รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเศรษฐีแล้ว

บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร


คุณเคยสงสัยมั้ยว่า ‘ต้องมีเงินมากแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นเศรษฐี?’

อันที่จริงแล้ว เราวัดความร่ำรวยของบุคคลจาก ‘ความมั่งคั่งสุทธิ หรือ Net Worth’ ซึ่งความมั่งคั่งสุทธิ หมายถึง ขนาดของสินทรัพย์รวมของบุคคลหักออกด้วยหนี้สินรวมของบุคคล สามารถแสดงได้ ดังสมการ


ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ - หนี้สิน


สำหรับเมืองไทย เราอาจเคยได้ยินคำว่า เศรษฐีเงินล้าน นั่นก็พออนุมานได้ว่า หากมีความมั่งคั่งสุทธิเกิน 1 ล้านบาทก็เป็นเศรษฐีได้แล้ว ส่วนโลกตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา เขาก็ใช้ตัวเลข 1 ล้านเช่นกัน แต่เป็น 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32 ล้านบาท โดยเราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘ผู้มีความมั่งคั่งสูง หรือ High Net Worth Individuals’ นี่คือความหมายของเศรษฐีตามคำนิยาม


อย่างไรก็ตามคำนิยามก็คือคำนิยาม เพราะมีคนจำนวนมากที่มีความมั่งคั่งสุทธิหลักสิบ จนไปถึงหลักร้อยล้าน ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเศรษฐี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าคำถาม ‘ต้องมีเงินมากแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นเศรษฐี?’ คือ การกำหนดความหมายของเศรษฐีในแบบฉบับของตัวเองก่อน

นิยาม ‘เศรษฐี’ ที่อยากนำเสนอในบทความนี้ คือ การมีรายได้จากสินทรัพย์ หรือ Passive Income มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือ การมีรายได้จากเงินลงทุนเพียงพอที่จะดูแลตนเองและบุคคลที่ต้องพึ่งพาเราไปจนสิ้นอายุขัย ซึ่งการจะมีเงินพอเลี้ยงตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับ Life Style หรือความเป็นอยู่ที่ตัวเองกำหนด เช่น หากคุณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท (120,000 บาทต่อปี) และต้องการนำดอกผลจากการลงทุนมาเป็นค่าใช้จ่าย วิธีการคือเราต้องสร้างพอร์ตการลงทุนที่สามารถให้ดอกผลจากการลงทุนอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน สมมติว่าเราสามารถหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลได้ประมาณ 4% ต่อปี เพื่อให้รายได้จากการลงทุนของคุณเพียงพอกับค่าใช้จ่าย คุณต้องมีพอร์ตการลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท (3,000,000 บาท x 4% ต่อปี = 120,000 บาทต่อปี)


แต่หากคุณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท (360,000 บาทต่อปี) หาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 4% ต่อปีเช่นกัน เงินลงทุนที่คุณต้องมีก็จะเป็น 3 เท่าของคนแรก คือ 9 ล้านบาท (9,000,000 บาท x 4% ต่อปี = 360,000 บาทต่อปี) จึงจะถือว่ารวยพอ ทำให้แต่ละคนก็จะมีตัวเลขความรวยที่แตกต่างกัน และสามารถกำหนดได้ว่าระดับไหนคือระดับที่เหมาะสมของตนเอง


สำหรับเคล็ดลับสู่การเป็นเศรษฐีนั้น ในเบื้องต้น เราต้องมาทำความรู้จักกับรายได้ 2 ประเภทกันก่อน คือ รายได้จากการทำงาน หรือ Active Income และ รายได้จากสินทรัพย์ หรือ Passive Income


ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน เราจะมีรายได้จากการทำงาน (Active Income) เป็นหลัก จากนั้นให้วางแผนการเงินและบริหารจัดการเงินของตัวเองให้ดี เพื่อให้มีเงินออม และนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากสินทรัพย์ (Passive Income) ให้ได้ หากพบว่าไม่มีเงินออม หรือเงินที่ออมมีจำนวนน้อยเกินไป วิธีที่จะช่วยได้ คือ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และหาผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และการบริหารเวลาที่ดี ดังนั้นการลงทุนในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

เราสามารถแบ่งรายได้จากสินทรัพย์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. รายได้จากการลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตร ตั๋วเงินคงคลัง ตลาดเงิน กองทุนรวม รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่ถือว่ามีค่าและแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้

  2. รายได้จากการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ หรือธุรกิจซึ่งนำมาซึ่งรายได้ต่อเนื่องโดยคุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินการหรือสร้างรายได้ เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าลิขสิทธิ์หนังสือ ดนตรี หรือซอฟท์แวร์ การขายแฟรนไชส์ การให้เช่าโกดังเก็บสินค้า เป็นต้น หลักการคร่าวๆ คือ การให้ธุรกิจทำงานแทนคุณและสร้างรายได้ด้วยตัวของมันเอง


นอกจากนี้เคล็ดลับสำคัญของการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ คือ การศึกษาค้นคว้า การเรียนรู้เรื่องการลงทุน หัดทำความคุ้นเคยกับวิธีลงทุนและเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น กองทุนรวม พันธบัตร การลงทุนทำธุรกิจ เป็นต้น จากนั้นฝึกปรือความสามารถด้านใดด้านหนึ่งให้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เริ่มต้นลงทุนในด้านนั้นแล้วค่อยหัดลงทุนในด้านอื่นๆ ต่อไป การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ยากเกินที่จะศึกษา ความรู้จะเป็นเกราะป้องกันการถูกหลอกและการขาดทุนอย่างไม่มีเหตุผลได้


สุดท้าย ความรวยความจนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีเงินมากเงินน้อย แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ การรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ และการเผื่อแผ่แบ่งปันผู้อื่นด้วย ความรวยที่แท้จริงคือการรู้จักตัวเอง รู้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับตัวเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี และลงมือทำเพื่อผลักดันตนเองให้ประสบความสำเร็จทั้งในปัจจุบันและอนาคต