Cash is King เงินสดอยู่ที่ไหน?

หากย้อนเวลาไปเมื่อปี 2540 ประเทศไทยเคยพบกับวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง หลายคนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มนุษย์เงินเดือนตกงาน เจ้าของกิจการล้มละลาย นักลงทุนทั้งหลายก็เจ็บไปตามๆ กัน บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นทำให้หลายคนมีความระวังตัวมากขึ้น ซึ่งในปี 2563 วิกฤติโควิด-19 ได้เข้ามามีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ในสมัยก่อนเมื่อล้ม เมื่อพลาด แต่จิตใจยังสู้ ก็สามารถลุกขึ้นมาทำธุรกิจอื่นเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตไปต่อได้ แต่ครั้งนี้ ไม่เหมือนกัน เพราะโควิด-19 เป็นโรคระบาด ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่เหมือนเดิม ดังนั้นในปีนี้ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการสร้างโอกาส ปรับตัว และเรียนรู้การใช้ชีวิต ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ขยายกิจการ พยายามใช้เงินสดที่มี ไม่สร้างหนี้ถ้าไม่จำเป็น รูปแบบธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนไป ชีวิตไม่มีความแน่นอน


โควิด-19 ทำให้เราได้เรียนรู้ สอนให้ทุกคนรู้จักการออม ใช้จ่ายอย่าคุ้มค่า สิ่งจำเป็นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้นานก็ต้องซื้อ แต่อะไรที่ฟุ่มเฟือยก็ต้องตัด เงินสดถือเป็นของสำคัญที่เราทุกคนต้องใส่ใจให้มากขึ้น เนื่องจากเงินสดนั้นสำคัญทุกช่วงเวลา มันนี่โค้ช คุณหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการบริหารกระแสเงินสดในช่วงวิกฤติของชีวิต กับคำถามที่ว่า “เงินสดอยู่ที่ไหน?” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมการทำธุรกิจ ไว้ดังนี้

cash-is-king-187399946

เงินสดอยู่ที่ใจ (วิธีคิด)

ในยุคที่เงินสดหายาก ผู้ประกอบการต้องมี Mindset หรือวิธีคิดว่าจะต้องพยายามตามหาเงินที่ทำหล่นหายไป ถ้าหาเจอก็จะทำให้มีเงินสดหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากหน้าบ้าน ควรมองหลังบ้านหรือฝ่ายการผลิต การจัดเก็บสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งอาจทำให้เราเห็นเงินสดที่เราทำหล่นไว้ เช่น ผู้ประกอบการอาจต้องวางแผนหาทางดึงเงินจากลูกหนี้การค้ากลับมาให้เร็วขึ้น การให้ส่วนลด ให้สิทธิประโยชน์บางอย่างถ้าชำระหนี้เร็วก็สามารถช่วยได้ รวมถึงการแปลงสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ หรือวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ โดยการขายออกไปในราคาถูกเพื่อให้ได้เป็นเงินสดกลับมาให้เร็วที่สุดก็อาจจะเป็นอีกทางออกที่น่าพิจารณา

ระหว่างที่ดำเนินธุรกิจนั้น อาจเกิดรูรั่วที่ทำให้เงินไหลออกไปจากกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการวัตถุดิบด้วย ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ผู้ประกอบการอาจไม่ได้ใส่ใจกับกระบวนการผลิต ดูแค่ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงไม่ได้ควบคุมดูแลให้เป็นไปอย่างที่ควร โรงงานหลายแห่งมักมีของเหลือทิ้งจากขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเมื่อเอากลับมาคิดคำนวณดูก็อาจมีมูลค่ามหาศาล การที่ไม่ควบคุมให้ดี ไม่มีกระบวนการที่ชัดเจน ทรัพยากรที่เราคิดว่าไม่ใช้แล้ว และปล่อยทิ้งเป็นขยะไปนั้น คือรอยรั่วที่เราไม่ได้สังเกต เมื่อปล่อยทิ้งไว้ เงินสดที่ควรจะมีก็ลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรปิดรูรั่วเหล่านี้เสีย และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ถ้าจัดการกับเงินที่ควรจะได้ โดยการเรียกคืนจากลูกหนี้การค้า แปลงสต๊อกของเป็นเงินสดให้กลับเข้ามาอยู่ในมือ รวมถึงลดอัตราความสูญเสียที่ซ่อนอยู่ไปแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องพร้อมปรับเปลี่ยนจากวิถีธุรกิจเดิมๆ เอาทักษะที่เคยมี มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะเปลี่ยนชั่วคราว หรืออาจจะต้องเปลี่ยนถาวรก็แล้วแต่ทักษะที่แต่ละคนมี และธุรกิจที่คิดจะทำต่อไป เช่น คนที่ทำอาหารขาย อาจจะต้องปรับมาทำอะไรที่สำเร็จรูปขึ้น เก็บรักษาได้นานขึ้น บริษัทฝึกอบรมจากที่เคยจัดแบบงานอีเว้นท์ก็ปรับเปลี่ยนมาสอนแบบออนไลน์เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้

เงินสดอยู่ที่มือ (วิธีทำ)

