ซื้อขาย RMF อย่างไร ไม่ให้ผิดเงื่อนไข

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF) ถือว่าเป็นเครื่องมือในการลงทุนสำหรับการเกษียณที่เหมาะสมที่สุดตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน RMF ก็มีเงื่อนไขการลงทุนสำหรับใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่เราต้องศึกษาให้ดี เพราะหากผิดเงื่อนไขภาษี นอกจากจะต้องคืนภาษีที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมาแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนดอีกด้วย บทความนี้จึงมีคำแนะนำสำหรับการซื้อขาย RMF แบบไม่ให้ผิดเงื่อนไขมาฝากกัน


เงื่อนไขการซื้อกองทุน RMF

  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีและเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

  • ต้องลงทุนใน RMF อยางสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อ RMF เกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (สามารถซื้อปีเว้นปีได้)

  • ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปีเต็ม และไม่ขายจนกว่าจะมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์

  • หากผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง จะถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน โดยผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป     อีกทั้งยังต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วง 5 ปีล่าสุดให้แก่กรมสรรพากร นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนยังต้องนําไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วย ยกเว้นกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเท่านั้น จึงจะไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน

  • สามารถหยุดซื้อได้เมื่อซื้อและถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ มีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (การนับ 5 ปี จะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน และนับแบบวันชนวัน โดยนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก) และไม่เคยระงับการซื้อเกินกว่า 1 ปี จึงจะเป็นการหยุดซื้อแบบไม่ผิดเงื่อนไข ซึ่งผู้มีเงินได้จะหยุดการลงทุนใน RMF โดยไม่ซื้ออีกต่อไปเลยก็ได้

  • การซื้อ RMF ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้มีเงินได้จะต้องมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน RMF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ซื้อ RMF หากเป็นการซื้อ RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้จะต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อ บลจ. ที่ตนได้ซื้อ RMF ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ บลจ. กำหนด

จากเงื่อนไขข้างต้น ทำให้เราต้องมั่นใจและแน่ใจในการซื้อ RMF เสียก่อนว่า จะสามารถซื้อได้ทุกปีและถือครองได้ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะ RMF ที่ทำผิดเงื่อนไขนั้นจะมีความผิด ดังนี้

1. กรณีลงทุนไม่ถึง 5 ปี และมีการทำผิดเงื่อนไขการซื้อหรือขายก่อนกำหนด

เราต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปีที่ได้รับยกเว้นไป โดยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข และนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (ถ้ามี) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้โดยถือเป็นเงินได้พึงประเมินของปีที่ขาย ซึ่งทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า โดยคำนวณจากกำไรที่ได้ จากการขายคืนหน่วยลงทุนไว้ และสิ้นปีเราต้องเอากำไรนี้มาคำนวณภาษีอีกครั้ง


2 . กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการทำผิดเงื่อนไขโดยขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

เราจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นไปเป็นเวลา 5 ปีย้อนหลังนับตามปีปฏิทิน โดยยื่นเสียภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข แต่กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเหมือนกรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี


อย่างไรก็ตาม ในการคืนเงินภาษีทั้ง 2 กรณี ถ้ายื่นแบบช้ากว่าเดือนมีนาคมของปีถัดไป จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน โดยการนับเดือนของเงินเพิ่มจะเริ่มนับจากเดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไขการลงทุนเป็นต้นไป

คำถาม ถ้าอายุยังไม่ครบ 55 ปีแต่ระงับการซื้อ RMF เกิน 1 ปี ต้องปฏิบัติอย่างไร

กรณีนี้ถือว่าทำผิดเงื่อนไขการซื้อ RMF สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ใหม่ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข เพื่อคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นจากการนำค่าซื้อ RMF มาหักลดหย่อนในอดีตให้แก่สรรพากร โดยยื่นแก้ไขสูงสุด 5 ปีย้อนหลัง ดังตาราง

ลงทุนครั้งแรก 5 ม.ค. 2558

ปีที่

พ.ศ.

อายุ

ซื้อ RMF

(บาท)

ลดหย่อนภาษีที่อัตรา

ประหยัดภาษี

(บาท)

5%

10%

15%

20%

1

2558

49

200,000

100,000

100,000

25,000

2

2559

50

200,000

100,000

100,000

25,000

3

2560

51

200,000

100,000

100,000

25,000

2561

52

ระงับ

2562

53

ระงับ

4

2563

54

10,000

10,000

1,000

2564

55

จากตาราง ผู้ลงทุนได้ทำผิดเงื่อนไขในปี 2562 จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการของปี 2558 – 2560 ใหม่ เพื่อชำระภาษีคืนจำนวน 75,000 บาท ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งถ้ายื่นแก้ไขภายในกำหนด ผู้ลงทุนจะไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน แต่ถ้ายื่นไม่ทัน ผู้ลงทุนจะเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องคืน โดยจะคิดเงินเพิ่มตั้งแต่เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ลงทุนจะมายื่นแบบแก้ไข ดังนั้นหากรู้ตัวว่าทำผิดเงื่อนไข ให้รีบยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ใหม่ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไขทันที


เมื่อผู้ลงทุนได้ยื่นแบบใหม่แล้ว ถ้าผู้ลงทุนไม่ขายกองทุน RMF แต่ถือหน่วยลงทุนในกองทุน RMF ต่อและยังคงซื้อต่อเนื่อง ผู้ลงทุนจะสามารถนับระยะเวลาที่ซื้อกองทุน RMF ในอดีตก่อนที่จะปฏิบัติผิดเงื่อนไขรวมเข้ามาได้ด้วย


คำถาม
ซื้อ RMF เกินวงเงินทำอย่างไร

คำแนะนำสำหรับการซื้อ RMF เกินสิทธิ์ คือ ควรถือจนครบตามเงื่อนไข แม้ว่าจะซื้อเกินสิทธิ์ก็ตาม เนื่องจากสรรพากรจะมองว่าการขาย RMF ก่อนครบกำหนดนั้น เป็นการขาย RMF ในส่วนที่ใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน  โดยหากมีการขาย RMF หลังจากถือจนครบเงื่อนไขแล้ว เงินกำไรจากการขาย RMF ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะได้รับเฉพาะกำไรส่วนที่คำนวณมาจากค่าซื้อ RMF เฉพาะส่วนที่ไม่เกินสิทธิที่ได้รับยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การขาย RMF ที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ให้ได้รับยกเว้นกำไรเฉพาะส่วนที่คำนวณจากจำนวนเงินค่าซื้อ RMF ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษีเท่านั้น


คำถาม
อยากขาย RMF ขายได้อย่างไร

ควรขาย RMF เมื่อครบเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพื่อให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอย่างครบถ้วน นอกจากนี้หากเราซื้อ RMF จากหลาย บลจ. และไม่ได้ซื้อต่อเนื่องอยู่กับ บลจ.ใด บลจ. หนึ่ง เมื่อต้องการขายคืนให้แก่บลจ. ต้องเเนบหนังสือรับรองการซื้อของเเต่ละบลจ. (ทุกกองทุนที่มีการลงทุน) มาเเนบประกอบการขายคืนด้วย เพื่อยืนยันว่าเราทำถูกเงื่อนไขของการซื้อ RMF และไม่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนั้นอย่าลืมเก็บเอกสารการลงทุนต่างๆ ไว้ให้ดี เพราะบางคนอาจจะลงทุนใน RMF ตั้งแต่อายยุยังน้อย ซึ่งกว่าจะขายคืนได้ อาจจะหลงลืมไปแล้วว่าซื้อ RMF จากที่บลจ.ไหนบ้าง


เทคนิคซื้อขาย RMF ให้ปลอดภัย

  • วางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี ด้วยการประเมินรายได้และคำนวณวงเงินก่อนลงทุน จะทำให้เรารู้ว่าเรามีสิทธิซื้อ RMF สูงสุดได้ไม่เกินเท่าไหร่ (เพื่อป้องกันการซื้อเกินสิทธิ)

  • กำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนในการซื้อ RMF เช่น ซื้อตั้งแต่ต้นปี บางคนก็ซื้อปลายปีไปเลย หรืออาจจะทำคำสั่งซื้อแบบ Dollar Cost Average (DCA) ไว้ อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากลงทุน RMF แบบต่อเนื่อง ก็ควรทำคำสั่งซื้อขั้นต่ำไว้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อทำให้เราไม่หลงลืมการซื้อ RMF ในแต่ละปีไป จะได้ไม่ระงับการลงทุนเกิน 1 ปี

  • จดบันทึกการซื้อ RMF ในแต่ละปี พร้อมทั้งรวบรวมและจัดเก็บหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนไว้ให้ดี เพราะจะต้องใช้เป็นหลักฐานแนบประกอบการขายคืนในอนาคต นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานที่ใช้ในการยื่นภาษีไว้ให้ดีเช่นกัน เพราะหากเราเกิดทำผิดเงื่อนไขของ RMF ขึ้นมา แล้วต้องคืนภาษีที่ประหยัดได้ให้สรรพากร เราจะได้คำนวณเงินดังกล่าวได้ถูกต้อง ไม่เกิดข้อโต้แย้งกับสรรพากรในภายภาคหน้า ทางที่ดีอย่าผิดเงื่อนไข จะดีที่สุด


บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร