เที่ยวได้ไม่เอ๊าท์...ที่เสาชิงช้า

ย่านเสาชิงช้า เป็นอีกหนึ่งเขตเมืองเก่าที่น่าเที่ยวในกทม. นอกจากแลนด์มาร์คที่คุ้นตา อย่างเสาชิงช้า ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ลานคนเมือง วัดสุทัศน์ฯ ย่านเก่าแห่งนี้ยังมีสถานที่สุดชิคที่ผสมผสานกลิ่นอายความคลาสสิกของห้วงเวลาแห่งอดีตในทุกย่างก้าวที่เชิญชวนให้คนทุกวัยได้มาแวะเยือนอย่างไม่รู้เบื่อ เป็นที่ๆ ใครก็เที่ยวได้ไม่เอ๊าท์ ... ที่เสาชิงช้า

ร้าน Pastale

ประเดิมเปิดทริปที่ “Pastale” ร้านอาหารโฮมเมด บรรยากาศอบอุ่นที่คุณจะหลงรัก เดินจากหน้ากระทรวงมหาดไทย เลี้ยวขวาไปทางถนนเฟื่องนคร จะเห็นหน้าร้านทาสีขาวสวยเรียบง่าย ผลักประตูไม้ก้าวเข้าไปในร้าน จะพบพื้นที่วางโต๊ะอาหาร เคาน์เตอร์ขนาดกะทัดรัดที่หลายคนมานั่งรอคิวทานอาหารฝรั่งโฮมเมดจากฝีมือของเจ้าของร้านที่บรรจงทำจานต่อจานให้ลูกค้าทุกคนได้อิ่มอร่อยกับมื้อกลางวัน

เปิดดูเมนูก็ต้องร้องว้าว! อาหารแต่ละอย่างน่ากินมากในราคาเป็นมิตร เช่น สปาเก็ตตี้แซลมอนรมควัน ผัดซอสครีมไวน์ขาวและผักชีลาว รสเผ็ดนิดๆ  ข้าวหน้าปลาแซลมอนย่างและคาคูนิ ที่เป็นหมูสามชั้นตุ๋นซอสนาน 8 ชั่วโมงจนนุ่ม ย่างไฟบางๆ กับซอสรสเผ็ด ทานกับไข่ลวก Humburg Pork Steak สเต๊กหมูบด ชิ้นหนานุ่ม ย่างกับชีส เสิร์ฟบนวาฟเฟิลอุ่นๆ ฯลฯ การสั่งอาหารร้านนี้ต้องรอตามคิว ซึ่งรสชาติอาหารอร่อยสุดยอดสมการรอคอย แนะนำควรมาประมาณ 11 โมง จะได้ไม่ต้องรอคิวนาน และกันอาหารหมด เพราะวัตถุดิบต่อวันมีจำนวนจำกัด เอ็นจอยกับอาหารมื้อดีๆ แล้วก็ไปเดินเที่ยวกันเลย


พิกัด : https://goo.gl/maps/SYtB19J1cVyv71er6

ร้านก.พาณิช

เดินย้อนกลับไป ผ่านแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า เข้าถนนตะนาว จะเจอร้านข้าวเหนียวมะม่วงในตำนาน “ร้าน ก. พาณิช” เปิดขายมาตั้งแต่พ.ศ. 2475 ด้วยตำรับข้าวเหนียวมะม่วงสูตรดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่เป็นช่างเครื่องในวัง โดยมีเคล็ดลับอยู่ที่การใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากเชียงรายและส่วนผสมในการมูลข้าวเหนียวตามสูตรโบราณ ความอร่อยได้รับการันตีจากหลายสถาบัน ทั้งเชลล์ชวนชิม Users’ Choice 2019 by Wongnai Michelin 2019 ผ่านมาถ้าไม่กินที่ร้าน ก็สามารถซื้อแบบเป็นถุงกลับไปกินที่บ้านได้


