ชีวิตสโลว์ไลฟ์ พักใจที่หลวงพระบาง

ว่ากันว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับติดต่อกันให้นานถึงแปดชั่วโมง  แต่ถ้าอยาก “พักใจ”  ต้องทำอย่างไร  สำหรับเราแล้วแค่ได้ไปเที่ยวในที่แปลกใหม่ก็เป็นการพักใจอย่างหนึ่ง  ว่าแล้วอยากจะชวนไปพักใจใกล้ๆ ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์กันที่หลวงพระบาง


ข้อดีของการไปเที่ยวบ้านใกล้เรือนเคียงก็คือ นั่งเครื่องบินไม่นาน แค่ 1 ชั่วโมง  30 นาทีก็ถึงหลวงพระบางแล้ว  สนามบินของที่นี่ขนาดกระทัดรัดรับรองว่าไม่มีเดินหลง  เข้ามาในตัวอาคารก็เจอเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองกันเลย  เห็นนักท่องเที่ยวต่อแถวยาวเป็นหางว่าวไม่เสียชื่อเมืองท่องเที่ยวสุดฮิตของประเทศลาว


หลังจากผ่าน  ต.ม.  ก่อนเข้าเมืองก็มาแลกเงินกันหน่อยที่สนามบินมีเคาน์เตอร์แลกเงิน  2  แห่ง   เพื่อนที่เคยมาเที่ยวแนะนำว่าให้แลกในเมืองจะได้เรทที่ดีกว่าเลยแลกเพียงเล็กน้อย  ข้างที่แลกเงินจะเป็นเคาน์เตอร์รถตู้พาไปส่งตามที่พักในเมือง  คิดราคา  3  คนต่อ  50,000 กีบ  และนับจากนี้ไปเราจะใช้เงินกันวันละเป็นหมื่นเป็นแสนเลยทีเดียว   แหมความรู้สึกของคนรวยมันเป็นอย่างนี้นี่เอง 

luang-prabang1

ย่างเนิบๆ เที่ยวหลวงพระบาง

ก่อนไปลุยเที่ยวมารู้จักกันหน่อยดีมั้ย   เมืองนี้เป็นเมืองเอกของแขวงหลวงพระบาง  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลาว เป็นเมืองเล็กที่มีแม่น้ำสองสายโอบเมืองไว้ได้แก่  แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานทำให้ทัศนียภาพของเมืองสวยงาม มีเสน่ห์  โดยเฉพาะจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน   ภายในตัวเมืองมีอาคารบ้านเรือนแบบโบราณที่มีสภาพสมบูรณ์  วัดวาอารามเก่าแก่  แถมยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม  ธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ผู้คนเป็นมิตร จนทำให้องค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็น  ”เมืองมรดกโลก”  ของมวลมนุษยชาติ  เมื่อปี  พ.ศ.2538   และยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองที่ดูแล  ปกป้อง  และรักษาสภาพบ้านเมืองแบบเดิมได้ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ย้อนเวลาหาอดีต

พอเข้ามาในเมืองเห็นอาคารบ้านเรือนสองฝั่งถนนเหมือนเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปหาวันวาน  เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมที่ในตอนนั้นฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครอง  ทำให้อาคารจึงมีการผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัว  อาคารแบบนี้เรียกว่า โคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) มีลักษณะเด่น  คือ ระเบียงกว้าง  มีเสาคล้ายเสาโรมันรองรับที่ชายคา   ตัวบ้านจะใช้โทนสีอ่อนหรือสีพาสเทล  ตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นรอบชายคา ถ้ายังนึกไม่ออกว่าอาคารแบบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร  ลองนึกภาพอาคารแถวถนนราชดำเนินหรือธนาคารไทยพาณิชย์  สาขาตลาดน้อยก็ได้   

ที่พักเก๋ในเมืองเก่า

นอกจากอาคารแบบโคโลเนียลสไตล์แล้ว  บ้านเรือนแบบดั้งเดิมก็มีให้เห็นมากมายเป็นบ้านไม้  สองชั้น   หลังคาจั่วทรงสูง ชายคายาวหน้าต่างรอบบ้าน  ลักษณะคล้ายบ้านไทยตามต่างจังหวัด บ้านแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่จะถูกดัดแปลงให้เป็นโรงแรมหรือเกสเฮ้าส์ที่เก๋ไก๋คลาสสิกมากๆ   ส่วนโรงแรมที่พักแบบสมัยใหม่ไม่มีเลยเพราะยูเนสโกมีข้อห้ามมากมาย  เช่น   ห้ามรื้อของเก่า  ถ้าจะรีโนเวทใหม่ต้องขออนุญาต  รูปแบบจะต้องอนุรักษ์หรือทำให้เหมือนของเดิม  ห้ามสร้างบ้านสูงเกินสองชั้น  ที่สำคัญราคาไม่แพงมีให้เลือกหลายระดับ  ตั้งแต่ราคาหลักร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่น สำหรับใครที่กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นบรรยากาศได้ฟีลขนหัวลุกมาก ขอให้เตรียมบทสวดมนต์ไปด้วยช่วยสงบจิตใจได้เยอะ  

ชีวิตต่อนยอน  บังอรท่องตลาด

ถ้าอยากเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นก็ควรไปเที่ยวตลาด   ที่นี่มีตลาดนัด 2 ช่วงคือ  ตอนเช้าเรียก “ตลาดเช้า”  อยู่ตรงตรอกข้างวัดใหม่สุวรรณภูมาราม  และตอนเย็นเรียก “ตลาดมืด”  ขายอยู่ถนนหน้าพระราชวังหลวงพระบาง  สำหรับเราชอบตลาดเช้ามากกว่าเพราะได้เห็นชีวิตเรียล ๆ ของคนที่นี่  ส่วนใหญ่จะขายพวกของสด  ของแห้ง   ผักผลไม้   ของป่า  เวลาขายจะแบกะดิน  เอาผ้าหรือพลาสติกปูที่พื้นแล้วเอาของวางขายเป็นกอง ที่น่าตื่นเต้นเห็นจะเป็นพวกปลาตัวโตที่จับได้จากแม่น้ำโขงตัวใหญ่เท่าขาของเราเลย  


นอกจากนี้ในตลาดยังมีร้านขายอาหารเช้า เช่น  บาแก็ต ขนมปังฝรั่งเศสใส่ไส้คล้ายแซนวิส , ข้าวเปียก   เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นแบนหน้าตาคล้ายก๋วยจั๊บญวน  , แหนมข้าว  คล้ายข้าวเกรียบปากหม้อแต่ขนาดใหญ่กว่า  แม่ค้าจะทำแบบสด ๆ เห็นแล้วน่ากินชะมัดเลยนั่งเรียงหน้ากระดานล้อมแม่ค้าไว้  แม่ค้าจะเอาแป้งละเลงลงบนผ้าขาวบางที่ขึงไว้บนหม้อต้มน้ำเดือด ๆ   พอแป้งสุกก็จะใช้ไม้ไผ่ม้วนแป้งออกมา   จากนั้นก็ใส่ไส้หมูสับแล้วม้วนเป็นโรล   โรยหน้าด้วยหอมเจียว   กินกับน้ำจิ้มรสเค็มหวาน บีบน้ำมะนาว  พริกป่น แล้วโรยด้วยถั่วลิสงคั่วเข้ากั๊นเข้ากัน  ส่วนตลาดมืดจะคล้ายถนนคนเดิน  ขายพวกของที่ระลึก  เช่น  เสื้อยืด  กางเกงผ้าฝ้าย   ผ้าคลุมไหล่   งานแฮนด์เมด  โคมไฟกระดาษสา  แล้วก็มีอาหารพื้นเมือง  น้ำผลไม้ปั่น   ที่นี่สามารถจ่ายด้วยเงินบาทได้เลยแต่แม่ค้าจะทอนเป็นเงินกีบ  คำนวณดูแล้วไม่คุ้มเท่าไหร่  ควรจ่ายด้วยเงินกีบจะถูกกว่า

ตักบาตรข้าวเหนียว  เกี่ยวใจกันไว้

กิจกรรมยามเช้าที่นักท่องเที่ยวมักจะมาลองสัมผัสชีวิตแบบชาวหลวงพระบางนั่นก็คือการตักบาตรข้าวเหนียว  ควรแต่งกายสุภาพห้ามใส่แขนกุดขาสั้น และควรมีผ้าพาดไหล่เพื่อความสุภาพเรียบร้อย  การตักบาตรจะจัดระเบียบด้วยการปูเสื่อแบ่งเขตระหว่างชาวบ้านกับนักท่องเที่ยว สำหรับคนไทยการตักบาตรเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นอยู่แล้วไม่ต้องฝึกฝนอะไร  แต่ตักบาตรข้าวเหนียวไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะข้าวแข็งมาก  กว่าจะจกปั้นเป็นก้อนได้ต้องใช้สกีลระดับเทพ  เห็นคุณยายนั่งข้างๆ จก-ปั้น-ใส่  ใช้เวลาไม่ถึงเสี้ยววินาทีเพราะถ้าใส่ช้าจะทำให้พระท่านเดินเสียขบวน   ทำให้เรากดดันมากพอใส่หลายองค์เข้าก็เลยจกอย่างเดียวไม่ปั้นเป็นก้อนแล้วเหนื่อยจริงๆ ในที่สุดการตักบาตรที่ไวกว่าแสงก็เสร็จภายในเวลาแค่ 10 นาที     

