ก่อนเกาะกระแส Plant Based Diet “อะไรบ้างที่ต้องรู้”

หากลองสำรวจซุปเปอร์มาเก็ตหรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน เราจะพบอาหารที่ติดฉลาก Plant  Based มากขึ้น ดูเหมือนว่ากระแส Plant Based Diet เริ่มเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในบ้านเรา แต่เชื่อว่าหลายๆ คนยังไม่รู้ว่า Plant Based Diet ที่แท้จริงคืออะไร ดีอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง


ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจคำว่า Diet กัน คำว่า Diet ในที่นี้ ตามความหมายสากลหมายถึง “อาหาร” หรือ “สูตรอาหาร” ไม่ได้ใช้ในความหมายของการลดน้ำหนัก ดังนั้น Plant Based Diet ก็จะหมายถึงการกินพืชเป็นหลัก โดยกินวัตถุดิบจากพืชให้ได้มากที่สุด เทียบง่ายๆ ว่าในหนึ่งมื้ออาหารของเราจะเป็นอาหารจากพืชถึง 95%


อ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็อาจจะเกิดความสงสัยว่า Plant Based Diet คือสิ่งเดียวกับการกินมังสวิรัติหรือไม่  คำตอบคือ Plant Based Diet ไม่ได้ห้ามการกินเนื้อสัตว์ แต่ก็จะ กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้  ด้วยความยืดหยุ่นนี้ทำให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไปมากขึ้น

plant-based-diet1

อาหารจากพืชที่เหมาะแก่การรับประทานก็ได้แก่ ผักหลากสี ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชมีหัว รวมทั้งธัญพืชที่ไม่ขัดสี คุณประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพที่ได้จากการรับประทานอาหารประเภทนี้มีหลายอย่าง ที่ชัดเจนคือ อาหารจากพืชไม่มีคอเลสเตอร์รอลเหมือนอาหารจากสัตว์ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมคอเลสเตอร์รอลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การรับประทานทาน Plant Based Diet ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ อีกมากมาย

แน่นอนว่า การทานอาหาร Plant Based มีผลค่อนข้างดีต่อการควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไฟเบอร์สูง ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อน ผู้ที่กินอาหารประเภทนี้อย่างต่อเนื่องจะมีค่าดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) โดยเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อสัตว์

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Plant Based Diet ได้รับความนิยม คงต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยีอาหารในปัจจุบันที่สรรค์สร้าง “เนื้อสัตว์จากพืช” (Meat Avatar)  ได้เสมือนจริงอย่างน่าทึ่ง ทั้งรูปลักษณ์ กลิ่น รส มีความคล้ายกับเนื้อสัตว์ชนิดนั้นๆ อย่างมาก ส่วนประกอบหลักที่ทำให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้มากขนาดนั้นคือ “ฮีม” (Heme)

ฮีมเป็นโมเลกุลที่พบได้ในเลือดของมนุษย์และสัตว์ และยังพบในถั่วเหลืองด้วยเช่นกัน ผู้ผลิตจึงนำฮีมจากถั่วเหลืองไปผลิตอาหารจากพืช เพื่อให้เกิดรสชาติ กลิ่น และสีเฉพาะตัวเหมือนเนื้อสัตว์ นอกจากผู้บริโภคจะได้รับโปรตีนจากพืชแล้ว ยังได้รับความพอใจในรสชาติ ซึ่งถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้บริโภคเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหาร Plant Based ให้ได้ผล เราต้องเข้าใจด้วยว่าวิธีการปรุงอาหารก็สำคัญ แม้วัตถุดิบที่เลือกจะมาจากธรรมชาติหรือผลิตจากพืช แต่ถ้าเรานำมาปรุงด้วยวิธีการผัด ทอด โดยใช้น้ำมันเยอะๆ ผ่านการปรุงรสจัดด้วยน้ำตาลและเครื่องปรุงรสต่างๆ อาหารนั้นก็คงไม่สามารถสร้างเสริมสุขภาพดีให้เราได้อย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับคนที่สนใจจะปรับเปลี่ยนมาทานอาหาร Plant Based นั้นเริ่มต้นได้ไม่ยาก เพราะสามารถเริ่มเปลี่ยนทีละน้อย  ไม่มีกฎตายตัวว่าจะต้องเปลี่ยนมารับประทานทุกมื้อ ทุกวัน ในทันที เราอาจจะเลือกเป็น Flexitarian ซึ่งหมายถึงผู้ที่ทานอาหารจากพืชเป็นหลัก แต่มีความยืดหยุ่นโดยรับประทานเนื้อสัตว์ด้วยบ้าง แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการทาน Plant Based แต่ละมื้อ เราอาจจะค่อยๆ ลดเนื้อสัตว์หรือลดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง หรือเปลี่ยนมาทานสัตว์น้ำขนาดเล็กจำพวกปลาแทน การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนช่วยให้ระบบย่อยอาหารค่อยๆ ปรับตัวกับอาหารหลักแบบใหม่ที่เข้าสู่ร่างกาย และจะช่วยให้เราหาความพอดีที่จะรับประทาน Plant Based Diet ต่อไปได้ในระยะยาวด้วย

แต่หากจะเปลี่ยนมาทาน Plant Based แบบ 100% เราต้องไม่ลืมว่า พืชก็ไม่อาจให้สารอาหารบางอย่างได้มากเท่าเนื้อสัตว์ เช่น วิตามิน B-12 โอเมกา-3 ธาตุเหล็ก และโปรตีน ดังนั้นเราควรศึกษาว่าเราจะหาสารอาหารทดแทนจากการรับประทานพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชใดได้บ้าง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอในแต่ละวัน

แม้ว่าการวิจัยถึงคุณประโยชน์ของ Plant Based จะมีขึ้นอย่างจริงจังในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงอาหาร Plant Based อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามานานแล้ว ในวันนี้ รูปแบบวัตถุดิบถูกพัฒนาให้เสมือนจริงมากขึ้นและมีส่วนทำให้ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้นเช่นกัน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจอาหารประเภทนี้ ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณรับประทานอาหาร Plant Based เพราะอะไร คุณจะรับประทาน Plant Based 100% หรือยังทานเนื้อสัตว์บ้าง แต่ละมื้อที่คุณทานยังขาดสารอาหารอะไรหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะทำให้คุณได้ทานอาหารที่อร่อย มีสารอาหารครบถ้วน และได้ประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย