The Future of Economics เตรียมรับมือฉลามทางเศรษฐกิจฝูงใหม่

The Future of Economic is now ระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงตั้งแต่จุดเล็กๆ เช่นปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ไล่ไปถึงครอบครัว ประเทศ ภูมิภาค และโลกใบนี้ โควิดได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีใครได้หรือมีใครเสีย และมีปัจจัยอื่นใดบ้างที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร มีอะไรบ้างที่เราในฐานะคนๆ หนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องปรับตัว ปรับใจและปรับพฤติกรรม รวมทั้งสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพื่ออยู่แบบ Win ในระบบเศรษฐกิจแห่งยุค New Normal มาฟังความคิดเห็นและมุมมองจาก ดร.ชาย หรือ ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์  และผู้เขียนหนังสือ “โอกาสแห่งอนาคตฯ” และเป็นผู้มีความสามารถทำให้เรื่องเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเข้าใจง่ายและสนุก

พื้นฐานเศรษฐกิจไทยก่อนโควิด

ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าวิกฤตโควิด เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยประเทศไทยโตเพียง 3.5-4%  ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามโต 6-7% มาเลเซียโต 5-6%  เรียกว่าถึงไม่มีโควิดเศรษฐกิจไทยก็โตต่ำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 1997 เศรษฐกิจไทยโตมากถึง 10% ต่างประเทศถึงกับขนานนามว่าเป็น Miracle of Asia   ไล่ลงมาอีก 10 ปี 1998-2007 ก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ไทยเราโต 5% คือ จะเห็นว่าอัตราการโตลดลงครึ่งหนึ่ง และเมื่อผ่านวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 จนปัจจุบัน  การเติบโตก็ลดลงอีกครึ่งหนึ่งคือเหลือเพียง 3% จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็น “ คนป่วยแห่งเอเชีย ”เมื่อโควิดเข้ามาก็ทำให้สถานการณ์ทรุดลงไปอีก ซึ่งปัญหาสามารถมองได้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

ภาคครัวเรือน รายได้ถดถอย เงินฝืด ภาคเกษตรกรรมรายซึ่งถือเป็นแรงงาน 30-40% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศรายได้ลดลงเรื่อยๆ ราคาพืชผลผันผวน รวมทั้งปัญหารายได้ที่ไม่แน่นอนที่หนักขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของภูมิอากาศ ในเรื่องหนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มยิ่งน่าวิตกเพราะเพิ่มจาก 50% ต่อ GDP เป็น 80% ต่อ GPD และยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้อายุน้อยลง  ครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้แล้ว และ 1 ใน 5 ของหนี้และเป็น NPL ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยไม่ดี เพราะเงินหาได้น้อยแถมยังต้องเอาเงินไปใช้หนี้ และพบว่าคนเกษียณส่วนใหญ่ยังมีหนี้อยู่ เป็นภาระลูกหลานต่อที่ต้องใช้หนี้ ซึ่งทำให้ภาพรวมของภาคครัวเรือนไทยไม่เข้มแข็งนัก


ภาคเศรษฐกิจ
การลงทุนต่ำ แรงงานก็ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม ทำให้ความสามารถในการบริโภคต่ำตามลงไป สุดท้ายทำให้ที่พึ่งของเศรษฐกิจไทยคือรัฐบาลที่ต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และอีกส่วนที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในช่วงก่อนโควิดคือการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้  แต่พอมีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้กลายเป็นว่าเหลือเพียงภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ต้องใช้จ่ายเงินเพื่ออัดฉีดเข้าไปในระบบ แต่เมื่อคนรายได้น้อยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐจึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน


เศรษฐกิจไทยและผลกระทบจากโควิด

โควิดกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก พอเกิดการล็อคดาวน์เราก็ส่งออกได้น้อยลง การท่องเที่ยวหายไป ซึ่งเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 10 % ของ GDP  เมื่อมีการล็อคดาวน์จากโควิดธุรกิจก็หยุดชะงัก กำลังซื้อหดหาย ซึ่งยังไม่นับธุรกิจในเงา หรือ shadow economy เช่น ธุรกิจกลางคืน ผับบาร์ ธุรกิจเสี่ยงโชคต่างๆ ที่ต้องหยุดลง เหมือนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจก็ดับลงไปด้วย ซึ่งทำให้รายได้ในระบบหายไปจำนวนมาก นอกจากโควิดจะกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบต่อไลฟสไตล์ การต้องอยู่กับบ้านทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง บวกกับมีต้นทุนในการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่นพวกหน้ากาก เจลล้างมือ  ส่วนธุรกิจห้างร้านก็เช่นกันมีรายได้ลดลงแต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากมาตรการต่างๆ เช่น Social Distancing  รวมทั้งธุรกิจอยู่ในความไม่แน่นอนไม่มีใครกล้าลงทุน  ไม่รู้ว่าปลายทางจะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลกระทบแทบทุกภาคธุรกิจ ในประเทศกลุ่มอาเซี่ยนไทยเรามีการหดตัวมากที่สุดเพราะพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 5-8% ของ GDP


