสะดวก ช่วยให้ชีวิตง่ายมากขึ้น
  • Happy: ความสุขที่ถูกเติมเต็ม จากการได้รับการแก้ปัญหาโดยวิธีการที่ง่ายที่สุด

5 ประเภทธุรกิจครองใจคนขี้เกียจ

เมื่อมีตลาดผู้บริโภคที่รักความสะดวกสบายขั้นสุด  แล้วธุรกิจหรือบริการอะไรที่จะสามารถครองใจคนกลุ่มนี้


1. ธุรกิจประเภททำแทนกันได้

จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจบริการประเภทออกแรงให้เองทำแทนกันได้(On Demand Service) เริ่มผุดขึ้นมาให้เห็นเพื่อเอาใจกลุ่มคนรักสบายทั้งหลาย เช่น  บริการทำความสะอาดบ้าน  บริการซื้อของแทน  บริการขับรถแทน   บริการรับจองคิว  บริการขนย้ายของ  รวมไปถึงบริการส่งอาหารหรือ Food Delivery   โดยจากงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่าอุตสาหกรรมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยเติบโตถึง 35,000 ล้านบาท/ปี  ล่าสุดสถาบันการเงินอย่าง SCB  ได้ออกนอกกรอบธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ครีเอทแอปพลิเคชั่นส่งอาหารที่ชื่อ  “Robinhood”  เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ รวมถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคสายขี้เกียจได้เป็นอย่างดี  อ่านเพิ่มเติมที่  บทความ -“Robinhood” แอปพลิเคชั่น Food Delivery สัญชาติไทย เพื่อคนไทย-

 

2.ธุรกิจประเภทสินค้าที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทำให้มีสินค้าประเภท Automation และ Hand Free เกิดขึ้น  ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มขี้เกียจให้ได้รับความสุขจากการใช้สินค้าในกลุ่มนี้  เช่น หุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาด  เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ   เครื่องล้างจานอัตโนมัติ   เครื่องพับผ้าอัตโนมัติ  เครื่องช่วยแปรงฟัน  หรือร้านค้าที่ไม่มีแคชเชียร์ที่เป็นแบบ Automate Store  หรือที่จับแบบคล้องคอ (Lazy Holder) เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องถือของเองให้เมื่อยมือ เป็นต้น

 

3.ธุรกิจประเภทพร้อมใช้งานทันที

เมื่อความขี้เกียจเข้าครอบงำ  กลุ่มสินค้าประเภทพร้อมกิน   พร้อมดื่ม  พร้อมใช้ หรือ  Ready to  ทั้งหลายย่อมได้ใจผู้บริโภคกลุ่มคนรักความสบายขั้นสุด  ซึ่งสินค้าและบริการประเภท Ready to  ตัวอย่างเช่น  ครีมรองพื้นแบบ All in One ทั้งบำรุง ปกปิด กันแดด ช่วยลดเวลาในการแต่งหน้า  อายแชร์โดว์ที่ปาดเพียงครั้งเดียวแล้วจบ  สเปรย์ทำความสะอาดเส้นผมเมื่อไม่มีเวลาสระผมแต่อยากแก้ปัญหาหัวมันผมเหม็น  ข้าวกล่องอุ่นเองได้ไม่ต้องใช้ไมโครเวฟ   บริการส่งปิ่นโต  บริการจัดเตรียมวัตถุดิบอาหารพร้อมสูตรและวิธีปรุงสำหรับคนที่ไม่มีเวลาออกไปซื้อของ  เป็นต้น

 

4. ธุรกิจประเภทร่วมมือ ร่วมใจ

คนขี้เกียจมักขาดแรงจูงใจในการทำบางสิ่งบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ  เพราะรู้สึกเหนื่อยยากลำบากที่จะทำ  ดังนั้น การสร้างธุรกิจในเชิง Community Online ให้มีความรู้สึกร่วมกันหรือ Better Together  ทำให้มีแรงผลักดันในการร่วมมือทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ   ช่วยเหลือกันและกัน  หรือการแข่งขันระหว่างกัน  เช่น  แอป  PartyHaan ที่ออกมาเพื่อแก้ Pain Point  สำหรับคนขี้เกียจไปหาคนมาหาร หรือไม่อยากไปขอความช่วยเหลือจากใคร  แต่เมื่อใช้แอปตัวนี้ก็สามารถหาคนหารได้ในเรื่องต่างๆ  โดยไม่ต้องพูดคุย  เช่น  หารค่าแท็กซี่   ค่า Netflix  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยว่ากิจกรรมที่คนไทยขี้เกียจเป็นอันดับ 6 คือ พูดคุยหรือเจอกับคนเยอะๆ มีมากถึง 68% 

5.  ธุรกิจการอ่านให้ฟัง หรือ Read Less, Listen More

จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปีมานี้ ธุรกิจ Podcast ทั้งในและต่างประเทศเติบโตขึ้นมากเพราะตอบโจทย์ความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลา  ไม่ต้องใช้สมาธิมากเหมือนหนังสือ   ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ว่าคนไทยขี้เกียจอ่านหนังสือมากถึง 70% หรือคิดเป็น 46 ล้านคน (ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)  เนื่องจากไม่ชอบอ่านเยอะแต่เลือกที่จะฟังเพราะสามารถทำกิจกรรมอื่นร่วมไปกับการฟังได้  หรือ Short VDO ที่ได้รับความนิยมอย่าง TikTok ที่มีการสอน How to แบบสั้นๆ ไม่เกิน 1 นาทีก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

 

ไม่แปลกใจเลยว่า เศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  เพราะเป็นการเติมเต็ม ช่วยแก้ไข Pain Point  ให้กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน  ที่มีความเร่งรีบในการใช้ชีวิต  การมีสินค้าหรือบริการ ที่สามารถช่วยลดภาระ ลดความยุ่งยาก  ลดระยะเวลา  หรือมีเวลาไปทำเรื่องอย่างอื่นที่สำคัญกว่า จึงเป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจหรือนักการตลาดต้องหา Consumer Insights ให้เจอ  ก็จะทำให้มีโอกาสคว้าใจของกลุ่มผู้บริโภคสายขี้เกียจที่รักความสบายขั้นสุด  และคาดว่าในไม่ช้าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีเพิ่มมากขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคต

 

ที่มา

https://forbesthailand.com/news/marketing/cmmu-%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4.html

https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/lazy-consumer-lazy-economy/

https://www.brandbuffet.in.th/2019/09/lazy-consumer-marketers-new-opportunity/