ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
10-04-2568
เปิดโซเชียลทีไร เจอแต่ เพื่อนฝูงโพสต์ท่าถ่ายรูปท่องเที่ยวสวยๆ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นที่ญี่ปุ่นทุกที ตัดภาพกลับมาที่ตัวเรา ถ้าไม่นั่งทำงานจนหัวฟู ก็เดินเหงาๆ อยู่บนท้องถนน แดดเผาฉ่ำ ร้อนยังกะ Fire เจอภาพบาดตาบาดใจขนาดนี้ใครจะไปทนไหว เป้าหมายจัดโปรแกรมเที่ยวญี่ปุ่น ต้องเข้าแล้วล่ะ แต่เอ๊ะ! จะเริ่มต้นตรงไหนดี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JNTO) เผยว่า ปี 2024 ที่ผ่านมา เดือน ธ.ค. เป็นเดือนที่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นสูงที่สุดเทียบกับเดือนอื่นๆ โดยอยู่ที่ 146,700 คน ตามด้วยเดือน เม.ย. อยู่ที่ 142,521 คน อันดับ 3 คือเดือน ต.ค. 132,188 คน
เมื่อดูผลสำรวจการเที่ยวญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จัดทำโดย JNTO ในปี 2023 พบว่า คนไทย 38.6% ไปเที่ยวญี่ปุ่นซ้ำ 4-9 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจากทุกตลาดที่จะมีสัดส่วนการเที่ยวครั้งแรกอยู่ที่ 32.3% มากที่สุด ขณะที่จำนวนวันพักเฉลี่ยของคนไทยที่ไปเที่ยว 50.4% อยู่ที่ 7-13 วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทุกตลาดที่จะมีวันเข้าพักส่วนใหญ่อยู่ที่ 4-6 วัน (ที่มา: JNTO https://statistics.jnto.go.jp/en/graph/#graph--dashboard--basic--basic)
ลองมาวางแผนการเที่ยวญี่ปุ่นแบบกันดีกว่า ว่าเราจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ และควรจองช่วงเวลาไหน เพื่อจะได้วางแผนเก็บเงินไปเที่ยวกันได้ถูก ด้วยแผนการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น 7 วัน เดินทางด้วยเที่ยวบินชั้นประหยัด พักในโรงแรมแบบญี่ปุ่นหรือสากลทั่วไป ท่องเที่ยวในกรุงโตเกียวและจุดหมายปลายทางของเมืองโดยรอบโตเกียว โดยใช้บริการรถไฟฟ้าชินคังเซ็น รวมถึงรถไฟ รถสาธารณะเป็นหลัก รับประทานอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป ท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีทั้งที่เสียค่าเข้าชม และไม่เสียค่าใช้จ่าย เบื้องต้นจะมีต้องเตรียมงบประมาณไว้ 45,000-72,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งในความเป็นจริง อาจจะน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ไปอีกก็ได้
สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อรู้งบประมาณคร่าวๆ ที่จะต้องใช้แล้ว ก่อนไปเที่ยวจะต้องเตรียมงบก้อนนี้ให้เพียงพอ โดยการใช้งบ จะมีทั้งส่วนที่ทยอยจ่ายล่วงหน้าก่อนเดินทาง และงบที่ต้องเตรียมไว้เมื่อเดินทาง
สำหรับส่วนที่เตรียมจ่ายก่อนเดินทาง ได้แก่ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งที่ต้องจองล่วงหน้า และค่าบัตร JR Pass ซึ่งเป็นบัตรโดยสารรถไฟในประเทศญี่ปุ่นชนิดไม่จำกัดครั้ง แบบ 7 วัน ส่วนที่ต้องเตรียมสำหรับจ่ายเมื่อเดินทาง เช่น ค่าอาหาร ค่าชอปปิง ค่า Wifi และค่าประกันการเดินทางต่างๆ
ในส่วนของค่าธรรมเนียมวีซ่านั้น เนื่องจากปี 2025 พลเมืองไทย ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเพื่อท่องเที่ยวญี่ปุ่น เพียงแต่ต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าเพื่อท่องเที่ยวก่อนไป โดยเมื่อได้วีซ่าแล้วต้องเดินทางภายใน 90 วัน นับจากวันที่ออกวีซ่า และเมื่อไปถึงญี่ปุ่นจะสามารถท่องเที่ยวได้ 15 วัน (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น https://www.mofa.go.jp/j_info/visit/visa/short/novisa.html#notice03)
สำหรับ การจองตั๋วเครื่องบิน เพื่อให้ได้ราคาที่คุ้มค่า แนะนำให้จองล่วงหน้า 2-3 เดือนก่อนการเดินทาง ส่วนการจองที่พัก ควรจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 เดือน เนื่องจากการจองล่วงหน้าในช่วงดังกล่าว มีโอกาสได้รับโปรโมชั่นหรือส่วนลดพิเศษ จากตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ หากมีเงินก้อนหนึ่งอยู่แล้วในระดับที่คาดว่าจะเพียงพอ สำหรับการเดินทาง โดยมีแผนท่องเที่ยวจริงในอีก 9-12 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากปกติ ก็เกรงว่าจะเผลอเอาออกมาใช้ไม่รู้ตัว ก็อาจจะนำเงินก้อนที่เตรียมไว้ส่วนนี้ ไปลงทุนในกองทุนรวม “เทอมฟันด์” ที่คาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนโดยประมาณได้ ภายในระยะเวลาลงทุนที่กำหนด ด้วยระดับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยเป้าหมายหลักของการลงทุน ก็คือ การรักษามูลค่าเงินเอาไว้ให้เพียงพอเมื่อต้องใช้จ่ายจริงในอนาคต
ส่วนเงินที่จะเตรียมไว้ใช้จ่ายเมื่อเดินทาง แนะนำให้ทยอยสะสมทุกเดือน เพื่อให้เพียงพอสำหรับงบประมาณที่ต้องการใช้จ่ายก่อนเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์ - 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ประมาณไว้อยู่ เช่น ในกรณีที่ ตราสารหนี้ที่ไปลงทุน ผิดนัดชำระ และไม่จ่ายผลตอบแทน แต่ความเสี่ยงนี้จะลดลงได้ หากผู้จัดการกองทุนคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กรณีที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี โดยมากแล้วกองทุนเทอมฟันด์ ก็มักจะป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ด้วย
คำแนะนำเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากวางแผนการเงินไว้อย่างรอบคอบ เตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม เมื่อถึงเวลาที่วางแผนไว้ เราก็จะได้ท่องเที่ยวตามที่ต้องการ เดินทางแฮปปี้ ชีวิตการเงินแฮปปี้ และที่สำคัญ นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อเป้าหมายท่องเที่ยวตามฝันแบบนี้แล้ว อย่าลืมวางแผนการเก็บเงินลงทุน เพื่อเป้าหมายระยะยาวไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น การเกษียณอายุ แล้วเราก็จะสุขทั้งระยะสั้น และระยะยาว
คำเตือน