ธุรกิจที่ได้รับผลดีจากโควิด

ภาพรวมคือธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้บริโภคจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ได้ เพราะคนถูกล็อคดาวน์ เช่น

  • ขายของออนไลน์
  • อาหารสด อาหารที่มีคุณภาพ ฟู้ดเดลิเวอรี่
  • อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์สร้างความบันเทิงที่บ้าน
  • E-sport  เป็นธุรกิจระดับโลกที่ได้ประโยชน์ จากการที่คนเล่นกีฬาจริงๆ ไม่ได้จึงหันมาเล่นกีฬาออนไลน์แทน คนที่เคยจัดกีฬาจริงก็หันมาจัด e-sport ที่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ บวกกับลงทุนน้อยและได้กำไรสูง

โมเดลธุรกิจหรือการทำการตลาดต้องเปลี่ยนไป เพราะคนตัดสินใจซื้อเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ลูกเป็นคนจัดการซื้อของออนไลน์เข้าบ้านแทนพ่อแม่ที่ไม่คุ้นกับเทคโนโลยีเป็นต้น


ฉลามตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าโควิด ความท้าทายที่รอเราอยู่

1.เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ถดถอย หดตัว อาจารย์ชายเล่าว่า เมื่อก่อนเศรษฐกิจโลกดีกว่านี้ การค้าโลกมีการหมุนเวียนที่ดี แต่ปัจจุบันมีการปกป้องตัวเองทางด้านการค้ามากขึ้น เช่น กรณี Brexit  เมื่อก่อนเรามีผู้นำเศรษฐกิจโลกตลอดมา เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป WTO หรือ IMF ที่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี พอจบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เศรษฐกิจอเมริกาถดถอย พอมาถึงปี 2011 ยุโรปก็มีปัญหาหนี้สินภาครัฐ ทำให้ประเทศที่เคยยิ่งใหญ่เสื่อมถอยลงไม่สามารถเป็นผู้บริโภคหลักของโลกได้อีกเหมือนเดิม เพราะก่อนปี 2008 อเมริกาและยุโรปเป็นผู้บริโภคหลักของไทยเรา แต่ตอนนี้ ประเทศเหล่านี้นำเข้าน้อยลง หลังปี 2008 ไทยพึ่งพาประเทศเศรษฐกิจใหม่เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย บลาซิลที่กำลังรุ่งเรื่อง และมีผู้บริโภคเยอะ จึงมีประเทศเหล่านี้ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไว้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจของหลายประเทศก็ถดถอยทั้งจีน รัสเซีย และบลาซิล เหลือแต่อินเดียที่ยังพอแข็งแรงแต่ลำพังประเทศเดียวก็ไม่สามารถช่วยทุกคนได้ ซึ่งตอนนี้ไม่มีประเทศที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกเหมือนก่อน  ความเชื่อในเรื่องการค้าเสรีเปลี่ยนไป ทุกประเทศปกป้องตัวเองมากขึ้น


2.เศรษฐกิจภายในประเทศ
จริงๆ แล้วมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สนใจมุมมองด้านคุณภาพชีวิตมากกว่า GDP คือทำยังให้คนไทยกินดีอยู่ดีขึ้น ซึ่งก็คือต้องมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นๆ หรือ GDP per capita เพื่อให้มีความสามารถในการบริโภคมากขึ้น ถ้ามองย้อนไป 40 ปี รายได้ต่อหัวของคนไทยมากกว่าจีน 3 เท่า แต่ตั้งแต่ปี 2010 -2011 เป็นต้นมาตอนนี้หลายได้ต่อหัวของคนจีนแซงเราไปแล้ว รายได้ต่อหัวของเราเพิ่มขึ้นจริงแต่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ประเทศอื่นเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วกว่า จึงทำให้การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของไทยช้าลง

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กินดีอยู่ดีและรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี? คำตอบคือความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการต้องดีขึ้น productivity หรือผลิตภาพ ซึ่งผลิตภาพของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราเพิ่มขึ้นช้ากว่าเขา ทำให้รายได้ของเราเพิ่มช้ากว่าเขาตามไปด้วย เช่น เรื่องการปลูกข้าวปัจจุบันผลผลิตข้าวต่อไร่ของเราต่ำสุดในอาเซี่ยน เหตุผลหนึ่งอาจบอกว่าเพราะข้าวไทยคุณภาพสูง ผลิตน้อยแต่ได้ราคาดี บอกว่าข้าวเราอร่อยกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกับภูมิประเทศที่คล้ายกัน พันธุ์ข้าวคล้ายกัน คุณภาพใกล้เคียงกัน โดยถ้าเทียบกับลาว ผลผลิตข้าวต่อไร่ของลาวสูงกว่าไทย หมายความว่าทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเรามีปัญหามาก เป็นตัวอย่างของความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และเกิดขึ้นในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เฉพาะข้าวเท่านั้น  สินค้าหลายๆ อย่างที่เราเคยขายได้เมื่อก่อนแต่วันนี้ขายไม่ได้ เช่น เมื่อก่อนเราเคยขายชิ้นส่วนสำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป  แต่พอสมาร์ทโฟนเติบโต เราไม่มีสินค้าที่ตอบโจทย์ เราผลิตสินค้าที่โลกต้องได้การน้อยลง


3.สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ
ดินคุณภาพดีเสื่อมลงทุกปี ดินคุณภาพดีหายไปแล้ว 30%  คำถามคือมันหายไปเพราะอะไร คำตอบคือ เช่น เราปนเปื้อนสารพิษในดิน การตัดไม้ทำลายป่า เมื่อป่าลดคุณภาพดินก็เสื่อม โรคร้อน climate change โลกอุณภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ  น้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งกระทบหลายเรื่อง เช่น พื้นที่ทางการเกษตรหายไป ดินคุณภาพลดลงกลายเป็นดินเค็ม คุณภาพดินเสื่อมถอยลงทุกปี ถ้าไม่ทำอะไร เราจะเหลือดินดีใช้แค่ 60 ปี ประเทศไทยพึ่งดินมาก ทำให้ความสามารถในการเพาะปลูกแย่ลง ความสามารถในการสร้างผลิตผลลดลง

ปัญหาโลกร้อน (Climate change) เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้น การศึกษาของ ADB ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ประมาณการว่าทุก 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิสูงขึ้น ผลผลิตข้าวต่อไรจะลดลง  10%  ดังนั้นประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบมากจากทั้งปัญหาโลกร้อนและปัญหาดินเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการสะสมมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีเจ้าภาพในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลกเพิ่มขึ้น เราต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 70% แต่ปัญหาโลกร้อนและคุณภาพดินเสื่อมทำให้ความสามารถในการผลิตทางการเกษตรลดลง ทรัพยากรจำกัดขึ้นเรื่อยๆ  หรือปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ก็สะท้อนว่าการที่เราเน้นการผลิคภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม สุดท้ายก็ถูกคิดราคากับเรา มีการศึกษาว่าอีก 40 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ทำอะไรกับปัญหาฝุ่นจิ๋ว ต้นทุนค่ารักษาจะเพิ่มขึ้น 8 เท่า เด็กจะป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า productivity ในการทำงานจะลดลง ฝุ่นจิ๋วเกิดขึ้นทั่วโลก แต่คนได้รับผลกระทบหนักเบาไม่เท่ากัน แต่จากผลการวิจัยพบว่า 90% ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเผชิญปัญหาฝุ่นพิษในระดับอันตราย เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศที่มีรายได้น้อยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าประเทศที่ร่ำรวย 60 เท่า


เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกหรือ Technology disruption เช่น Google map, Uber, Airbnb เป็นตัวอย่างที่เปลี่ยนโลก Sharing Economy ต่าง ๆ ตอนนี้เกิดเยอะมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่นานๆ จะเกิดที เช่น การผลิตหลอดไฟ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในยุค 4.0 เทคโนโลยีหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หลายอาชีพในอนาคตอาจไม่มี เด็กที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยในวันนี้กว่าจะเกษียณอาจต้องเปลี่ยนงานมากกว่า 5-6 งาน เพราะอาชีพจะถูกดิสรัปอยู่ตลอด เทคโนโลยีจะมาแย่งอาชีพ เด็กที่เกิดวันนี้ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะทำอาชีพอะไร เพราะอาชีพยังไม่ปรากฏ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง เป็นทั้งประโยชน์และโทษ อาจารย์ชาย กล่าว


ความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระลึก 3 เรื่อง

  • ใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงาน เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่มี productivity ในการผลิตสูงมีสัดส่วน แรงงาน 1 หมื่นคนต่อหุ่นยนต์ 500 ตัว จีนแรงงาน 1 หมื่นคน มีหุ่นยนต์ 30 ตัว การใช้หุ่นยนต์ช่วยทุนแรงคน ไม่ต้องจ่ายโอที ไม่ต้องเปิดไฟ ไม่ต้องหยุดงาน ทำงานได้ 24x7 ทำงานหนักได้ดีกว่า ทำงานที่เสี่ยงได้ ทำงานละเอียดได้ดีโดยไม่เหนื่อยล้า ดังนั้นจะมีความเสี่ยงที่บางอาชีพจะหายไป หรือโดนแย่งงานโดยเทคโนโลยี

  • ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่นำไปผลิตสินค้าอื่น ในอนาคตเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีที่สามารถผลิตด้วยวัสดุภัณฑ์ชั้นสูงจะกลายมาเป็นคู่แข่ง ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้ทันหรือเกาะห่วงโซ่สินค้าใหม่ๆ ได้  แทนที่เขาจะจ้างเราผลิตเหมือนเดิมแต่เขาผลิตเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศเขาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ดังนั้นโรงงาน OEM ต่างๆ ออเดอร์จะลดลงถ้าไม่ปรับตัว

  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเป็นปัญหามาก ซึ่งกระทบเศรษฐกิจหลายเรื่อง ทั้งจำนวนแรงงานลดลง เศรษฐกิจถดถอย รายได้ครัวเรือนลดลง เพราะจำนวนคนหารายได้ลดลง คุณภาพชีวิตครัวเรือนแย่ลง รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง รัฐบาลมีเงินเพื่อมาดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ น้อยลง อีก 20 ปี ข้างหน้าปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะประทุ ประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 30%  ประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ 27% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่เพียง 16% นั่นแปลว่าสัดส่วนผู้สูงอายุของเราสูง นอกจากนั้นคนแก่ที่มีอายุ 60 ปีที่มีสุขภาพดีเมื่อเทียบกับเกาหลี ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ เราก็มีน้อยกว่า แปลว่ามีทั้งปริมาณที่เยอะแถมยังสุขภาพไม่ดีอีก และคนส่วนใหญ่ภาวะการเงินไม่พร้อมกับการเกษียณ เราไม่พร้อมต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าวันนี้เราไม่ทำอะไรจะลุกลามและเป็นปัญหาต่อคนรุ่นหลังต่อไป


ตำราจับฉลาม

  • ความสามารถทางการแข่งขัน มองใน 2 มิติ
    • มิติเชิงเศรษฐกิจ ต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น
    • ระดับแรงงาน ต้องปรับ Mindset รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกว่าหลายอาชีพจะหายไป ต้องเรียนรู้ให้เยอะ World Economic Forum ประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปีที่แล้วว่าอันดับต่ำลงจากอันดับที่ 38 เป็นอันดับที่ 40 ดัชนีชี้วัดที่เราได้คะแนนต่ำคือเรื่อง critical thinking ในการเรียนการสอน การศึกษาของเราไม่ได้ฝึกให้เด็กมี critical thinking ครอบครัวเองก็ต้องสนับสนุนให้เด็กมีทักษะตรงนี้ เพราะนายจ้างให้ความสำคัญและให้ค่าตอบแทนกับคนที่มี critical thinking มากกว่าคนที่มี creative thinking เสียอีก สะท้อนว่าเป็นทักษะที่โลกต้องการแต่คนไทยกำลังขาด
  • ในแง่ระบบระดับประเทศ วิกฤตโควิดสะท้อนว่าระบบรวมศูนย์ไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคต ในองค์กรธุรกิจก็ตาม ต้องปล่อยให้องคาพยพตัดสินใจด้วยตัวเองได้ มีความ lean ขึ้น ต้อง decentralize ในการตัดสินใจ กระจายอำนาจ ไม่ใช่รวบไว้ที่เดียว องค์กรจะไปไม่ได้

  • ธุรกิจต้องสนใจเรื่อง Sustainability มากขึ้น คือเราต้องระวัง เราต้องให้ความสำคัญใน 3 P คือ
    • Planet ต้องรักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อม
    • Profit มีผลกำไร มีผลประกอบการที่ดี
    • People พนักงานต้องมีความสุข
      ทุกองค์กรต้องสนใจเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนระยะได้ในระยะยาว


โอกาสและความท้าทายมีอยู่ทุกที่ ความเปราะบาง ปัญหาต่างๆ อาจสะสมมาก่อนหน้าแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อมีวิกฤตที่มาจุดระเบิดอาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราหันมาศึกษาและเข้าใจตัวตน จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองมากขึ้น การพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโลกเท่าทันเทคโนโลยี การปรับ Mindset และทักษะในการคิดวิเคราะห์ ยอมรับปัญหาและปรับตัวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้จะเป็นหนทางให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคลหรือในระดับองค์กร รวมมือกันปรับเปลี่ยน และแก้ไขในวันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


ที่มา : SCBTV
The future is now: Future of Economics ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 10 มิถุนายน 2563