ลัดเลาะรอบวัด & วัง

ในหลวงพระบางมีวัดมากกว่า 30 แห่งที่เป็นวัดสำคัญ  วัดของที่นี่จะอยู่ร่วมกับชุมชน  คล้ายกับอยุธยาที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จะเจอแต่วัด ถนนบางเส้นมีวัดที่รั้วติดกันถึง   4 แห่ง   ไม่แน่ใจว่าญาติโยมจะเลือกทำบุญกันยังไง   สำหรับวัดที่ทุกคนต้องไป ถ้าไม่ไปถือว่ามาไม่ถึงหลวงพระบางคือ   วัดเชียงทอง  เป็นวัดที่งามที่สุดแห่งหนึ่งของลาวได้รับการยกย่องว่าเหมือนอัญมณีของสถาปัตยกรรมลาว  มีศิลปะล้านช้างที่สมบูรณ์แบบ   

วัดใหม่สุวรรณภูมาราม  วัดนี้มีความพิเศษอยู่ที่ผนังของพระวิหาร จะเป็นการแกะลวดลายนูนสูงปิดด้วยแผ่นทอง เล่าเรื่องรามายณะ และพระเวสสันดรชาดก  เสาด้านหน้าพระวิหารมีลวดลายศิลปะลาวลงรักปิดทองที่งดงามและไม่ควรพลาดเช่นกัน  

 ไปเที่ยววัดแล้วก็แวะไปวังกันบ้าง  ที่พระราชวังหลวงพระบาง  ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในอดีตเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต  ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้เปลี่ยนพระราชวังหลวงมาเป็น  “หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”  ในปี พ.ศ. 2519  ที่นี่ยังคงเก็บรักษาสมบัติของชาติไว้อย่างดี  มีทั้งโบราณวัตถุและของมีค่า  เช่น  บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและเครื่องราชูปโภค  พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ  เป็นต้น  พิพิธภัณฑ์มีห้องเด่น ๆ มากมาย  เช่น  ห้องรับแขกของเจ้ามหาชีวิต  ห้องนี้จะมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวลาว  ทิวทัศน์และงานประเพณี,  ห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิตและพระมเหสี,  ห้องทรงงาน   ห้องนี้มีเรื่องตื่นเต้น  คือ เราเหลือบไปเห็นพระไตรปิฎกที่ในหลวงรัชกาลที่  9 ทรงมอบให้เจ้ามหาชีวิต  เห็นแล้วดีใจกันใหญ่เหมือนได้เจอของขวัญสุดวิเศษตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก  ส่วนห้องที่เราชอบมากที่สุด คือ  ห้องท้องพระโรง  ห้องนี้ตกแต่งสวยงามวิจิตรตระการตาสีทองอร่ามประดับด้วยกระจกโมเสกสีแดงดูอลังมาก   น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด  และไม่อนุญาตให้พกมือถือหรือกระเป๋าใบใหญ่เข้าไปต้องฝากไว้ที่ล็อคเกอร์ทำให้ไม่มีรูปมาอวดใคร   หลังจากดูพิพิธภัณฑ์เสร็จอย่าลืมแวะไปนมัสการ  “พระบาง”  พระคู่บ้านคู่เมืองที่อยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์

ชีวิตไม่สโลว์ไลฟ์  พาหัวใจไปลุยกัน

หลวงพระบางใช่จะมีแต่ชีวิตสโลว์ไลฟ์  แนวแอดเวนเจอร์ก็มีให้แก้เมื่อย ถ้าอยากขึ้นเขาชมวิวแบบ  360  องศา  ต้องเตรียมกำลังขาให้พร้อมขึ้นบันได  328 ขั้นที่ “พระธาตุพูสี”    นอกจากทัศนียภาพงดงามแล้ว  ยังได้ไหว้พระธาตุสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวหลวงพระบางที่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมืองนี้  หากแหงนหน้าขึ้นฟ้าคุณจะพบพระธาตุนี้เป็นสิ่งแรก  แนะนำว่าให้เดินขึ้นตอนเย็นประมาณ 5  โมงกำลังดีเพราะอากาศไม่ร้อน  แถมยังได้ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม ข้อเสีย  คือ  นักท่องเที่ยวเยอะมากจนแทบจะหามุมถ่ายรูปไม่ได้   

