เจาะโครงสร้างพื้นฐาน สร้าง Digital Healthcare

เมื่อโควิด-19 มาเยือน อาจทำให้หลายอย่างสะดุด แต่ไม่อาจหยุดโลกแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงที่วิถีชีวิตผู้คนต้องปรับเปลี่ยน และยังเป็นพระเอกหลักช่วยให้วงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการล้นหลาม ให้สามารถขยายบริการ Telemedicine เข้าถึงคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเดินทางไปพบแพทย์แบบตัวต่อตัวอย่างที่เราคุ้นเคย


Digitization ของวงการสุขภาพ


ระบบ Healthcare กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกระบวนเปลี่ยนผ่านสู่ออฟไลน์เข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายยุค 1960 ก่อนจะถูกเร่งเครื่องการเติบโตในทศวรรษที่ผ่านมา และยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคโควิด-19 ในรูปแบบของ Telemedicine หรือ Telehealth


เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้บุคลากรทางการแพทย์และแวดวงสุขภาพ ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่คนไข้ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ในช่วงเวลาที่บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน และความแออัดในโรงพยาบาล เกิดขึ้นทั่วทุกแห่ง


เมื่อประกอบกับเทรนด์ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้คน และผลกระทบต่อเนื่องจากโควิดที่ทำให้โรงพยาบาลต้องลดอัตราการรองรับผู้ป่วย ความต้องการ Telemedicine จึงเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศต้องปรับนโยบาย มุ่งสู่ Digital Transformation เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2186903063

Digital Maturity ที่แต่ละประเทศยังมีไม่เท่ากัน


แม้จะตระหนักดีถึงความจำเป็นของ Digital Transformation ในระบบส่งเสริมสุขภาพ ทว่าแต่ละประเทศยังมี Digital Maturity หรือความพร้อมในด้านดิจิทัลต่างกัน โดย World Economic Forum ประเมินอันดับของประเทศต่างๆ ภายใต้ 3 เกณฑ์หลัก ได้แก่


- ปัจจัยริเริ่ม (Initiatives) :
ปัจจัยที่ส่งเสริม Digital Healthcare อาทิ นโยบายภาครัฐ, การให้ทุนสนับสนุน, สถาบันที่เกี่ยวข้อง


- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructures) :
การสร้างระบบพื้นฐานเทคโนโลยีสำหรับระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น National Heath Data


- การปฏิบัติ (Implementation) : ความสามารถของแต่ลประเทศในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการระบบสุขภาพได้จริงในเชิงปฏิบัติ อาทิ การนำ Telehealth, AI หรือ Virtual Studies มาใช้


ผลจากการศึกษา ปรากฎว่า ประเทศที่มีระดับ Digital Maturity สูง มักเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัว (GDP per capita) ระดับสูง สะท้อนว่าประเทศที่ร่ำรวยจะมีอัตราความพร้อมด้านดิจิทัลมากกว่า เพราะมีพื้นฐานที่เอื้ออำนวย ทั้งในเชิงวัฒนธรรม, การเมือง, เศรษฐกิจ และกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ


ประเทศในกลุ่มผู้นำกระจุกตัวอยู่ในยุโรปตะวันตก ได้แก่ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก สวีเดน และร่วมด้วย เอสโตเนีย จากยุโรปตะวันออก เพราะมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ มีการพัฒนาการแพทย์แบบจีโนมมิกส์ที่ล้ำหน้า หรือการใช้ฐานข้อมูลเวชระเบียนระดับประเทศมาป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ


ขณะที่ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นในระดับรายได้ต่ำถึงปานกลาง ยังมีอุปสรรคขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้เท่าเทียมทั่วถึงในทุกกลุ่มประชากร อาทิ ความไม่พร้อมของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ขาดอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ และไม่มีสถาบันสุขภาพที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีขับเคลื่อนมากเพียงพอ


ส่วนกลุ่มประเทศที่ระดับ Digital Maturity ในระบบสุขภาพต่ำนั้น ส่วนใหญ่พบปัญหาเดียวกันคือ ต่างก็วางนโยบาย Digital Healthcare ไว้แล้ว แต่ไม่อาจผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและต้องการเงินทุนสูง

ส่องปัจจัยประสบความสำเร็จ Digital Heathcare


ประเทศที่ประสบความสำเร็จในวางระบบ Digital Healthcare ที่มีความก้าวหน้าสูง มักจะมี “จุดร่วม” ที่คล้ายคลึงกันใน 8 เรื่อง ได้แก่


1. มีกลยุทธ์ดิจิทัลที่ชัดเจน และเป้าหมายแน่ชัดภายใต้กรอบเวลาที่ตั้งไว้


2. มีงบประมาณโปร่งใสเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของ Digital Healthcare

3. มีระบบการจัดการดาต้าที่ดี ป้องกันข้อมูลให้ปลอดภัย ภายใต้การจัดการเข้าถึงที่ยืดหยุ่นได้


4. มีฐานเวชระเบียนอิเลคโทรนิคส์ระดับประเทศจำนวนมหาศาล เชื่อมถึงกันโดยแพลตฟอร์มระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพ


5. มีหน่วยงานกำกับดูแล ส่งเสริมมาตรฐาน และวางนโยบายที่เกื้อหนุน


6. มีระบบคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ ที่มั่นใจได้ว่าจัดเก็บและถูกส่งต่อภายใต้มาตรฐานทันสมัย


7. มีการลงทุนสร้างแหล่งข้อมูลใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตของฐานข้อมูลสุขภาพ


8. มีโครงการนำร่องที่ได้รับความร่วมมือจากรัฐและเอกชนด้วยกัน


แม้ว่าการพัฒนาเหล่านี้จะใช้เวลาและทุนมหาศาล แต่ผลลัพธ์ที่นั้นคุ้มค่า เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อาทิ AI, Personalised medicine (การดูแลสุขภาพจำเพาะบุคคล) และ Digital therapeutics (การบำบัดด้วยดิจิทัล) ซึ่งเป็นการใช้ซอฟต์แวร์มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้แม่นยำและประสิทธิภาพสูงขึ้น

แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระบบ Digital Heathcare ยังมีให้เห็น แต่ประเทศที่ตามหลังใช่ว่าจะเสียโอกาสเสมอไป เพราะการพัฒนาแบบก้าวกระโดดอาจเกิดขึ้นได้ หากเรียนรู้จากตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างภาครัฐ ที่ต้องเป็นผู้ริเริ่มปูทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เล่นอย่างเอกชนช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการบริการสุขภาพ โดยใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสูงสุดต่อไป


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.weforum.org/agenda/2022/08/countries-achieve-digital-maturity-healthcare/
https://www.thecoverage.info/news/content/2945