ส่องแนวคิดเดินทางยุคใหม่ เปิดพรมแดนกันได้ ต้องมีอะไรบ้าง

ขณะที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ยังคงผลุบโผล่มาสร้างความกังวลใจให้ประชาคมโลกไม่หยุดหย่อน ผลกระทบแบบเต็มๆ จึงหนีไม่พ้นเหวี่ยงมาซัด “โลกแห่งการเดินทางข้ามพรม" เพราะเป็นใครก็ไม่อยากเสี่ยงเปิดรับคนจากภายนอกที่อาจพาไวรัสเข้ามาเคาะประตูบ้าน


ทว่าเมื่อขาดไร้การเดินทางแลกเปลี่ยน จึงส่งกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่แน่นอน ดูเหมือนว่าเครื่องมือที่กลายเป็นความหวังของหลายประเทศคือ การเปิดประเทศแบบจำกัดให้กับเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือการเจรจาข้อตกลงเปิดประเทศ หรือ Travel Bubble กับมิตรประเทศที่มีการควบคุมป้องกันที่ต่างไว้ใจกันได้ และอาจเป็นเสมือเกราะป้องกันให้การเดินทางไปมาหาสู่เกิดขึ้นได้ ท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องการควบคุมโรคที่จะต้องอยู่กับผู้คนไปอีกนาน


1. เดินทางอิสระ ปลดล็อก “การกักตัว”


แม้ว่าหลายคนไร้ความกังวลเรื่องกำลังทรัพย์เมื่อต้องเที่ยวต่างประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เวลา” ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ ตราบใดที่ยังมีกฎเหล็ก “กักตัว 14 วัน” เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง และยังต้องเล่นซ้ำการกักตัวที่บ้านอีก 14 วันเมื่อทริปเสร็จสิ้น เบ็ดเสร็จเฉียดหนึ่งเดือนเต็ม เงื่อนไขอันดับแรกสำหรับการใช้ Travel Bubble คือ “ปลดล็อกการกักตัว” เปิดกว้างให้ประชากรสองประเทศเดินทางเข้าออกโดยมีกำแพงน้อยที่สุด แต่ว่าจะอนุญาตให้เข้าออกแบบไม่ต้องกักตัวเลย หรือลดจำนวนกักตัวให้น้อยลงนั้น ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ แม้จะอนุโลมผ่อนผันเรื่องการกักตัวแล้ว แต่เครื่องมือสำคัญอย่าง ผลตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นลบที่ยืนยันว่าเราปลอดโรคก่อนเดินทาง จะยังเป็นสิ่งที่นักเดินทางในโลก Travel Bubble ขาดไม่ได้


2. จับคู่เพื่อน “เสี่ยงต่ำ” ไว้ปลอดภัยกว่า


ใช่ว่าทุกประเทศที่ต้องการเปิดพรมแดนแล้ว จะจิ้มเลือกบนแผนที่ได้ในทันใด แต่การตกลงจะนำสู่รูปธรรมได้ก็ต้องเมื่อทั้งสองฝ่ายนั้น มีอัตราการติดเชื้อในระดับต่ำมาก อัตราการฉีดวัคซีนของคนในประเทศสูงพอในระดับที่เชื่อว่าจะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้ และต้องมีระบบด้านสาธารณสุข และมาตรการควบคุมโรคที่ต่างไว้วางใจกันได้ ถือเป็นพื้นฐานอันดับแรกที่สร้างความมั่นใจว่า นักเดินทางต่างชาติจะไม่พกพาเอาไวรัสข้ามแดนมา หรือไม่ไปติดเชื้อไวรัสจากต่างแดนกลับบ้านมาเป็นของฝาก แต่หากโชคร้ายติดไวรัสขึ้นมา ก็จะได้รับการดูแลในต่างแดนที่ดีพอ

travel-bubble-concept-02

3. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ตัวเปลี่ยนเกมปลดข้อจำกัด


แทบจะทุกประเทศแล้วที่หันมาใช้มาตรการเข้มงวดให้คนต้องเข้ารับวัคซีนแบบไม่มีข้อยกเว้น และยังเพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่กำหนดให้นักท่องเที่ยวในประเทศหรือนักเดินทางที่มาจากต่างประเทศ ต้องแสดงหลักฐานใบรับรองว่าได้รับวัคซีนครบโดส (Vaccine Certificate) และเป็นประเภทที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  แม้ว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ด้วยอาการหรือความเสี่ยงต่อชีวิตที่ลดระดับลงอย่างมาก ในการเจรจาเปิดประเทศหรืออนุญาตให้นักเดินทางจากประเทศใดข้ามพรมแดนมาได้ วัคซีนจะถือเป็นใบเบิกทางที่ช่วยเปลี่ยนเกม ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นไปได้มากขึ้น