กิจกรรมแก้เมื่อยอีกอย่างต้องไปเล่นน้ำที่  “น้ำตกตาดกวางสี”  เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดของหลวงพระบาง  น้ำตกหินปูน สูงประมาณ  70 เมตร  สีของน้ำเป็นสีฟ้ากระจ่างใสไหลเย็นเห็นตัวปลา (จริงๆ ไม่ได้โม้)  ท่ามกลางป่าร่มรื่น  มีจุดให้นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำได้   เห็นน้ำใสๆ อย่างนี้อดใจไม่ไหวเลยต้องลงไปเล่นกันหน่อยน้ำตกมีกี่ชั้นลงเล่นทุกชั้น  แนะนำว่าควรเล่นชั้นบนน้ำจะสะอาดและควรมาแต่เช้าช่วงสายคนจะเยอะมากทำให้เล่นน้ำไม่สนุก

ชิม-แชะ-ชิล  วิถีสโลว์ไลฟ์

ที่นี่มีร้านคาเฟ่ให้นั่งชิลอยู่มากมาย   ขอแนะนำร้านที่ลองมาแล้วและทุกคนคอนเฟิร์มว่าอร่อย  ร้านแรกสำหรับคอกาแฟชื่อว่า  Saffron Coffee อาจไม่ดังเท่าร้านโจมา แต่ขอยืนยันว่าร้านนี้เด็ดกว่า กาแฟของที่นี่ใช้กาแฟลาวเกรดพรีเมี่ยมรสชาติเข้มข้นหอมกรุ่น   สำหรับคนรักเบเกอร์รี่ต้องไปร้าน  Zurich Bread ชีสเค้กของที่นี่เนื้อนุ่มละมุนลิ้น  หอมกลิ่นเนยสดแท้   กินชิ้นเดียวคงไม่พอ  นอกจากนี้หากอยากกินอาหารพื้นเมืองขอให้ไปลองที่ ร้าน  Joy’s Restaurant ร้านอาหารแบบโฮมเมดที่ซ่อนตัวอยู่บนถนนสายไปแม่น้ำโขง  รสชาติถูกปากคนไทย เมนูเด็ดห้ามพลาดปลาทอดกระเทียม  ลาบทอด  ลาบหมู   อ่อมไก่  ให้ปริมาณเยอะราคาไม่แพงอย่างที่คิด  หรือถ้าอยากกินชาบูสไตล์หลวงพระบาง แนะไปที่ร้านเย็นสบาย ที่นี่ใช้เตาถ่าน น้ำจิ้มรสจี๊ดจ๊าด อร่อยเด็ดถูกใจ   นอกจากนี้ยังมีร้านพิชซ่าเตาถ่านแป้งบางกรุบกรอบที่ไม่ควรพลาดอย่างร้าน  Chang Kham  มีเมนูพิชซ่าหน้าฟิวชั่นให้เลือกมากมาย  ซุปเห็ดทรัฟเฟิล  สปาเก็ตตี้เส้นดำ  ที่ลองแล้วจะติดใจ   

ดูแลผู้มาเยือนดุจญาติมิตร

มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจมากคือ ชาวลาวมีความเป็นมิตร  ตั้งแต่ Reception โรงแรม พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด  พนักงานร้านอาหาร  พอรู้ว่าเป็นคนไทยก็จะพูดคุยเป็นกันเอง  ส่วนหนึ่งอาจเพราะภาษาที่สื่อสารกันได้  และที่ลืมไม่ได้สำหรับเรามีอยู่วันหนี่งปวดท้องมาก  พยายามหาร้านเพื่อขอเข้าห้องน้ำแต่ก็ไม่มี  ทันใดนั้นเกิดปวดท้องหนักมากจนหน้ามืดเป็นลมกลางถนน  เพื่อนเลยพยุงไปในร้านขายของชำ เจ้าของร้านใจดีหาน้ำหายาดมมาให้  แล้วยังอาสาพาไปส่งที่โรงแรมอีกด้วยรู้สึกซาบซึ้งใจในความใจดีของพวกเขาเป็นอย่างมาก ยังคิดอยู่เลยว่าดีที่ทำประกันเดินทางไว้หากเกิดเหตุต้องเข้าโรงพยาบาลจะได้ไม่ลำบาก  โชคดีที่ครั้งนี้ไม่เป็นอะไรมาก  ฉะนั้นไม่ว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศใกล้หรือไกลทำประกันเดินทางไว้อุ่นใจเสมอ   


การมีเวลาไป  “พักใจ”  ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่หลวงพระบาง นอกจากจะช่วยรีเฟรชความเหนื่อยล้า  ยังทำให้เราได้ฟังเสียงของหัวใจให้กระจ่างใสและชัดเจน  เพื่อกลับมามีพลังสู่เมืองใหญ่ที่สับสนวุ่นวายกันต่อไป