เคยได้ยินไหมว่าบางคนเป็นสายเฮลตี้รักสุขภาพกินแต่ผักผลไม้ เนื้ออกไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน กินโปรตีนจากไข่และธัญพืช ดื่มน้ำผักผลไม้สกัด ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ แต่ทำไมถึงยังเจ็บป่วย แถมบางรายยังป่วยถึงขั้นเป็นโรคมะเร็ง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ คุณหมอนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การกินผักเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเพื่อความปลอดภัยจึงควรใส่ใจเป็นพิเศษในการล้างผักให้สะอาด ผู้บริโภคจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการกินผัก ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง”
ทั้งนี้จากการตรวจสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผักที่ขายตามท้องตลาดพบว่ามีผัก 10 ชนิดที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ได้แก่ กวางตุ้ง, คะน้า, ถั่วฝักยาว พริก, แตงกวา, ผักกาดขาวปลี, ผักบุ้งจีน, มะเขือ, กะหล่ำปลี และผักชี นอกจากนี้ ผักที่ทานแบบสดๆ หรือใช้กินเป็นผักแนมยังพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา เช่น ผักกาดหอม, ผักชีฝรั่ง, โหระพา, สะระแหน่, ต้นหอม, ผักชี, กะหล่ำปลี ใบบัวบก, ถั่วพูและแตงกวา ซึ่งทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย
โรคที่มาพร้อมกับผักผลไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษ
แบบเฉียบพลัน
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด หายใจไม่ออก
- ท้องร่วง
- อาหารเป็นพิษ ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นไข้ ตัวชา หรือหมดสติไป
- หรืออาจเกิดหัวใจวายและตายได้
แบบเรื้อรัง ส่วนมากมาจากการได้รับสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ จะค่อยๆ สะสมในร่างกาย
- เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง
- โรคอัลไซเมอร์
- โรคพาร์กินสัน
- โรคกระเพาะอาหาร
- การเจริญเติบโตที่ผิดปกติในเด็ก
- ทำให้เกิดความเครียด
วิธีเลือกซื้อผักและผลไม้ให้ปลอดภัย
- เลือกผักดูจากสีสันที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีคราบขาวของยาฆ่าแมลงหรือคราบดินหรือจุดดำๆ ที่เกิดจากเชื้อรา
- เลือกผักที่มีรูเจาะ มีรอยกัดของหนอนหรือแมลง
- เลือกผักผลไม้ตามฤดูกาล เพราะมีการใช้สารเคมีและปุ๋ยลดลง
- เลือกผักพื้นบ้าน ตามถิ่นที่อาศัย
- หากซื้อผักในห้างควรดูฉลากเพื่อดูแหล่งที่มา เช่น สถานที่ผลิต หรือแหล่งนำเข้าอาหาร
- เลือกผักผลไม้ที่มีตรารับรองจากทางราชการ เช่น ผักออร์แกนิคที่มีตรารับรองมาตรฐาน เป็นต้น
- ไม่ควรซื้อผักกินซ้ำซาก ควรเปลี่ยนประเภทของผักเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีชนิดเดียวกันสะสม
วิธีล้างผักผลไม้เพื่อลดสารเคมีตกค้าง
- ล้างผักด้วยแบคกิ้งโซดา (Baking Soda) โดยใช้แบคกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 80 – 95%
- ล้างผักด้วยน้ำส้มสายชู โดยใช้น้ำสายชู (ความเข้มข้น 5%) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 29-38%
- ล้างผักด้วยด่างทับทิม โดยใช้ด่างทับทิม 20 – 30 เกล็ด ละลายกับน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 35-45%
- ล้างผักด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง เด็ดผักออกเป็นใบๆ เปิดน้ำไหลผ่านแล้วใช้มือถูผักเบาๆ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 54 – 63%
- ล้างผักด้วยน้ำซาวข้าว โดยน้ำผักไปแช่น้ำซาวข้าวประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณของสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 29-38%
- ล้างผักด้วยน้ำปูนใส (ปูนที่กินกับหมาก) โดยนำน้ำปูนใส 1 ส่วนผสมกับน้ำเปล่าอีก 1 ส่วนเท่าๆ กัน แช่ผักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ประมาณ 34-52%
นอกจากนี้ยังมีวิธีในการลดสารเคมีตกค้าง อย่างการปอกเปลือกผลไม้ออกหรือการลอกผักใบนอกออกไปทิ้งสัก 2 – 3 ใบเพราะสารเคมีจะตกค้างบริเวณเปลือกหรือใบด้านนอก หรือการลวกผัก/ต้มผัก ก็จะช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ ดังนั้น การกินผักผลไม้มีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ควรมีวิธีการในการล้างเพื่อลดสารเคมีตกค้างก็จะช่วยคนสายกินผักผลไม้ห่างไกลโรค สนใจทำประกันสุขภาพเจ็บป่วยกะทันหันไม่ต้องวุ่นวายเรื่องค่ารักษาพยาบาลดูรายละเอียดได้ที่นี่ ประกันสุขภาพ
ที่มา :
https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/vegetable/
https://www.thaihealth.or.th/Content/43597-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%20%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94%20%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%20.html
https://medthai.com