4. เที่ยวบินในฟองอากาศ


ในช่วงปี 2563-2564 มีหลายประเทศที่พยายามจับคู่ เพื่อแลกเปลี่ยนการเดินทางทางอากาศ เช่น สิงคโปร์-ฮ่องกง และ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนที่จำเป็น ได้เดินทางติดต่อธุรกิจหรือพบปะญาติมิตร และยังเป็นการช่วยเยียวยาสายการบินทั้งสองฝ่ายที่บอบช้ำจากการหยุดบินเป็นเวลานาน การเปิดเส้นทางการบินพิเศษ (Bubble Flights) จะมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยระหว่างเดินทางตามที่ตกลงไว้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยทำให้การเดินทางในยุคโควิดเกิดขึ้นได้จริง เพราะหลายกรณีนั้น แม้ว่าต่างฝ่ายต่างเปิดเสรีให้เดินทาง แต่หากว่าไม่มีเครื่องบินหรือใบอนุญาตให้ทำการบินได้ ก็เหมือนถูกตัดขาดเส้นทางการจราจรของทั้งสองฝั่งไปโดยปริยาย

5. เปิดระบบตามรอยเท้านักเดินทาง


อีกสิ่งสำคัญที่นักท่องเที่ยวในยุค Travel Bubbles ต้องเตรียมพร้อมคือ การใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจคนเข้าเมือง เพราะมีแนวโน้มว่าการเปิดประเทศรอบใหม่ในอนาคต นานาประเทศจะหันมาใช้ระบบอิเลคทรอนิคส์ในการจัดเก็บเอกสารที่จำเป็น อาทิ หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน ผลการตรวจสุขภาพ การยืนยันตัวตนแบบไบโอเมทริกซ์ที่ลดการสัมผัสอันเสี่ยงต่อการติดต่อของโรค และการต้องยินยอมให้แอปพลิเคชันติดตามเส้นทางของเรา เพื่อประโยชน์ในการให้คำเตือน หากพื้นที่ๆ เราเคยไปเยือนเกิดการระบาดขึ้นมา หรือแม้กระทั่งตัวนักท่องคนไหนติดไวรัสขึ้นมา จะได้ส่งคำเตือนไปยังคงที่เคยร่วมเส้นทางอย่างไม่รู้ตัว


6. ความธรรมดาที่ไม่หวนคืน


หากนักท่องเที่ยวที่เดินทางภายใต้หลักการ Travel Bubbles ใฝ่ฝันหาการเดินทางที่ราบรื่น ไร้ความยุ่งยากเหมือนช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 อาจยังเป็นไม่ได้ ตราบใดที่สายพันธุ์ใหม่ยังคงอาละวาด และการติดเชื้อใหม่ยังผลัดกันเพิ่มขึ้นในทุกมุมโลก ความเสี่ยงต่อโรคจึงย่อมมีอยู่ ดังนั้น เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ หลักการดูแลและป้องกันตัวเอง เช่น การสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคม จึงยังเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้ผู้มาเยือนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเสมอ


ข้อกำหนดในการเปิดพรมแดน หรือข้อตกลง Travel Bubbles ส่วนใหญ่ยังจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ตายตัว แต่ต้องพร้อมปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์เสมอ หากมีการระบาดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง รัฐบาลอาจออกคำสั่งประกาศระงับทุกการเดินทางได้ทันที การเป็นนักเดินทางในยุคใหม่ จึงต้องเตรียมใจกับขั้นตอนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เสมอ และพึงติดต่อบริการสายการบินและโรงแรมที่คุ้มครองการเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดายค่าใช้จ่ายทีหลัง


ที่มา
https://www.washingtonpost.com/travel/2020/11/17/australia-singapore-bubble-covid/
https://www.cathaypacific.com/cx/en_HK/travel-bubble/hong-kong-singapore/how-the-hong-kong-singapore-travel-bubble-works.html
https://www.iata.org/contentassets/5c8786230ff34e2da406c72a52030e95/restarting-international-aviation-through-travel-bubbles.pdf