6 เหตุผลส่ง “ไทย” ให้ปังในอุตสาหกรรม Medical Tourism

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism กลายเป็นคำคุ้นหูและได้รับความสนใจว่าเป็นเซกเมนท์ตลาดการท่องเที่ยวใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยจากข้อมูลของ The Medical Tourism Association (MTA) ประมาณการณ์ว่ามีคนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับบริการทางการแพทย์กว่า 14 ล้านคนทั่วโลก


การที่ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกขยายตัวอย่างมาก เหตุผลสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้วที่แพงมาก เมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้มากกว่าของประเทศอื่น รวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่ต้องใช้เวลานาน เห็นได้จาก


·  ผู้ป่วย 56%  ต้องการการรักษาที่ดีขึ้น ขณะที่ 22% ต้องการจ่ายน้อยลง


·  ผู้ป่วย 18% มองหาทางเลือกการรักษาที่ไม่มีในประเทศของเขา และ 10% มองหาการรักษาที่รวดเร็วที่สุดและไม่ต้องการจะรอคิว


นอกจากเรื่องราคาและความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการรักษาและมาตรฐานการดูแลพยาบาลแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเลือกประเทศจุดหมายปลายทางได้แก่ ความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่นตั๋วเครื่องบินราคาถูก ขั้นตอนขอวีซ่าไม่ยุ่งยาก มีทางเลือกที่พักแบบต่างๆ

1184220307

ทำไม “ไทย” ตอบโจทย์ตลาด Medical Tourism


ในการจัดอันดับ Medical Tourism Index (MTI) 2020-2021 Global Destination จัดทำโดย International Healthcare Research Center ยกให้อุตสาหกรรม Medical Tourism ของไทยอยู่ในอันดับท็อป 5 จากทั้งหมด 46 ประเทศ พิจารณาจากปัจจัย Destination Attractiveness และ Medical Tourism Cost ขณะที่ศูนย์วิจัย SCB EIC วิเคราะห์ว่าในปี 2023 นี้ ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2019 ที่เป็นปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 2.9 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงผลักดันจากเมกะเทรนด์สุขภาพและการที่ทั่วโลกหลายประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจสูงวัย (Sliver Economy)  ชนชั้นกลางเติบโตและมีกำลังซื้อมากขึ้นทั่วโลก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก และหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผู้คนก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น


ในมุมมองของ SCB EIC ประเทศไทยมีจุดแข็งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา ได้แก่  ราคาที่สมเหตุสมผลในระดับที่แข่งขันได้ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากลมากที่สุดในอาเซียน และยังมีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย ขณะที่ MEDTOURPRESS สื่อตะวันออกกลางที่นำเสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มองว่าหนึ่งในเหตุผลที่จะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าตลาด Medical Tourism คือความสามารถให้การรักษาโรคเฉพาะด้าน เช่นการปลูกถ่ายอวัยวะ รักษาผู้มีบุตรยาก ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันในตลาดนี้สูงมาก ซึ่งไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศต่างๆ อย่างตุรกี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ต่างเร่งพัฒนาศูนย์การแพทย์ชั้นนำเพื่อรุกตลาด Medical Tourism รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองไหล (Brain Drain) และการดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี HealthTech SCB EIC จึงมีข้อเสนอแนะ 4 กลยุทธ์นี้จะช่วยดันให้ไทยอัปเกรดขึ้นไปเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism ได้แก่


1) การสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในตลาดโลก โดยพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาเฉพาะด้าน และใช้ Soft power มาส่งเสริมให้ต่างชาติสนใจ


2) สร้างพันธมิตรกับภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น สายการบิน โรงแรม สปา ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ บริษัททัวร์ บริษัทประกัน โดยเฉพาะการเสนอแพ็กเกจอย่างครบวงจรทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)  ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกและสามารถจัดโปรโมชันเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น


3) ยกระดับคุณภาพการให้บริการและความก้าวหน้าทางการรักษา เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำและแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้ โดยอาศัยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาครัฐด้วย


4) ยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำ ใช้ HealthTech มาเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการให้บริการ เพื่อเพิ่มจุดขายให้ธุรกิจได้มากขึ้น


จากข้อมูลในข้างต้นสรุป 6 เหตุผลที่ส่งให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาด Medical Tourism ได้แก่


1. ราคา : ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลประเทศไทยต่ำกว่าในสหรัฐ แคนาดา ยุโรป ถึง 50-80%