เจ้าของกิจการทั้งหลายต้องหันมาศึกษา และให้ความสำคัญกับการทำงบกระแสเงินสดอย่างจริงจัง ประเมินสถานการณ์ว่ากิจการที่ดูแลจะมีรายรับ รายจ่ายอย่างไร เงินเข้าเงินออกเมื่อไหร่ เงินที่มีอยู่ในมือนั้นจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เมื่อไหร่ที่เงินจะช็อต ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การคาดการณ์ แต่จำเป็นต้องรู้จำนวนเป็นตัวเลขจริงๆ เพื่อจะนำไปใช้สำหรับการวางแผนต่อ ว่าจำเป็นจะต้องยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารหรือไม่ การจะยื่นขอสินเชื่อนั้นจะต้องมีแผนการใช้เงินที่ดี ว่าจะนำเงินที่ได้มาไปใช้อย่างไร และที่สำคัญคือ ควรยื่นขอก่อนที่เงินในมือจะหมด 2-3 เดือน ซึ่งหลายๆ คนมักปล่อยให้เงินขาดมือ เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้แล้ว จึงค่อยไปยืนขอ ซึ่งเมื่อเวลาธนาคารเช็กเครดิตดู ก็อาจถูกปฏิเสธ จะทำให้เสียโอกาสได้


เมื่อดูงบกระแสเงินสดแล้ว ผู้ประกอบการจะทราบว่ามีรายรับตัวไหนที่เงินยังไม่เข้าอยู่บ้าง อย่างเพิ่งนิ่งนอนใจว่ามีรายรับในอนาคตแล้วธุรกิจที่ทำอยู่จะรอด เพราะมันไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า สถานการณ์เช่นนี้ลูกหนี้ของเราจะรอดไปด้วย ซึ่งถ้าโชคดีพวกเขามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ก็ต้องทราบให้ได้ด้วยว่าชำระได้หมดหรือไม่ หรือชำระได้แค่ไหน เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการทำงานต่อไป ในทางกลับกัน ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบกลับมาที่เราด้วยเช่นกัน ถ้าพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง อาจทดลองสอบถามสถานการณ์ความเป็นไปของคู่ค้า ความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ อาจพิจารณาที่จะเจรจาต่อรองเพื่อให้ชำระหนี้เร็วขึ้น เช่น การให้ส่วนลดหากสามารถชำระได้ก่อนกำหนด ทั้งนี้ผู้ประกอบการและลูกหนี้ควรพูดคุยกันบนข้อเท็จจริง แสดงความเห็นอกเห็นใจ และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาไปด้วยกัน


ในฝั่งของลูกหนี้ก็ไม่ควรรับปากไปก่อนโดยไม่ได้ดูความสามารถในการชำระหนี้ของตน ถ้ามีปัญหาต้องรีบบอกเจ้าหนี้ให้เร็วที่สุด การบอกไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการชี้แจง การเจรจาต่างๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้จะง่ายขึ้น แต่ถ้ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยบอกนั้น อาจถูกมองว่าเป็นการแก้ตัว ปัญหาอาจลุกลามหนักหนาจนยากที่จะแก้ไข

สิ่งที่ต้องระวังจาก New Normal

วิกฤติต่างๆ มีไป-มาอยู่เสมอ ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ควรประมาท ผลกระทบต้นน้ำ ปลายน้ำ เป็นเหมือนกับโดมิโน มาเงียบๆ แต่กวาดเรียบไปหมด อย่าคิดว่าเรารอด เราปลอดภัยแล้วก็พอ จำเป็นต้องดูคนอื่นว่ารอดหรือไม่ด้วย เพราะถ้าในห่วงโซ่ที่เราอยู่นั้น มีใครคนใดคนหนึ่งไม่รอดก็มักจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายไปด้วยกันหมด ดังนั้นต้องรู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือจุนเจือกัน คิดไว้เสมอว่า ถ้ารอดก็รอดด้วยกัน ถ้าตายก็จะตายด้วยกันหมด


สำหรับธุรกิจบางประเภท อย่าก้มหน้าก้มตาที่จะรื้อฟื้นธุรกิจของตัวเองด้วยวิธีแบบเดิมๆ เพราะแม้จะหมดช่วงโควิด-19 ไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้ความสำเร็จแบบเดิม วิธีคิดที่เคยใช้ อาจจะล้าสมัยไปแล้ว และอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำได้ต่อไปในอนาคต เพราะธุรกิจที่ไม่ปรับตัว มักจะอยู่ไม่ได้


ผู้ประกอบการทั้งหลายควรมีเงินสดให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไป โดยดูรอบการจ่ายเงินเจ้าหนี้การค้า และรอบการเรียกเก็บเงินลูกหนี้ของเราควบคู่กัน ถ้าได้เงินเข้ามาเร็ว รอบการจ่ายหนี้นานอาจสำรองเงินน้อยกว่านี้ได้  แต่ถ้ามีรอบจ่ายหนี้สั้นก็ควรหาเงินเผื่อสำรองไว้จะปลอดภัยกว่า การใช้จ่ายเงินสดที่มี จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี เลือกจ่ายในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ชีวิตและธุรกิจไปต่อได้ก่อนเป็นอย่างแรก ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องนำเงินที่มีไปลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างเดียว หากมีเงินเหลือผู้ประกอบการอาจเลือกนำเงินมาปันผลเก็บเป็นเงินสดเพื่อเพิ่มเติมความมั่งคั่งแทน

หนังสือแนะนำ

หลังหมดวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยอาจเกิดเถ้าแก่ใหม่จากไอเดียธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้ ขอแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ “100 ไอเดีย ปั้นงานเสริม เพื่อเติมเงิน (100 SIDE HUSTLES)” ไม่แน่ว่างานเสริมที่ทำแก้ขัดในช่วงวิกฤตินี้อาจจะกลายเป็นงานหลักที่ทำเงินให้ก็เป็นได้