‘คาร์บอนเครดิต’ เมกะเทรนด์ที่ไม่ไกลตัวอย่างที่คิด

ในชั่วโมงนี้ แทบจะเป็นไปได้ หากคนทำธุรกิจการค้าจะนั่งไขว้ห้างวางท่าเพิกเฉยต่อประเด็น “สิ่งแวดล้อม” เพราะในบริบทที่ผู้คนเริ่มร้อนรุ่มกับภาวะโลกร้อน ความโน้มเอียงที่เหล่าผู้บริโภคจะเทใจให้การสนับสนุนธุรกิจที่รับผิดชอบต่อส่วนรวมย่อมมีมากกว่า โดยมีปัจจัยอย่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่นานาประเทศจับมาเป็นเกณฑ์ชี้วัดที่จับต้องได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิต (carbon market) กำลังก้าวสู่การเป็น “เมกะเทรนด์” ที่น่าจับตามองที่สุดอีกหัวข้อหนึ่ง


การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่กำลังเติบโตคึกคักทั่วโลก ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ออกมาทำมิดีมิร้ายต่อโลกมาเกินไปแล้ว ยังเป็นการจุดประกายการมีส่วนร่วมของธุรกิจที่ปกติไม่ได้มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนส่วนเกินมาสู่โลก ให้สามารถแสวงหาโอกาสทำประโยชน์ได้ ด้วยการนำเครดิตเหลือเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนขายให้กับธุรกิจอื่นที่ปล่อยก๊าซในระดับสูงเกินเกณฑ์ และจำเป็นต้องหาเครดิตมาชดเชย

scbfirst-investment-outlook-2022-04

“คาร์บอนเครดิต” คืออะไร


หากเทียบง่ายๆ อาจคล้ายกับการปล่อยสินเชื่อ แต่เปลี่ยนจากวงเงินปล่อยกู้ เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมซึ่งวัดออกมาเป็นปริมาณ เป็นผลจากการที่องค์กรหรือบุคคลนั้นๆ ลงมือปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซจนวัดผลได้เป็นรูปธรรม จนสามารถนำสิทธินั้นไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ สิ่งนี้เปิดโอกาสให้คนในภาคอื่นๆ เข้าร่วมในการลดโลกร้อน เช่น ภาคการเกษตรที่มีการปลูกต้นไม้ หรือ ชาวสวนยางพารา เหมาะสมกับภาคเศรษฐกิจของไทยที่ยังขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตรในระดับสูงไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

แล้ว “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต” คืออะไร


เป็นพื้นที่ของการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเปิดโอกาสให้คนที่ปล่อยก๊าซในระดับต่ำจน “มีเหลือ” คาร์บอนเครดิต สามารถนำมาขายให้กับคนที่ปล่อยก๊าซไปแล้วในระดับ “ทะลุเป้า” เพื่อชดเชยปริมาณคาร์บอนที่จะออกมาทำลายชั้นบรรยากาศในภาพรวม ซึ่งเมื่อธุรกิจใดต้องใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต ย่อมต้องมีต้นทุนในการผลิตเพิ่ม หนทางที่ดีกว่า จึงเป็นการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซของตัวเองให้ได้


นอกจากตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory carbon market) ที่เป็นเกณฑ์ภาคบังคับที่แต่ละประเทศกำหนดแล้ว สำหรับคนที่อยากเข้าร่วมเอง ยังมีสิ่งที่เรียกว่าตลาดซื้อขายภาคสมัครใจ หรือ  (Voluntary carbon market) ด้วย ในประเทศไทยสามารถขึ้นทะเบียนได้กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อนำสิทธิมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ภายใต้โปรแกรม Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ถือเป็นการเปลี่ยนการปฏิบัติตามนโยบายดีๆ ออกมาเป็นกำไรได้อีกทาง

“ประเทศไทย” ไปถึงไหนแล้วกับคาร์บอนเครดิต


ไทยได้เข้าร่วมในภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 และประกาศเป้าหมายไปสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 การลดคาร์บอนจึงเป็นหมุดหมายสำคัญอีกข้อที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นบรรลุผล


ในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็เริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ การร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ จัดทำกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยสวิตเซอร์แลนด์จะสนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีบัส ในกรุงเทพฯ และไทยคาดหวังว่าจะสามารถเป็นประเทศคู่แรกของโลกที่ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีหลักเกณฑ์กำกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ชัดเจน แต่สำหรับธุรกิจที่มีคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะเริ่มศึกษามาตรการลดการปล่อยก๊าซไว้ก่อน เนื่องจากหลายประเทศรุดหน้าไปด้วยการกำหนดตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว

ส่องความเคลื่อนไหวคาร์บอนเครดิตในต่างแดน


การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ ปรากฎเป็นรูปธรรมในสหภาพยุโรปภายใต้ EU Emissions Trading System (EU-ETS)  ส่วนออสเตรเลีย ดำเนินการภายใต้ชื่อ Australian Carbon Pollution Reduction Scheme รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มี Regional Greenhouse GAS Initiative


ขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังเขตเศรษฐกิจเหล่านั้นได้ ในบางประเภทก็จะเริ่มถูกควบคุมด้วยเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย อาทิ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่จะบังคับใช้กับสินค้าที่จะส่งไปยังยุโรป โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป ทำให้ผู้ผลิตต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนนำเข้าเพื่อจำหน่ายในยุโรป  นำรองด้วยสินค้า 9 ประเภท ได้แก่ ปูน, อะลูมิเนียม, เหล็ก, พลังงาน, ปุ๋ย, เคมีอินทรีย์, พลาสติก, ไฮโดรเจน และโพลิเมอร์ ถือเป็นวัสดุพื้นฐานสำคัญในภาคการผลิตที่ไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยุโรปในระดับไม่น้อยเลยทีเดียว


จากความเคลื่อนไหวที่เริ่มคึกคักทั้งในและนอกบ้าน แม้ว่าหลักเกณฑ์บ้านเราจะยังไม่มีการร่างที่ขึงตึงบังคับให้ภาคธุรกิจต้องเข้าร่วม แต่การมองไปข้างหน้าหนึ่งก้าวเพื่อเตรียมตัวรับกระแสไว้ก่อน ย่อมทำให้ได้เปรียบ และอาจทำให้เรามีกำไรจากตลาดซื้อขายคาร์บอนแถมมาด้วยอีกทาง


ที่มา
https://www.bangkokbiznews.com/business/1004000
https://www.bangkokbiznews.com/news/915259
https://www.prachachat.net/columns/news-803531
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/56156
http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/
https://thestandard.co/podcast/the-sme-handbook-ss4-ep23/