พิกัด : https://goo.gl/maps/eFYZU36TG7ouj9HY8

ณัฐพรไอศกรีม ถนนแพร่งภูธร

เดินข้ามฝั่ง เข้าไปตามถนนแพร่งภูธร ลัดเลาะไปตามตึกแถวสีเหลืองทรงคลาสลิกจนถึงร้าน “ณัฐพรไอศกรีม” ที่อยู่เยื้องสถานีอนามัย (สุขุมาลอนามัย) มาลองชิมไอศกรีมโบราณทรงเครื่อง เจ้าเก่าแก่กว่า 70 ปีแห่งแพร่งภูธร มีไอศกรีมไทยหลากหลายรสชาติ เช่นกะทิอร่อยหวานมัน ชาเขียวมัทฉะรสเข้มข้น ช็อกโกแลต ชาไทย กาแฟ ทุเรียน มะม่วงมหาชนก ฯลฯ โรยหน้าเครื่องอย่างจุใจ อยากกินไอศกรีมโฮมเมดอร่อยแบบดั้งเดิม อย่าพลาดแวะมาที่นี่


พิกัด : https://goo.gl/maps/bweUwiUk7FFPFb7y6

วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถนนแพร่งนรา

เดินลัดเลาะไปตามถนนแพร่งภูธร ออกทางถนนอัษฎางค์ที่ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารกระทรวงกลาโหม เลี้ยวขวาเข้าถนนแพร่งนรา ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของ “วังวรวรรณ” ที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้ โดยทางฝั่งซ้ายจะยังคงเห็นส่วนหนึ่งของวังวรวรรณ คือพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ตัวอาคารทั้งอาคารตึกและอาคารไม้สูง 2 ชั้น สร้างต่อเนื่องกัน การตกแต่งส่วนใหญ่เป็นไม้ฉลุ มีลวดลายสวยงามอ่อนหวาน ส่วนที่สร้างเป็นพิเศษคือ ห้องชั้นลอยซึ่งต่อด้วยไม้ขนาดย่อม มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นสร้างด้วยเหล็กหล่อ เดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ซึ่งต่อมากลายเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ที่ได้ปิดทำการไปแล้ว


พิกัด : https://goo.gl/maps/3kdw3DjoebQyhKqr9

ลูกชิ้นแพร่งนรา

เดินต่อไปจนสุดถนนแพร่งนรา ตัดกับถนนตะนาว ตรงหัวมุมจะพบร้านลูกชิ้นแพร่งนรา ขายลูกชิ้นหมูเจ้าดัง เนื้อแน่น เด้ง อร่อย ราดน้ำจิ้มรสจัดจ้าน หวานเจือเผ็ดน้อย ปิ้งร้อนๆ สุกกำลังดี ราคาไม้ละ 8 บาทเท่านั้น


พิกัด : https://goo.gl/maps/KBFrpobsjVnzesB99

ร้านบัวลอยเกตุแก้ว

เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว ใครที่อยากลองชิมรสบัวลอยไข่เค็ม บัวลอยไข่หวาน ชวนให้แวะร้านบัวลอยเกตุแก้ว เจ้าดังแห่งแพร่งนรา ด้านหน้าร้าน เราจะเห็นความน่ากินของบัวลอยสีสันสดใสที่ต้มอยู่ในหม้อทองเหลือง และเครื่องต่างๆ เรียงรายในโถจานแก้ว เข้าไปด้านในร้าน จะเห็นการผลิตเม็ดบัวลอยสดใหม่ และมีมุมเล็กๆ ให้นั่งทานที่ร้าน บัวลอยไข่หวาน อร่อยด้วยเม็ดบัวลอยสีสวยเคี้ยวหนึบเต็มคำ น้ำกะทิกลมกล่อมหวานมัน ใส่เครื่องแบบจัดเต็ม ทั้งมะพร้าวอ่อน เผือก ข้าวโพด ฟักทอง ทานอร่อยอิ่มแล้ว จะซื้อไปฝากคนที่บ้าน เขาก็จะจัดให้เป็นชุดแยกให้ และสามารถใช้แอป SCB EASY สแกน QR Code แม่มณี จ่ายได้เลย สะดวกจริงๆ


พิกัด : https://goo.gl/maps/Az3c6bteaEHnKEtb8

ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ

เดินต่อมาอีกนิด จะพบซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ซึ่งภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนหมด เหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่สวยงามให้เห็นในปัจจุบัน


