ค่าใช้จ่ายแบบนี้ มีไว้หมดห่วงในวันลา

เพราะไม่มีวันรู้ว่าพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะเกิดขึ้นก่อน การตื่นเช้าขึ้นมาทุกวันแล้วพบว่าตัวเองยังหายใจอาจเป็นเรื่องดี แต่ถ้าวันหนึ่งไม่เป็นอย่างนั้น คนที่เราทิ้งไว้เบื้องหลังอาจต้องเจอทั้งความเศร้าสะเทือนใจ และวุ่นวายกับสารพัดสิ่งที่ต้องมาจัดการแทน ดังนั้น ปัดทิ้งความคิดว่าการเตรียมตัวเหล่านี้เท่ากับแช่งตัวเองไปซะ เท่านี้ก็ช่วยให้การจากไปไร้พะวงได้เปลาะหนึ่ง


1. ยืดอกรับความตาย เริ่มง่ายๆ ที่กล้าทำ


ในความเชื่อเดิมๆ การพูดเรื่องเสียชีวิตเป็นลางไม่ดี แต่ปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิตที่ไม่ประมาท เพราะถึงเวลาจริงในหลายครั้งพบว่า นอกจากความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว คนที่ยังอยู่มักจะต้องเผชิญความปวดหัวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากคนที่เรารักเสียชีวิต ดังนั้น หากมีการพูดคุยกันไว้ล่วงหน้าหรือที่เรียกกันติดปากว่า “สั่งเสีย” ย่อมไม่ได้หมายถึงเค้าลางแห่งความเศร้า แต่เป็นการช่วยแบ่งเบาความว้าวุ่นในอนาคตหากเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นจริง


2. แยกบัญชี ทรัพย์สิน หนี้สิน ให้ชัดเจน


หมั่นสำรวจสถานะการเงินของตัวเองอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง หรืออัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ โดยแยกข้อมูลให้ชัดเจนระหว่างทรัพย์สินกับหนี้สิน เพราะจะง่ายต่อการจัดการของตัวเองและผู้ที่ต้องรับมรดกเหล่านี้ไป เพราะหากไม่จัดการแยกไว้ก่อน บางครั้งอาจเป็นต้นตอความบาดหมางของสมาชิกครอบครัว ไหนจะต้องตามหาเอกสารหลักฐานว่าผู้ตายมีทรัพย์สินและหนี้สินอะไรบ้าง เช่น เอกสารการซื้อขายสินทรัพย์ โฉนดที่ดิน สมุดบัญชีธนาคาร พร้อมอย่าลืมมอบหมายเลือกคนที่ไว้ใจ เพื่อยืนยันว่าเราจัดระเบียบเอกสารอย่างนี้ไว้เรียบร้อย


3. ทำพินัยกรรมให้ชัดเจนดีกว่ามาอลเวงภายหลัง


ควรทำพินัยกรรมให้ชัดเจนแก่ผู้สืบสันดาน เพราะทรัพย์สินจะถูกจัดสรรไปให้ยังผู้ที่เราอยากให้รับช่วงเข้าไปดูแลต่อตรงตามเจตนา ซึ่งพินัยกรรมมีทั้งทำแบบหนังสือ เขียนเองทั้งฉบับ หรือให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้จัดการให้ แต่ถ้าเป็นเอกสารลับที่ต้องปิดซองผนึกและลงลายมือตรงรอยผนึกแล้วก็ต้องมีการฝากให้นายอำเภอเก็บไว้ หรือจะเป็นพินัยกรรมแบบวาจาที่ต้องใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีอุบัติเหตุร้ายแรงและใกล้ตาย แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเลือกวิธีการไหนก็ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน ขึ้นไป ทั้งหมดนี้ควรมีเวลาศึกษารายละเอียดขั้นตอนการทำให้อย่างชัดเจน

expense-in-departure-day-01

4. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเสียชีวิต


สิ่งที่เราน่าจะพอประมาณการณ์ได้อีกเรื่อง คือ ค่าดำเนินขั้นตามต่างๆ ที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่แจ้งการเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง การติดต่อสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาให้กับผู้เสียชีวิต หากเสียชีวิตที่โรงพยาบาลก็ต้องดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่าย เตรียมดูเรื่องการใช้สิทธิต่างๆ ของสมาชิกครอบครัวหากเป็นข้าราชการ หรือหลักเกณฑ์ของประกันชีวิตไว้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนที่ของผู้เสียชีวิตไปยังที่สถานที่ประกอบพิธีกรรม


5.ค่าใช้จ่ายหลังการไว้อาลัยผ่านพ้น


ทุกอย่างจะดำเนินการได้รวดเร็วหากมีการทำพินัยกรรมไว้ แต่ถ้าไม่ได้ทำอาจมีขั้นตอนยุ่งยากเกิดขึ้น เช่น ต้องหาสำรวจทรัพย์สินทั้งหมดมีอะไรบ้าง การหาโฉนดที่ดิน จากนั้นต้องจ้างทนายเพื่อดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินแก่ผู้สืบสันดานแต่ละส่วน ยิ่งถ้ามีพี่น้องลูกหลานเยอะก็อาจใช้ทั้งเวลาดำเนินการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกที่ต้องตามมา เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าจดทะเบียนโอนมรดก โอนที่ดิน และถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ยังติดภาระจำนองอยู่ก็ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อดำเนินการต่อจนกว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ปิดบัญชีให้เรียบร้อย


เมื่อความตายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ที่เราทำได้แน่แท้คือการวางแผนและบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า เมื่อวันหนึ่งที่ต้องจากลา คนที่เรารักอาจไม่ต้องสับสนวุ่นวายกับเรื่องไม่จำเป็น ซึ่งประกันชีวิตเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้วางแผนช่วยค้ำจุนความมั่นคงของคนที่อยู่ข้างหลังได้ สนใจรายละเอียดประกันเพื่อเป็นมรดก คลิกที่นี่


ที่มา
https://www.set.or.th/set/financialplanning/knowledgedetail.do?contentId=1017&type=article
https://www.posttoday.com/finance-stock/money/297893
https://wealthmeup.com/21-09-15-legacy/?fbclid=IwAR2wxk_H8u2mGqaqhBtkfCvkcQYUr8qaG1BcahuLhA6JOgtQIfO78ndDPWc