วางแผนเกษียณฉบับเจ้าของกิจการ

คนส่วนใหญ่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอยากจะเกษียณกันอย่างมีความสุขกันทั้งนั้น แต่กลุ่มที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของกิจการหล่ะ ก็มีวันต้องเกษียณอายุเหมือนกัน ฉบับนี้เลยขอพูดถึงเจ้าของกิจการบ้าง ต้องบอกว่ากระบวนการในการทำแผนเกษียณก็เหมือนกับมนุษย์เงินเดือน แต่การวางแผนเกษียณของท่านที่เป็นเจ้าของกิจการจะมีความแตกต่าง แต่ยืดหยุ่นมากกว่ามนุษย์เงินเดือน ตรงที่มนุษย์เงินเดือนมีอายุเกษียณที่แน่นอน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 60 ปี แต่เจ้าของกิจการอาจจะเกษียณก่อนหรือหลังจาก 60 ปี ได้ ดังนั้นแหล่งเงินออมหรือเงินทุนที่เตรียมไว้ใช้เพื่อเกษียณ จะขึ้นกับผลประกอบการของธุรกิจ  ซึ่งจะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่แหล่งเงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือนนอกจากเงินออมจากค่าจ้างแรงงานแล้ว ยังมีมาตรการส่งเสริมการออมที่หลากหลายอาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนภาคบังคับอย่างกองทุนประกันสังคม เป็นต้น


ถ้าจะพูดถึงเจ้าของกิจการซึ่งมีหลากหลายรูปแบบในการประกอบธุรกิจ บ้างก็ทำธุรกิจในรูปแบบเจ้าของคนเดียว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ใช้เงินทุนไม่มาก ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจ แต่จะไม่สามารถแยกสินทรัพย์และหนี้สินที่แท้จริงว่าเป็นของธุรกิจหรือของตัวเจ้าของเอง เพราะใช้ร่วมกัน การวางแผนเกษียณของเจ้าของกิจการจะขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว สำหรับธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วน โดยทั่วไปเป็นการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงที่จะกระทำกิจการการค้าร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะรับภาระหนี้สินและแบ่งกำไรที่เกิดจากกิจการดังกล่าว เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จะมีฐานะคล้ายกับบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัด ทั้งสองรูปแบบนี้ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ การจัดตั้งและการเลิกกิจการจะทำได้ยากขึ้น สุดท้ายเป็นธุรกิจในรูปแบบบริษัท ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้นๆ แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน มีขอบเขตของความรับผิดในมูลหนี้ การจัดตั้งและการเลิกกิจการจะยิ่งทำได้ยากขึ้นกว่าห้างหุ้นส่วน

ทางเลือกหลักในการจัดการกับธุรกิจสำหรับการวางแผนเกษียณของเจ้าของกิจการมีดังนี้

  1. การเลิกกิจการ คือนำทรัพย์สินขาย และดำเนินการขั้นตอนการเลิกกิจการ และดำเนินการชำระหนี้ทั้งหมดคืนให้กับเจ้าหนี้ ส่วนที่เหลือคืนให้กับเจ้าของกิจการตามสัดส่วน ทางเลือกนี้เหมาะกับธุรกิจที่ไม่สามารถหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้ต่อไป เป็นธุรกิจที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ลูกค้ายอมรับและเชื่อถือในตัวเจ้าของคนเดิมเท่านั้น

  2. การดำเนินกิจการต่อไป เพื่อนำรายได้จากธุรกิจมาเป็นเงินทุนสำหรับใช้ในยามเกษียณ ปัจจัยที่สำคัญคือ จะต้องมีผู้รับช่วงต่อที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในธุรกิจ สามารถบริหารงานต่อไปได้เป็นอย่างดี โดยหาทางป้องกันการสูญเสียผู้รับช่วง หรือมีแผนการส่งต่อธุรกิจ หรืออาจจะขายกิจการให้กับผู้รับช่วงต่อในอนาคต

  3. การขายธุรกิจให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำรายได้จากการขายธุรกิจดังกล่าวมาเป็นเงินทุนสำหรับใช้ในวัยเกษียณ ปัจจัยที่จะขายธุรกิจได้ในราคาที่เป็นธรรม จะต้องมีแผนในการเจรจาต่อรองราคาซื้อขาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย


การวางแผนเพื่อวัยเกษียณของเจ้าของกิจการ ขั้นตอนหรือกระบวนการวางแผนจะเหมือนกับการวางแผนเกษียณให้กับมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่สำคัญคือ การประมาณการกระแสเงินสดของผู้ประกอบการซึ่งมีความยากลำบากกว่า เนื่องจากมีความผันผวนสูง ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก จึงต้องมีการทบทวน ติดตามแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ

บทความโดย
ชัยสิทธิ์ นพรุจชโนดม นักวางแผนการเงิน CFP®

ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย http://www.tfpa.or.th