พิกัด : https://goo.gl/maps/vFhbVr6pmNPAXZPD7

บ้านขนมปังขิง

จากซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ เดินข้ามถนน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนาวา เดินไปเรื่อยๆ จะต้องสะดุดตากับบ้านไม้ 2 ชั้นทรงไทยร่วมสมัย กำแพงรั้วเป็นลายไม้ฉลุงดงาม เงยหน้ามองด้านบนบานประตูไม้ที่เปิดต้อนรับผู้มาเยือน จะเห็นป้ายบอกชื่อ “บ้านขนมปังขิง” บ้านเรือนไทย สไตล์ฝรั่งสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Ginger Bread House สร้างโดยรองอำมาตย์โท ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) ในปีพ.ศ. 2456 เราก็ไม่รอช้า เข้าไปชมความงดงามของบ้านหลังนี้ ซึ่งเจ้าของปัจจุบันที่เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ได้บูรณะ “บ้านขนมปังขิง” และเปิดเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ มีลูกค้ามานั่งทานกาแฟ ขนม และถ่ายรูปกับบรรยากาศภายในบ้านอย่างครึกครื้น คืนความมีชีวิตชีวาให้บ้านเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีแห่งนี้

มุมแนะนำคือที่นั่งตรงชานพักบันไดชั้นสอง ที่ดัดแปลงเป็นที่นั่งแบบเดย์เบดนอนเอกเขนกจิบน้ำชายามบ่าย อีกแห่งคือที่นั่งตรงระเบียงชั้น 2 ที่โปร่งโล่งรับลมเย็น นั่งชิลชมความสวยงามของชายคาบ้านที่งดงามด้วยลายฉลุลวดลายละเอียดอ่อน ถ้าใครอยากนั่งโซนห้องแอร์ ก็มีส่วนห้องติดแอร์ที่ห้องด้านล่างและห้องในสุดของชั้นสอง ทุกรายละเอียดของ “บ้านขนมปังขิง”ทั้งบรรยากาศ ขนมหวานไทย ทำให้เราได้ย้อนเวลากลับสัมผัสเสน่ห์ความเป็นไทยในอดีตได้อย่างน่ารื่นรมย์


พิกัด : https://goo.gl/maps/KTFfJjHKzdQeB6CD9

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ออกจากซอยนาวา เข้าถนนดินสอ ก็ถึงเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดนำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาประจำราชสำนัก ในอดีตเคยมีชื่อว่า “ฮินดูสภา” ด้านในมีโบสถ์ 3 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระอิศวร พระพิฆเนศ และพระนารายณ์


นอกจากนี้ยังมีหอเวทวิทยาคมซึ่งเป็นห้องสมุดเก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับวรรณคดี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ทาง ศาสนาพราหมณ์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา และอภิปรายสนทนา ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งใน ประเทศไทย เปิดให้ประชาชนเข้าไปค้นคว้าเพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ ศาสนาฮินดู อีกด้วย


พิกัด : https://goo.gl/maps/8LGuFjKvPhpeTRUy5

เสาชิงช้า

มาถึงแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ “เสาชิงช้า” เสาสีแดงสูงใหญ่ที่อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2327 ตั้งอยู่บนแท่นหินฐานกลม ก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว มีเสาไม้แกนกลางคู่ และเสาตะเกียบ 2 คู่ ทำด้วยไม้สักกลึงกลม เสาชิงช้าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายของศาสนาฮินดู แต่พิธีนี้ได้ยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แล้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็น โบราณสถาน สำคัญของชาติ


พิกัด : https://goo.gl/maps/LY6mmvtwwwX1mc9RA

วัดสุทัศน์เทพวราราม

ถัดจากเสาชิงช้า ก็เป็นที่ตั้งของวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดสำคัญคู่กรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และทรงพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม”


พิกัด : https://goo.gl/maps/m2j9DCgvYaPuzuot5

บำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน)

ไม่ไกลจากวัดสุทัศน์ ในตรอกเล็กบนถนนบำรุงเมือง มีตึกทรงโคโลเนียล ชิโน-โปรตุเกส ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบท่ามกลางตึกแถวร้านค้า เงยขึ้นไปมองจะเห็นป้ายพื้นสีฟ้าเข้มตัวอักษรสีทอง มีข้อความว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือที่รู้จักทั่วไปว่า “บ้านหมอหวาน” ซึ่งเป็นร้านขายแผนไทย ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยหมอหวาน รอดม่วง แพทย์แผนไทยที่มีชีวิตอยู่ในสมัย รัชกาลที่ ๕-๘

