4 เมืองในเวียดนามที่น่าลงทุน

หากพูดถึงประเทศเวียดนาม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่นึกถึงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี จากข้อมูลของ Ministry of Planning and Investment ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2565 ปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติมากถึง 34,989 โครงการ กระจายทั่วประเทศกว่า 48 เมือง โดยเฉพาะ 4 เมืองหลักที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนที่เลือกให้เป็นเมืองยอดนิยมในการลงทุน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับเมืองเหล่านั้นและค้นหาคำตอบก่อนตัดสินใจลงทุน ว่าอะไรทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแม้จะเจออุปสรรคของโควิด-19

1.ฮานอย (Ha Noi)

เมืองหลวงมีพื้นที่ประมาณ 3,345 ตารางกิโลเมตร (หลังรวมจังหวัดใกล้เคียงเข้าเป็นกรุงฮานอยใหม่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553) ประชากร 10 ล้านคน ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง โดยมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านฮานอย เป็นศูนย์กลางด้านการบริหารประเทศ และธุรกิจการค้าทางภาคเหนือ โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติ Noi Bai ในเขตซอกซอน (Soc Son) และท่าเรือ 2 แห่งที่สามารถเดินเรือไปยังท่าเรือไฮฟองได้ ทำให้สะดวกแก่การเดินทางและการติดต่อทางธุรกิจ


ในด้านการพัฒนา รัฐบาลเวียดนามเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนใน 3 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ภายในกรุงฮานอยเป็นหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเป้าหมายแรกรัฐบาลเวียดนามจะยกระดับให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียดนาม ณ เขตซวนมาย (Xuan Mai) ที่โดดเด่นในเรื่องของธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมสนับสนุน อีกทั้งจะเร่งผลักดันให้กรุงฮานอยเป็นศูนย์กลางการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพราะมีเขตหัวลัค (Hoa Lac) ที่กำลังเน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการฝึกอบรม ขณะเดียวกันจะยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของกรุงฮานอยที่มีมายาวนานกว่า 1,000 ปี ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว รัฐบาลจะตั้งเป้าให้กรุงฮานอยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนามตอนเหนือในเขตซันไต (Son Tay) ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในกรุงฮานอย นอกจากนี้ พื้นที่ในเขตซวนมาย (Xuan Mai) จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟา อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศ เป็นต้น

2. โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh)

เมืองใหญ่ที่เป็น บ่อเกิดเศรษฐกิจสำคัญที่สุดและเป็นประตูการค้าของเวียดนาม โดยจำนวนประชากรกว่า 9 ล้านคน และครองสัดส่วน GDP เกือบ 1 ใน 4 ของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นครโฮจิมินห์ มหานครทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้จะเป็นอดีตเมืองหลวงของเวียดนาม แต่นครโฮจิมินห์ก็เป็น ศูนย์กลางธุรกิจการค้าและบริการการนำเข้าส่งออกการลงทุน โดยเฉพาะความโดดเด่นด้านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ศูนย์กลางการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech)


การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้รับประโยชน์จากการย้ายถิ่นฐานออกจากจีนในสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น Quang Trung Software Park และ Saigon High-Tech Park (SHTP) ซึ่งได้เตรียมขยายพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลเวียดนามจึงใช้โอกาสดังกล่าวในการต่อยอดเพื่อผลักดันเขตนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของเมืองหรือที่รู้จักกันในนาม เขตเมืองใหม่ หรือ “Thu Duc City” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเช่นเดียวกับเมืองสิงคโปร์หรือฮ่องกง ทำให้เหมาะแก่การลงทุนอย่างมาก นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ยังเป็น ศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมของนานาชาติโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติ Tan Son Nhat และมีท่าเรือ Saigon Port ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

3. นครดานัง (Da Nang)

ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามกลาง มีอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทำให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปและอาหารทะเลในบริการโลจิสติกส์ด้านการประมง เนื่องจากนครดานังเป็นเมืองใหญ่ที่มีการลงทุนและท่องเที่ยวมาก จึงมีโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวมาเปิดจำนวนมากเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เส้นทางการท่องเที่ยวมักจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครดานัง – เมืองฮอยอัน จังหวัดกว๋างนาม หรือนครดานัง – จังหวัดเถื่อเทียนเว้


นอกจากนี้ นครดานังยังเป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองอัจฉริยะร่วมกับอีก 26 เมืองของประเทศอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network:ASCN) ทำให้มีนิคมอุตสาหกรรมสำหรับรองรับการลงทุนทั่วไปจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ Da Nang Seafood Service Zone, Da Nang Industrial Zone, Lien Chieu Industrial Zone, Hoa Cam Industrial Zone และ Expanded Hoa Khanh Industrial Zone และยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Software Park, IT Park และ Hi-Tech Park


ล่าสุดนโยบายใหม่ของนครดานังได้เผยว่าให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการใน อุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อเป็นผู้จัดหาสินค้า สำหรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมสนับสนุนนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตปัจจัยการผลิตหรือบริการให้กับอุตสาหกรรมหลัก มีความสำคัญต่อการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยรวมของอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและการเกษตร นอกจากที่กล่าวมา นโยบายใหม่ของเมืองดานังยังส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุน พร้อมสนับสนุนธุรกิจในการพัฒนาเว็บไซต์ E-Commerce สร้างและส่งเสริมตราสินค้า ประยุกต์ใช้ระบบการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานของห่วงโซ่การผลิตโลก ฝึกอบรมและพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสนับสนุน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผู้ประกอบการเกี่ยวกับต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมปกป้องสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสนับสนุนในทุกๆ ปี

4 .นครไฮฟอง (Hai Phong)

