PDPA ในฐานะเจ้าของข้อมูล เรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง?

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ที่มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 1  มิถุนายน 2565 นั้น เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะที่เป็น ลูกค้า พนักงาน หรือผู้รับผิดชอบดูแลงานในนิติบุคคล ก็ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยกันทุกคน


สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ การให้ความคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์ติดต่อ อีเมล การศึกษา ประวัติการทำงาน ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม รวมถึงไปถึง ลายนิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ที่อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายได้

pdpa-1027298149

สิทธิของเจ้าของข้อมูล (Data subject right) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีดังนี้

 

สิทธิที่จะได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed)

การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งรายละเอียดในการเก็บข้อมูล ตลอดจนการนำไปใช้ หรือเผยแพร่ให้เจ้าของข้อมูลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูล (ยกเว้นกรณีที่เจ้าของข้อมูลทราบรายละเอียดนั้นอยู่แล้ว เช่น เพื่อนำไปเปิดบัญชี หรือสมัครใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ) โดยเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะทราบวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล, การนำไปใช้ หรือเผยแพร่, สิ่งที่ต้องการจัดเก็บ, ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ตลอดจนรายละเอียดของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ให้ข้อมูล

 

สิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access)

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเองจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสามารถขอให้เปิดเผยถึงการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวในกรณีเกิดความไม่แน่ใจว่าตนเองได้ให้ความยินยอมไปหรือไม่ โดยสิทธิการเข้าถึงข้อมูลนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งศาล  และการใช้สิทธินั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิในการได้รับและโอนถ่ายข้อมูล (Right to data portability)

ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลต้องการนำข้อมูลที่เคยให้ไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลรายหนึ่ง ไปใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลอีกราย เช่น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายแรกได้ทำจัดทำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปในอยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดทำข้อมูลนั้น ทำการส่งหรือโอนข้อมูลดังกล่าวให้ได้ หรือจะขอให้ส่งไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นโดยตรงก็สามารถทำได้ หากไม่ติดขัดทางวิธีการและเทคนิค โดยการใช้สิทธินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

 

สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object)

เจ้าของข้อมูลสามารถคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงสามารถทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ยกเว้นมีเหตุอันควรทางกฎหมายที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น

 

สิทธิในการขอให้ลบ หรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล  (Right to erasure / Right to be forgotten)

หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล นำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ หรือสามารถเข้าถึงได้ง่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทำการลบหรือทำลายข้อมูลนั้น หรือทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถระบุตัวตนได้  โดยผู้ควบคุมข้อมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทั้งในทางเทคโนโลยีและค่าใช้จ่าย เพื่อให้เป็นไปตามคำขอนั้น

สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม (Right to withdraw consent)

กรณีเจ้าของข้อมูลเคยให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูลไป ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจ ก็สามารถยกเลิกความยินยอมนั้นเมื่อไหร่ก็ได้ โดยการยกเลิกจะต้องไม่ขัดต่อข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอมทางกฎหมาย หรือสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ความยินยอมไปก่อนหน้านี้

 

สิทธิในการขอระงับการใช้ข้อมูล (Right to restrict processing)

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนใจไม่ต้องการให้ข้อมูลแล้ว หรือเปลี่ยนใจระงับการทำลายข้อมูลเมื่อครบกำหนดที่ต้องทำลาย เพราะมีความจำเป็นต้องนำข้อมูลไปใช้ในทางกฎหมาย หรือการเรียกร้องสิทธิ ก็สามารถทำได้


สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูล (Right of rectification)

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยการแก้ไขนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริต และไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย


แม้ว่าสิทธิในฐานะของการเป็นเจ้าของข้อมูลจะได้รับการคุ้มครอง แต่การใช้สิทธิก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน และจำไว้เสมอว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้น หากถูกนำไปใช้ในทางที่ดี ก็จะเป็นผลดีกับเจ้าของข้อมูล แต่หากตกอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายกับเจ้าของข้อมูลได้เช่นกัน


ข้อมูลอ้างอิง: