โอนเงินผิดบัญชีกับผลทางกฎหมาย

ตั้งแต่การโอนเงินสามารถทำได้ง่ายได้มากขึ้น ผ่าน application ของธนาคารที่เราเป็นลูกค้า ความเป็นไปได้ในการโอนเงินผิดบัญชีย่อมมีมากขึ้น   กดเลขผิดตัวเดียว ประกอบกับความเผอเรอ เงินหมื่นเงินแสนของเราอาจไปกองอยู่ที่บัญชีของคนที่เราไม่ได้ตั้งใจจะโอนไปได้   เหตุการณ์แบบนี้อาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้นกับเรา แต่หากวันหนึ่งมันเกิดขึ้น เราควรทำอย่างไร


สิ่งแรกที่ควรทำคือ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ดูแลท้องที่ที่เรากดโอนเงิน   หากไม่แน่ใจว่า โอนเงินท้องที่ใด เช่น กดโอนเงินตอนนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า ก็อาจจะต้องนั่งนึกให้ถี่ถ้วนก่อนว่านั่งรถไฟฟ้าผ่านจุดใดในขณะโอนเงิน แล้วจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ที่เราคิดว่าเรากดโอนเงิน   แล้วนำใบแจ้งความไปติดต่อกับธนาคารที่เราเป็นลูกค้าอยู่   ธนาคารจะตรวจสอบเบื้องต้นว่าเราโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่เรากล่าวอ้างจริงหรือไม่ แล้วจึงจะติดต่อประสานงานไปยังธนาคารปลายทางเพื่อขอเรียกเงินคืนให้ ซึ่งปกติจะใช้เวลานานพอสมควร เพราะธนาคารปลายทางจะต้องไปตรวจสอบกับเจ้าของบัญชีว่ามีเงินของเราโอนเข้าไปจริงหรือไม่   แต่หากธนาคารต้นทางกับธนาคารปลายทางเป็นธนาคารเดียวกัน ขั้นตอนก็จะลดลง เราก็จะได้เงินคืนเร็วขึ้น


แล้วหากเราเป็นเจ้าของบัญชีที่อยู่ดี ๆ ก็มีเงินหมื่นเงินแสนมากองอยู่ที่บัญชีของเราล่ะ เราใช้เงินจำนวนนั้นได้หรือไม่?   ก็เงินโอนมาเข้าบัญชีเราแล้วนี่ แสดงว่าเป็นเงินของเราแล้วสิ อย่างนั้นรีบใช้เลยดีกว่า ก่อนที่เจ้าของเขาจะมาทวงคืน

การที่อยู่ดี ๆ ก็มีเงินหมื่นเงินแสนโอนเข้ามาบัญชีเรา โดยไม่มีที่มาที่ไป กฎหมายเรียกกรณีนี้ว่า “ลาภมิควรได้”   ในทางกฎหมาย ลาภมิควรได้นั้นหมายถึง ทรัพย์สิ่งใดที่บุคคลหนึ่งได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ ซึ่งมาตรา 406 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “ ... บุคคลที่ได้ทรัพย์มานั้นมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา”   ดังนั้น ลาภมิควรได้ไม่ใช่ลาภลอย เราจะนำเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปใช้ไม่ได้   อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า เงินจำนวนนั้นเป็นเงินของเราจริง ๆ เช่น เชื่อว่าเป็นเงินที่เพื่อนเคยยืมไปแล้วเพิ่งจะโอนคืนมา เราเลยถอนเงินจำนวนนั้นไปใช้   กรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดว่า หากรับลาภมิควรได้ไว้โดยสุจริต ต้องคืนเงินแก่เจ้าของเท่าที่เหลืออยู่ในขณะที่เขาเรียกคืนเท่านั้น   ถ้าใช้จนหมดแล้ว ก็ไม่ต้องคืน   แต่ในความเป็นจริง เราจะบอกว่าเราเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเงินจำนวนนั้นเป็นของเราโดยที่เราไม่ตรวจสอบอะไรก่อนเลย คงจะฟังดูไม่มีเหตุมีผลเท่าใดนัก


การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือภายใน 10 ปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น


แต่หากเรารู้ว่าเงินจำนวนนั้นโอนมาโดยไม่มีที่มาที่ไป ย่อมแปลว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่ของเรา หากเราไม่อนุญาตให้ธนาคารโอนเงินจำนวนนั้นคืนเจ้าของเขาไป หรือเรารีบถอนออกไปใช้จ่าย ย่อมเท่ากับว่าเรากระทำความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ...”   ความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


รู้อย่างนี้แล้ว ก่อนโอนเงิน ตรวจสอบความถูกต้องให้ดีก่อน ก็จะเป็นวิธีการป้องกันความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้   หรือหากมีเงินโอนเข้ามาในบัญชีของเราโดยที่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าเงินโอนมาด้วยเหตุใด ก็อย่าเพิ่งไปใช้เงินจำนวนนั้นเลยดีกว่า

 

บทความโดย : กรรภิรมย์ โกมลารชุน