นครไฮฟอง นับเป็นเมืองดาวรุ่งที่น่าจับตามองในเวียดนาม โดดเด่นด้านทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศจีน จึงเหมาะสมกับการคมนาคมและการทำธุรกิจนำเข้าส่งออก และได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งท่าเรือ” เนื่องจากมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมต่อเรือที่มี ท่าเรือ Dinh Vu เป็นท่าเรือแห่งแรกในเมืองท่าไฮฟองที่สามารถรองรับเรือระวางน้ำหนัก 2 หมื่นตันได้ รวมถึงตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ถึง 3 สาย ทำให้มีอุตสาหกรรม การลงทุน และการค้าพัฒนาอย่างมาก โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตท่าเรือ Tan Cang ก็ได้ช่วยเพิ่มแรงดึงดูดนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม Dinh Vu และเมืองท่าไฮฟอง ภายใต้คำขวัญ “มีจุดแข็งด้านทะเล สร้างความเจริญจากทะเล” ในหลายปีมานี้


นอกจากจะโดดเด่นเรื่องท่าเรือแล้ว ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยเฉพาะเขตเอาฮาย (An Hai) ที่เป็น Industrial Zone ซึ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยมีจำนวน 325 แห่ง และเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีจำนวนมากที่สุด ที่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ มีอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติก

ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงกลายประเทศที่นักลงทุนจากบริษัทต่างชาติเลือกเป็นฐานการผลิต


จากผลวิเคราะห์ของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ได้สรุป 3 ปัจจัยและสาเหตุหลัก ๆ ที่เวียดนามเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ


เหตุผลแรกเป็นเพราะ เวียดนามมีความเสถียรภาพด้านรัฐบาล ด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทำให้การบริหารเป็นไปอย่างราบรื่น เน้นพัฒนาเศรษฐกิจและเข้าใจนักลงทุน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสุดท้าย มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ดี ตอบโจทย์นักลงทุนด้านการขนส่งทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัจจัยที่ว่า ทำไมเมืองสำคัญหลาย ๆ เมืองในเวียดนามถึงเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ สิ่งนี้อาจนำไปประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน ให้ได้ทราบว่าเวียดนามถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าลงทุนในวงการธุรกิจอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และอาจเป็นโอกาสให้ทุกท่านได้ทำการค้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกิจการในอนาคต


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ https://www.scb.co.th/vn/corporate-banking.html

แหล่งอ้างอิง

  1. ฐานเศรษฐกิจ. “ไทยสะดุ้ง เวียดนามดาวเด่นมาแรง 10 เรื่องชิงเหนือกว่า” . https://www.thansettakij.com/columnist/498800 ( ค้นหาเมื่อ 2/6/2565)
  2. ลงทุนแมน. “ทำไม นครโฮจิมินห์ ถึงเป็น ขุมพลังของเวียดนาม” . https://www.longtunman.com/27062 (ค้นหาเมื่อ 2/6/2565)
  3. AREA. “เจาะลึกเวียดนาม ในมุมที่คุณไม่เคยรู้” . http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement2161.htm (ค้นหาเมื่อ 2/6/2565)
  4. Thairath. “อะไรทำให้ เวียดนาม เนื้อหอมดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู้ฐานการผลิตโลก สวนทางไทยที่กำลังโดนทิ้ง” . https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479 (ค้นหาเมื่อ 2/6/2565)
  5. Thaibiz-vietnam. “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และโอกาสในการลงทุนทำธุรกิจ” . https://thaibiz-vietnam.com/states_regions/da-nang/ (ค้นหาเมื่อ 2/6/2565)
  6. DITP. “เขตเศรษฐกิจของเวียดนาม” . https://ditp.go.th/contents_attach/207688/207688.pdf (ค้นหาเมื่อ 6/6/2565)
  7. ประชาชาติธุรกิจ. “เศรษฐกิจตอนเหนือ “เวียดนาม” แม่เหล็กดึงลงทุนตัวใหม่” . https://www.prachachat.net/aseanaec/news-393573 (ค้นหาเมื่อ 6/6/2565)
  8. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์. “นครโฮจิมินห์เตรียมสร้าง “เมืองใหม่” มุ่งเป็น Silicon Valley แห่งภูมิภาค” . https://hochiminh.thaiembassy.org/th/content/%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%AE%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99-silicon?page=5d80ab3215e39ce800a6fb&menu=5d80ab3215e39ce800a6fd (ค้นหาเมื่อ 7/6/2565)
  9. RYT9. “รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: แผนแม่บทการพัฒนากรุงฮานอยกับการยกระดับเมืองหลวงครั้งสำคัญของเวียดนาม” . https://www.ryt9.com/s/exim/1246829 (ค้นหาเมื่อ 7/6/2565)
  10. สมาคมการพิมพ์ไทย. “ดานัง แหล่งลงทุนศักยภาพสูงในเวียดนาม” . https://www.thaiprint.org/2017/01/industrial-spending/vol112-industrial03/ (ค้นหาเมื่อ 7/6/2565)
  11. ศูนย์การเรียนรู้อาเซียนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. “เศรษฐกิจตอนเหนือ เวียดนาม แม่เหล็กดึงลงทุนตัวใหม่” . http://asean.dla.go.th/public/news.do?cmd=news&category=1&nid=26990&lang=th&random=1574389174960 (ค้นหาเมื่อ 7/6/2565)
  12. THE SITUATION OF FOREIGN INVESTMENT ATTRACTION IN VIETNAM FIRST 5 MONTHS OF 2022 https://fia.mpi.gov.vn/Detail/CatID/457641e2-2605-4632-bbd8-39ee65454a06/NewsID/901567d4-a6da-4326-a223-830ce1ebdd05/MenuID