ดูสังคมเกาหลีผ่านละคร ย้อนมองจุดร่วมสังคมไทย

หากพูดถึงความบันเทิงยอดฮิตของคนไทย กิจกรรมมาแรงอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นการนั่งดูซีรีส์เกาหลีแบบมาราธอน เมื่อถูกความสนุกดึงดูดให้อยากติดตามแบบไม่เช้าไม่เลิก หลายเรื่องราวทำให้เราประทับใจ หัวเราะ มีความสุข บางครั้งก็รู้สึกใกล้ชิด ราวกับเรากระโดดข้ามกำแพงภาษาและเข้าไปผูกพันกับตัวละครได้ไม่ยาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยซึมซับละครจากประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างสนิทใจ เป็นเพราะวัฒนธรรมบางอย่างที่คล้ายคลึงกับไทย หากเทียบเคียงดูชัดๆ เชื่อว่าครั้งหน้าคุณอาจมองเห็นมนตราที่แอบมัดใจเราได้อยู่มือ


-
ครอบครัวแน่นแฟ้น


ฉากสำคัญของละครเกาหลีคือ “บ้าน” ที่มีครอบครัวพ่อแม่พี่น้อง หรือกระทั่งเป็นครอบครัวขยายที่มีปู่ย่าตายายพร้อมหน้า แม้ว่าจะทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง โดยเฉพาะพ่อแม่เกาหลีที่เป็นสายดุ จอมโหด เสียงดังไม่แพ้พ่อแม่บ้านไทย แต่พื้นฐานของสมาชิกในครอบครัวมีความแนบแน่น รักและใส่ใจกัน แต่ก็แอบจะแฝงความคาดหวังในตัวลูกอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการศึกษา การประกอบอาชีพที่ดี และการหาคู่ครองที่เหมาะสม ขณะที่ฝ่ายลูกนั้น แม้ว่าจะดื้อหรือออกนอกลู่ทาง ออกไปใช้ชีวิตระหกระเหินโดยลำพัง หรือบาดหมางกับครอบครัวไปบ้าง แต่สุดท้ายมักลงเอยด้วยการกลับมาสู่อ้อมอกครอบครัว และให้คุณค่ากับความกตัญญูเสมอ

korean-society-in-series-vs-thai-society-01

- เพื่อนบ้านเกื้อกูล


การร้อยเรื่องราวโดยสร้างตัวละครเพื่อนบ้านให้มีบทบาท เป็นสังคมที่เป็นมิตรช่วยเหลือกันแก้ไขอุปสรรคต่างๆ นั้น มีให้พบในหลายเรื่องราว อาทิ Reply 1988 ที่คนรุ่นพ่อแม่เป็นมิตรสหายใกล้ชิดไม่พอ ความผูกพันยังตามมาถึงรุ่นลูกที่คบหากันเป็นเพื่อนรัก ต่างช่วยรับฟังและยื่นมือเข้าแก้ไขปัญหา หรือกระทั่งละครแอคชั่นมาเฟียอย่าง Vincenzo ก็ยังหนีไม่พ้นมีเรื่องของเหล่าผู้เช่าร่วมตึกที่ผนึกรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการขับไล่ของนายทุน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน เป็นวัฒนธรรมที่ยังเห็นได้ในไทย เมื่อครัวเรือนต่างๆ ไม่ได้อยู่แยกอย่างโดดเดี่ยวเหมือนประเทศตะวันตก


-
การสอบแข่งขันดุเดือด ให้ค่ากับปริญญาบัตร


สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับไทยและหลายประเทศในเอเชีย คือครอบครัวเกาหลีมักกระตุ้นและสนับสนุนให้เด็กๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ เพื่อกรุยทางสู่อาชีพที่ดีในอนาคต อย่างที่ปรากฎในเรื่อง Sky Castle ที่เป็นภาพตัวแทนของผู้ปกครองที่หวังให้ลูกๆ ได้ดีในสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยชื่อ SKY ในเกาหลีใต้นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าย่อมาจากชื่อของ 3 มหาวิทยาลัยดัง ได้แก่ Seoul National University, Korea University และ Yonsei University


ส่วนเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีวุฒิปริญญานั้น มักจะพบหนทางการทำงานที่มีอุปสรรคเสมอ ไม่ว่าจะมีความสามารถส่วนตัวขนาดไหน เช่น ซอดัลมี ตัวเอกหญิงจากเรื่อง Start-Up ที่ถูกบริษัทมองข้ามแม้ว่าเธอจะเก่งในหน้าที่ นั่นเป็นเพราะเธอไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัย จนสุดท้ายต้องขวนขวายหาหนทางมาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จของตัวเอง


-
วัฒนธรรมอาหารอันแข็งแกร่ง


เรียกว่าไม่แพ้ชาติในโลกเลยสำหรับการอวดวัฒนธรรมการกินดื่มของชาวเกาหลี เพราะหลายครั้งเมื่อเราติดตามซีรีส์แล้วมาเจอฉากบนโต๊ะอาหาร ทำให้อดใจไม่ไหวรีบเปิแอปสั่งอาหารเกาหลีตามแทบไม่ทัน สำหรับวัฒนธรรมในครัวเรือน การทำกิมจิรับประทานเอง เป็นภาพที่เห็นทั่วไปในละคร ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวคนไทยที่มีการลงมือทำอาหารแล้วหิ้วปิ่นโตไปฝากลูกหลาน หรือสำหรับคนวัยหนุ่มสาว การได้รับประทานเนื้อย่าง ดื่มคู่กับโซจูยามสังสังรรค์ ดูเหมือนจะเป็นของคู่กันที่คนไทยเองก็นิยมตามๆ กันมา เพียงแต่เกาหลีใต้นั้น จะเด่นชัดกว่าเรื่องความนิยมสินค้าบริโภคในประเทศตัวเอง เช่น มีสุราพื้นบ้านอย่างมักกอลลีที่ได้รับการพัฒนาเป็นแบรนด์จำหน่ายอย่างแพร่หลาย

- เคารพผู้ใหญ่ ใช้คำเรียกให้เกียรติกัน


ระบบอาวุโสในสังคมเกาหลีค่อนข้างเข้มแข็ง และสะท้อนผ่านการแสดงของตัวละครอย่างชัดเจน เวลาเรียกคนที่วัยสูงกว่า จะใช้น้ำเสียงที่แสดงความสุภาพ ส่วนบุคคลทั่วไปนั้นมักจะลงท้ายอย่างสุภาพ อย่าง “ชิ” ต่อท้ายชื่อ คล้ายคลึงกับคำว่า “คุณ” หรือลงท้ายด้วย “นิม” ที่แสดงความยกย่องขึ้นมาอีกระดับ เอาไว้ต่อท้ายชื่อหรือตำแหน่งเพื่อแสดงความเคารพหรือให้เกียรติ ขณะที่การเรียกขานคนใกล้ชิด ก็จะมีคำที่บ่งบอกถึงความสนิทสนมและน่ารักเหมือนคนไทย เช่น เรียกพี่ชายว่า “ฮยอง” เรียกพี่สาวว่า “นูน่า” เหมือนกับคนไทยที่สามารถเรียกคนอื่นๆ ว่า พี่คะ น้องครับ ได้อย่างสนิทใจ


ที่มา
https://www.vogue.in/culture-and-living/content/korean-movies-shows-k-dramas-cultural-themes-and-tropes
https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Tea-Leaves/K-drama-reaches-across-Asian-cultures