7 เทคนิคบริหารเงินอย่างชาญฉลาด

คุณไม่จำเป็นต้องจบเศรษฐศาสตร์หรือการเงิน ไม่จำเป็นต้องเป็นกูรูหรือมีพอร์ตการลงทุนใหญ่ๆ ถึงจะสามารถบริหารเงินในกระเป๋าอย่างฉลาดได้ ขอแค่มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องการวางแผนการเงินขั้นพื้นฐานก็เพียงพอ ถ้าคุณสามารถปรับใช้ 7 เทคนิคในการบริหารเงินที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้ คุณจะกลายเป็น Financially savvy และคุณจะใช้เงินทุกบาทได้อย่างคุ้มค่า


1.   วางแผน

การวางแผนการเงินนั้นเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่เมื่อได้รับเงินเดือนหรือรายได้มาแล้วลบด้วยรายจ่ายต่างๆ จะเหลือเงินเท่าไหร่  แต่การวางแผนการเงินหมายถึงการคิดว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการทำจริงๆ เป้าหมายคืออะไร เช่น อยากมีบ้าน มีรถ อยากท่องเที่ยว หรือการประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างที่มีค่ากับคุณ เริ่มต้นวางแผนที่ชัดเจนว่าคุณต้องการไปสู่จุดไหนและต้องทำอย่างไรถึงจะไปสู่จุดหมายนั้นได้ การกำหนดงบประมาณเป็นหัวใจหลักตัวหนึ่งของการวางแผนการเงินซึ่งจะช่วยให้โฟกัสที่เป้าหมายและไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

2. การออมเงินเพื่อใช้ในระยะสั้น

อย่าทำให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือต้องขอกู้ยืมเงินจากใครเพราะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สิ่งสำคัญอย่างแรกในการวางแผนการเงินที่คุณต้องทำคือต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน โดยควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน ถ้าคุณมีแผนที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น รถ, บ้านหรือการท่องเที่ยว ลองใช้วิธีเก็บเงินสำหรับสิ่งเหล่านี้แยกในอีกบัญชีหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่เงินครบคุณจะสนุกกับการใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งบัตรเครดิตหรือกู้ยืมจากใครให้เสียดอกเบี้ย

3. ลงทุนระยะยาว

การเก็บเงินเพื่อการเกษียณควรเป็นการออมที่ต้องให้ความสำคัญในระดับต้นๆ  การเก็บเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณนั้นควรนำเงินไปทุนลงมากกว่าการเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากธรรมดา เช่น การลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ เช่น RMF ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะแถมยังได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย  คุณควรเริ่มเก็บเงินก้อนนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของดอกเบี้ยทบต้น

saving-discipline-banner

4. ใช้เครดิตอย่างฉลาด

การมีเครดิตทางการเงินที่ดี และใช้อย่างมีความรับผิดชอบ จ่ายตรงเวลา ใช้เครดิตในเรื่องที่สร้างคุณค่าจะช่วยสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับคุณ เมื่อคุณมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน หรือเพื่อทำธุรกิจการขอสินเชื่อจะง่ายขึ้น ดังนั้นจ่ายหนี้บัตรเครดิตและหนี้อื่นๆ ให้ตรงเวลา อย่าใช้บัตรเครดิตเกินตัว รู้ตัวอยู่ตลอดว่าคุณจะมีหนี้ได้เท่าไหร่เมื่อเทียบกับรายได้  โดยแนะนำว่าหนี้ควรอยู่ต่ำกว่า 30% ของรายได้ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง

5. เลือกเช่าในราคาที่คุ้มค่าหรือเลือกกู้ในเรทที่เหมาะสม

ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งยังเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย การค้นหาบ้านที่ใช่ที่อยู่ในงบประมาณที่คุณจ่ายได้อย่างไม่ลำบากเป็นสิ่งที่จะช่วยทั้งสุขภาพเงินและสุขภาพจิตของตัวคุณเอง  การตั้งงบประมาณสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องแน่ใจว่าคุณคิดรวมทุกรายการที่ต้องจ่ายครบถ้วนหมดแล้วว่าอยู่ในงบประมาณที่คุณจ่ายได้ คุณควรทำรายการที่เกี่ยวกับบ้านโดยยกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี กับสิ่งที่อยากจะมีออกจากกัน เพื่อให้การตัดสินใจใช้เงินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสมเหตุสมผลที่สุด ยอมรับกำลังในการจ่ายของตัวเองตามความเป็นจริงจะช่วยลดความเครียดเรื่องเงินให้คุณได้ในอนาคต บางครั้งเงินในกระเป๋าของคุณในขณะนี้อาจจะเหมาะกับการเช่ามากกว่าการซื้อ คุณก็ต้องยอมรับในสิ่งนั้นการตัดสินใจทำอะไรในเรื่องการเงินที่เกินตัวจะทำให้คุณต้องอยู่กับความเครียดในระยะยาว

6. ให้รางวัลกับตัวเอง

การวางแผนทางการเงินที่ดีไม่ใช่การตระหนี่เกินไปจนทำให้ชีวิตขาดความสุข ถ้าเราปฏิเสธความต้องการสิ่งที่เรารักทุกครั้งไปจะทำให้ลึกๆ เรากดดันและรู้สึกโหยหาสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และสุดท้ายความอยากและความโหยหานั้นอาจจะระเบิดออกมาและทำให้คุณซื้อสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นเป็นสองเท่า ดังนั้นการวางแผนการเงินควรมีพื้นที่สำหรับซื้อความสุขให้กับตัวเองด้วย ให้รางวัลกับตัวเองบ้างไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การทานอาหารสุดโปรด การไปดูคอนเสิร์ต เป็นครั้งคราวเพื่อสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพราะถ้ามีเงินอย่างเดียวแต่ชีวิตห่อเหี่ยวนั่นก็ไม่ใช่การวางแผนการเงินที่ถูกต้อง โดยอาจใช้วิธีให้รางวัลกับตัวเองเช่น เมื่อเก็บเงินได้ตามเป้าหมายอาจซื้อรองเท้าใหม่สักคู่เป็นต้น

7. อย่าหยุดเรียนรู้

โลกของการเงินมีความซับซ้อนแต่เงินนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิต คุณอาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง แต่ในการที่จะสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่มั่นคงในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คุณจำเป็นต้องเปิดรับความรู้เรื่องเงินอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด หมั่นติดตามข่าวสาร เข้าร่วมการสัมมนาหรืออบรมต่างๆ จะช่วยให้คุณได้เปรียบในการบริหารเงินและทำให้เงินงอกเงย
 

อยากให้เงินช่วยเราทำงานเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมตั้งแต่วันนี้ เลือกกองทุนรวมที่ใช่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางการเงินของคุณได้เร็วขึ้น ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/investment/fund.html
 

อ้างอิง https://www.araglegal.com/individuals/learning-center/topics/budget-and-finance/manage-money-wisely