2. คุณภาพการรักษา : แพทย์ไทยมีความรู้ความสามารถได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี แพทย์จำนวนมากมีคุณวุฒิจากโรงเรียนแพทย์ในอังกฤษ สหรัฐ และให้การดูแลรักษาคนไข้ด้วยความเอาใจใส่อย่างมืออาชีพ


3. โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพบริการ : คุณภาพบริการโรงพยาบาลในประเทศไทยหลายแห่งได้รับการยอมรับในระดับเวิลด์คลาส หลายแห่งได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI Accreditation ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนต่างเร่งขยายขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก โดยแม้ในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนไทยต่างมีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ค่อนข้างดีมากแล้ว แต่หลาย ๆ โรงพยาบาลต่างก็เร่งพัฒนายกระดับการให้บริการในหลากหลายรูปแบบเพื่อคว้าโอกาสนี้ เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลสู่การเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทาง, การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ, การสร้างศูนย์การแพทย์และสุขภาพครบวงจร และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้


4. ความสะดวกในการออกวีซ่า : ตามนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ภายใรปี 2026 ภาครัฐได้ลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อรักษาพยาบาลระยะเวลา 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยได้หลายครั้ง และครั้งละไม่เกิน 90 วัน


5. มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม : ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมาแต่เดิมอยู่แล้ว แล้วยังมีกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างโดยพุ่งเป้าโฆษณาบริการการแพทย์เบื้องต้น เช่น การตรวจสุขภาพ การรักษาโรคผู้ป่วยนอกที่มีราคาไม่แพงไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดิมตั้งใจเข้ามาท่องเที่ยวอย่างเดียวให้เข้ามารับการรักษาและเปลี่ยนให้กลายเป็นลูกค้าตลาด Medical Tourism


6. กลยุทธ์การตลาดที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง : อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยสามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วงทศวรรษที่ 90 ที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เป็นเครื่องมือสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งประเทศไทยเริ่มโปรโมท Medical Tourism อย่างจริงจังในปี 2004  ใช้กลยุทธ์การตลาดที่เน้นราคาที่จับต้องได้ บริการครบเครื่อง ชูไฮไลท์การรักษาด้านต่างๆ ตั้งแต่การรักษาโรคมะเร็ง เสริมความงามและศัลยกรรมพลาสติก มีการทำรายชื่อโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ช่วยให้คนที่สนใจหาข้อมูลและตัดสินใจได้ง่าย

ที่สำคัญ ภาครัฐและภาคเอกชนต่างเล็งเห็นโอกาสและวางแผนพัฒนาเพื่อเจาะตลาด Medical Tourism โดยภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical hub) ภายในปี 2026 จากการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI โดยในปี 2022 ภาครัฐได้ประกาศจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (AWC) ครอบคลุม 6 จังหวัดทางภาคใต้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะด้าน โดยได้เริ่มอนุมัติโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันที่ภูเก็ต และ เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ล่าสุดประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ภายใต้ชื่อ Expo 2028 Phuket Thailand ด้วยแนวคิด “ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปัน ความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างสันติและสอดคล้องกันจากการมีสุขภาพที่ดีและมีความมั่งคั่งอย่างสมดุล


งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย มีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2571 ใช้พื้นที่ในการจัดงานรวม 141 ไร่ ในบริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยจังหวัดภูเก็ตได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายร่วมกับอีก 4 เมือง ได้แก่ เมืองซาน คาร์ลอส เด บาริโลเช ประเทศอาร์เจนตินา, เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย, เมืองมาลากา ประเทศสเปน และเมืองมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา


ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพการจัดงานโดยผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIE ซึ่งจะประกาศผลประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายน 2566 โดยระหว่างนี้ พวกเราสามารถส่งแรงเชียร์ให้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้จัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand โดยการสแกน QR Code ในภาพ หรือเข้าไปที่ https://support.expo2028thailand.com/th จากนั้นเลือกภูมิลำเนา และกดสนับสนุนได้ตั้งแต่ วันนี้ - 20 มิถุนายน 2566


ที่มา
https://www.scbeic.com/th/detail/product/medical-tourism-020323
https://medigence.com/blog/top-medical-tourism-destinations-in-the-world/#factors-affecting-the-choice-of-a-medical-travel-destination
https://medex.co.th/why-thailand-is-becoming-a-top-destination-for-medical-tourism
https://medtourpress.ir/en/why-medical-tourism-in-thailand/
https://www.medicaltourism.com/mti/home