“บ้านหมอหวาน” เปิดต้อนรับผู้ที่สนใจยาแผนโบราณให้มาเที่ยวชมและอุดหนุนยาตำรับของหมอหวานได้ แม้ประตูรั้วหน้าบ้านจะปิดคล้องกุญแจ แต่ก็สามารถกดกริ่งบอกการมาเยือนได้ ด้านในอาคารได้รับการดูแลอย่างดีโดยทายาทรุ่นที่ 4 ของหมอหวาน มีการจัดแสดงตัวยาสมุนไพรแผนไทยนานาชาติในตู้กระจก รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ปรุงยาของไทยที่หาชมได้ยาก ยาแผนโบราณตำรับหมอหวานที่จำหน่าย ก็อย่างเช่น 4 ตำรับยาหอม “ยาหอมสุรามฤทธิ์” “ยาหอมอินทรโอสถ” “ยาหอมประจักร์” “ยาหอมสว่างภพ” ซึ่งยังคงตำรับและกรรมวิธีผลิตอย่างดั้งเดิมด้วยมือทุกเม็ด แล้วยังมีน้ำมันทาเส้น ขี้ผึ้งทาเส้น แก้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก ฯลฯ อีกด้วย


พิกัด : https://goo.gl/maps/BnLZCmY675HA9FPN6

ย่านแหล่งเครื่องสังฆภัณฑ์(ถนนบำรุงเมือง)

ภาพร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์หลายสิบร้านเรียงรายไปตามถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่แถวประตูสำราญราษฏร์ (ประตูผี) ถนนมหาไชย ไปจนถึงเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ เลยไปถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า หน้ากระทรวงมหาดไทย นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของย่านเสาชิงช้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในอดีตมีลักษณะเป็นร้านคูหาทำด้วยไม้ ต่อมาเมื่อร้านที่ไม้ทรุดโทรม จึงได้รื้อสร้างใหม่เป็นตึก 2 ชั้น มีกำแพงหนา ขอบประตูตอนบนโค้งมน หน้าตาจำลองแบบมาจากตึกแถวที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ ๕


พิกัด : https://goo.gl/maps/ddFRPnfEoC5siUX49

ชุมชนบ้านบาตร กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย

เดินตามถนนบำรุงเมือง วินัย ทันทีที่ลงสะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง ก็ได้ยินเสียงตีบาตรเป็นจังหวะดังมาอย่างชัดเจน เพราะที่นี่คือ “ชุมชนบ้านบาตร” ชุมชนช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำบาตรพระมายาวนานกว่า 250 ปี โดยเป็นบาตรที่ทำตามวิธีดั้งเดิมถูกต้องตามธรรมวินัย คือเป็นบาตรที่มีตะเข็บ เกิดจากการต่อเหล็ก 8 ชิ้น นำมาตีขึ้นรูปด้วยมือ และที่ชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำบาตรของชุมชนบ้านบาตร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้สนใจสามารถมาดูวิธีการทำบาตรด้วยมือในแต่ละขั้นตอนได้อย่างใกล้ชิด


พิกัด : https://goo.gl/maps/aMxcMxH8TWyZkiZ58

ร้านมนต์ นมสด

ส่งท้ายทริปเดินเที่ยวย่านเสาชิงช้า ด้วยของว่างยามบ่ายแก่ๆ อย่างขนมปังปิ้งราดนมชุ่มๆ สังขยาร้อน เครื่องดื่มนมสดรสเข้มข้นที่ร้าน “มนต์ นมสด” สาขาหน้าศาลาว่าการ กทม. ถนนดินสอ ความอร่อยไม่ต้องสงสัย การันตีด้วยจำนวนลูกค้าที่มาอุดหนุนอย่างเนืองแน่น ปิดทริปนี้อย่างแฮปปี้ ได้มีโอกาสเที่ยวชมอาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่สวยงามทรงคุณค่า อิ่มท้องด้วยอาหาร ขนมอร่อยในบรรยากาศดีๆ ลองมาเป็นนักท่องเที่ยวเดินสำรวจย่านเสาชิงช้าดูสักวัน รับรองต้องติดใจ


พิกัด : https://goo.gl/maps/avbHergnMzhoL2J7A